xs
xsm
sm
md
lg

ปีเสือดุการเมืองเดือด ประชาชนต้องช่วยกันปลดชนวน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บัญญัติ บรรทัดฐาน
สัมภาษณ์พิเศษ


นายบัญญัติ บรรทัดฐาน กรรมการสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ วิเคราะห์สถานการณ์การเมืองปี 53 แนวโน้มรุนแรงตั้งแต่ต้นปี เพราะเงื่อนไขของความขัดแย้งยังอยู่ครบถ้วน และฝ่าย พ.ต.ท.ทักษิณ ได้เตรียมกำลังรบไว้แล้ว และจะมานั่งบัญชาการที่กัมพูชาด้วยตัวเอง อย่างไรก็ตาม ผู้ที่จะถอดชนวนความขัดแย้งนี้ได้ คือประชาชน จะต้องรู้เท่าทันและไม่เข้าร่วมในสงครามครั้งนี้


-ประเมินสถานการณ์บ้านเมืองในปี 2553 อย่างไร

ผมว่าเหนื่อย ประชาชนก็จะรู้สึกเหนื่อยด้วย ทุกสำนักวิเคราะห์กันแล้วมีความรู้สึกไม่ต่างกันเลยว่า รุนแรงแน่ ความจริงมีทีท่าว่าจะรุนแรงตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนด้วยซ้ำ และที่น่าตกใจคือ มีการพูดถึงสงครามครั้งสุดท้าย แต่บังเอิญที่เป็นบุญของประเทศ ซึ่งบางคนอาจจะบอกว่า พระสยามเทวธิราชมีจริง การก้าวเดินของ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่ก้าวเดินเข้าไปที่ประเทศกัมพูชา แล้วก็ดึงเอาสมเด็จฯ ฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา มาเล่นเกมนี้ด้วย เห็นได้ชัดว่าสังคมไทยรับไม่ได้ ทำให้เขาต้องหยุดทบทวนเหมือนกัน และเพราะพระบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ประชาชนเริ่มรับทราบว่า พระอาการประชวรของพระองค์ เริ่มดีขึ้นแล้ว ทำให้คนไทยเริ่มรู้สึกว่า ควรช่วยสร้างบรรยากาศที่จะทำให้ทรงสบายพระทัยกันเสียที ผมคิดว่า 2 ปัจจัยนี้มันทำให้ฝ่ายเขาต้องชะลอลง และคนพรรคไทยรักไทยเองก็บอกว่า เกมกัมพูชามีปัญหาเหมือนกัน และโพลที่สะท้อนออกมา ร้อยละ 90 กว่า บอกว่าพ.ต.ท.ทักษิณ น่าจะบอกให้คนเสื้อแดงหยุดชุมนุม หันมาช่วยกันแก้ไขปัญหาประเทศ แต่พอมาถึงตอนนี้ แม้เงื่อนไขเดิมยังมีอยู่อย่างครบถ้วน การแสดงออกของ พล.อ.พัลลภ ปิ่นมณี สมาชิกพรรคเพื่อไทย ก็ชัดเจนมาก พูดถึงกลุ่ม จปร.ร่วม 100 คน นักรบสีดำ หรือบรรดาทหารพรานร่วมพันคน จะเข้าร่วมขบวนการครั้งนี้ มันบ่งบอกให้เห็นว่า ไม่ใช่เรื่องของการพูดจาประเภทกลอนพาไป แต่ทำให้เห็นว่ามีการเตรียมการ อย่างน้อยคำพูดพวกนี้ก็ทำให้เห็นว่าสอดคล้องกับกลุ่ม จปร. ส่วนหนึ่งตบเท้าเข้าพรรคเพื่อไทย และกลุ่มนักรบสีดำ ที่มาร่วมชุมนุมกันเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม จำนวนหนึ่ง ตรงนี้ก็น่าจะเป็นเครื่องบ่งบอกให้เห็นว่า หลังปีใหม่ไปแล้ว ซึ่งบางคนก็อาจจะบอกว่าน่าจะเป็นวันที่ 10 มกราคม เพราะ พ.ต.ท.ทักษิณ เชื่อมั่นในเลข 10 อาจจะได้รับคำแนะนำจากหมอดูที่ไหนมาก็ไม่รู้ ปีนี้เริ่มต้นปี 2010 เริ่มต้นวันที่ 10 ซึ่ง 10 คูณ 10 เท่ากับ 100 ทำให้รู้สึกทีเดียวว่าน่ากังวล

- อ่านความคิดของ พ.ต.ท.ทักษิณ ในช่วงนี้อย่างไร

พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นคนที่ผิดไม่ได้ แพ้ไม่เป็น ผิดไม่เป็น แพ้ไม่ได้ เดิมพันของเขาสูง หลายคดีที่รอขึ้นศาลก็ขึ้นไม่ได้ เพราะจำเลยไม่อยู่ แต่ว่าคดียึดทรัพย์ 7.6 หมื่นล้านบาท ที่พิจารณาลับหลังจำเลยได้ ก็ใกล้เข้ามาอีก ทั้งหมดกลายเป็นตัวเร่ง ช้าไม่ได้แล้ว พื้นที่ต่างประเทศก็คับแคบลงเรื่อยๆ หลายประเทศก็เริ่มไม่สบายใจที่ไปใช้พื้นที่ประเทศเขาทำการเมือง ทำร้ายประเทศไทย สุดท้าย ดูไบเองก็เริ่มไม่ค่อยดี เรื่องนี้คงหมดปัญหาสำหรับ พ.ต.ท.ทักษิณ เพราะได้ยืนต็มตัวที่กัมพูชา ติดกับประเทศไทยเข้าไปอีก ยิ่งเสริมให้แรงเข้าไปอีก ไปมาหาสู่ก็สะดวกขึ้น ใช้เป็นศูนย์บัญชาการที่นั่นก็ได้ เห็นใครบอกว่า ขณะนี้ตั้งวอร์รูมกันแล้ว แต่ฝ่ายยุทธการของเขาก็สรุปได้ว่า ถ้าชุมนุมแล้วเลิกเหมือนเมื่อก่อนคงไม่ชนะ โอกาสที่เป็นไปได้คือ การชุมนุมต้องยืดเยื้อ มีดาวกระจาย และที่กังวลที่สุดคือ ฝ่ายความมั่นคงต้องระวัง อาจจะมีการก่อเหตุร้ายที่นั่น ที่นี่ แล้วอ้างว่าเป็นเรื่องของมือที่สาม ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นตัวบ่งบอกให้เห็นว่า การเมืองต้นปี 2553 คงไม่ใช่เรื่องสนุกแล้ว

- สถานการณ์การชุมนุมจะเป็นอย่างไร

ผมคิดว่า สิ่งที่กลุ่มผู้ชุมนุมจะต้องทำให้ได้ เพื่อให้การชุมนุมมีพลังคือ ต้องมีผู้มาร่วมชุมนุมจำนวนมาก เพราะถ้าน้อยการชุมนุมก็ทำอย่างต่อเนื่องไม่ได้ ดาวกระจายก็ทำไม่ได้ แต่ครั้งนี้ก็ประมาทไม่ได้เหมือนกัน เพราะดูเขาตั้งใจมาก แต่เชื่อว่าโอกาสที่จะระดมคนมามากมายขนาดนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ซึ่งตรงนี้ก็น่าจะเป็นภารกิจของฝ่ายบ้านเมืองเหมือนกันว่า ทำอย่างไรให้คนได้รับรู้ ได้เข้าใจว่า บ้านเมืองกำลังจะดีขึ้นแล้ว ช่วยกันหน่อย อย่าไปร่วมไม้ร่วมมือทำให้สถานการณ์ดูสับสน น่ากลัว เพราะจะกระทบการลงทุน การท่องเที่ยว จะกระทบการกอบกู้ภาวะเศรษฐกิจของบ้านเมือง ผมคิดว่าปัจจัยหลักวันนี้ ต้องเร่งทำความเข้าใจ ให้คนได้รู้

- หากมีคนน้อย แต่หันไปเน้นความรุนแรง เหมือนช่วงสงกรานต์เลือด

เจ้าหน้าที่รัฐน่าจะควบคุมได้ เพราะมันอยู่ในสายตาได้ง่ายกว่าคนหมู่มาก ทางฝ่ายความมั่นคงก็ทราบเรื่องเหล่านี้อยู่ นายกรัฐมนตรีก็คุยเรื่องนี้กันบ่อยเป็นพิเศษ เตรียมรับสถานการณ์ไว้แน่นอน แต่ปัญหาบ้านเมืองวันนี้ ก็ต้องเข้าใจเหมือนกันว่า ให้เป็นหน้าที่ของรัฐบาลอย่างเดียวคงไม่ได้ ประชาชนต้องช่วยกันสร้างความเข้าใจ ส่วนจะรับมือไหวหรือไม่ ก็ต้องรับ

-แนวทางสมานฉันท์ยังมีความหวังหรือไม่

ที่ผ่านมาทุกคนรู้สึกเลยว่าจบ ตอนที่นายนพดล ปัทมะ ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย พ.ต.ท.ทักษิณ ออกมาบอกว่า ต้องทำสถานการณ์ให้กลับไปอยู่ในสถานะเดิมก่อนวันที่ 19 กันยา ต้องเอารัฐธรรมนูญปี 40 กลับมาใช้ เพราะไม่มีมาตรา 309 ทำให้คดี คตส.ล้ม ต้องมีการยุบสภาและเลือกตั้งใหม่ ผมคิดว่าเท่านี้ก็ชัดเจนว่ายาก

- หากจะสมานฉันท์ได้ ต้องมีองค์ประกอบอะไรบ้าง

การสมานฉันท์จะเกิดขึ้นได้ อย่างน้อยที่สุดต้องมีองค์ประกอบ 2 ส่วน คือ 1.ทุกฝ่ายต้องมีความสุจริตใจ ที่ต้องการจะเห็นความสงบเรียบร้อยเกิดขึ้นในบ้านเมืองอย่างแท้จริง อะไรที่พอลดละกันได้ก็ลดละกันไป ไม่ใช่ขณะที่ฝ่ายหนึ่งคิดถึงความสงบเรียบร้อย อีกฝ่ายคิดถึงการดำรงสถานภาพอย่างเดิมของตัวเองไว้ให้ได้ ผลประโยชน์ไม่ยอมให้ขาดหายไปเลย สถานะต้องดำรงคงอยู่

2.คือต้องไม่ทำลายหลักนิติธรรม นิติรัฐ และกระบวนการยุติธรรมของประเทศ เพราะถ้าอยู่ๆ ก็เลิกรากันไปเลย มันก็มีปัญหาว่า สอดคล้องกับหลักนิติรัฐ นิติธรรมหรือไม่ คนทำความผิดแล้วเลิกกันง่ายๆหรือ เรื่องสำคัญหลายเรื่องอยู่ในกระบวนการยุติธรรมชั้นศาลแล้ว ทำไมไม่เดินหน้าตรงนั้นก่อน แล้วมาดูกันว่าจะดำเนินการกันอย่างไร ความจริง คตส.ไม่ใช่เรื่องใหญ่โตอะไร เขามีหน้าที่เป็นแค่พนักงานสอบสวน รวบรวมคดี รวบรวมพยานหลักฐานส่งศาล ซึ่งศาลอาจจะไม่ฟังก็ได้ อย่างคดีกล้ายาง หวยบนดิน ศาลก็ยกฟ้อง หากคู่กรณีเห็นว่าตุลาการคนไหนไม่เป็นกลาง มีส่วนได้เสีย ก็คัดค้านได้อยู่แล้ว ผมว่าสมานฉันท์มันเกิดขึ้นได้ยากก็ตรงนี้ที่หากเลิกกันง่ายๆ ไปทำลายกระบวนการเหล่านี้หมดก็ยากหลักของแผ่นดินมันยิ่งเสียหาย

- เกมการเคลื่อนไหวในสภา ทั้งการอภิปรายไม่ไว้วางใจ และเกมนอกสภา พยายามบีบให้รัฐบาลยุบสภา จะเป็นอย่างไร

เรื่องนี้อยู่ที่มวลชนจะเข้าไปร่วมมากน้อนแค่ไหนอย่างไร ผมเชื่อว่าคนทำการเมือง ไม่ว่าพรรคเมืองหรือกลุ่มการเมือง สิ่งที่เขาจะต้องรู้สึกเหมือนกันคือ การตอบรับจากสังคม สังคมเข้าใจหรือไม่ ส่วนคนที่เป็นแฟนพันธุ์แท้ของกลุ่มคนนอกสภา ผมคิดว่ามีไม่มาก แต่จะมีการสร้างกระแสเพื่อระดมคนมามากด้วย การสร้างบรรยากาศให้ความรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม ทั้งเรื่องการพิจารณาคดี 7.6 หมื่นล้านบาท เรื่องการจะยุบหรือไม่ยุบพรรคประชาธิปัตย์ ก็จะกลายเป็นอีกประเด็นหนึ่ง ที่จะเอามาปลุกระดมกัน หรือกรณีเอกสารลับของกระทรวงการต่างประเทศ ที่อ้างว่าจะเข่นฆ่ากัน ประเด็นเหล่านี้จะเกิดขึ้นมากในช่วงนี้ เพื่อทำให้มีความรู้สึกว่ารัฐบาลไม่มีความเป็นธรรมให้ ประสงค์จะใช้ความรุนแรงกับเขา องค์กรต่างๆ แม้กระทั่งองค์กรอิสระก็เชื่อถือไม่ได้แล้ว เพราะเลือกปฏิบัติ ทั้งหมดนี้จะเป็นสถานการณ์ในช่วงตอนต้นปีนี้ อาจจะเริ่มตั้งแต่ 10 มกราคม เป็นต้นไป ก็ต้องคอยตามดูกัน แต่สลักระเบิดตรงนี้จะถูกถอดออกมาได้หรือไม่ ก็อยู่ที่มวลชน ที่จะเข้าร่วมกับสังคมทั่วไป ที่จะแสดงออกให้เห็นว่าปฏิสเธความรุนแรง เข้าใจสถานการณ์ สร้างบรรยากาศให้เหมือนเดือนพฤศจิกายน แล้วทุกอย่างก็อาจจะเย็นลง

- แน่ใจได้อย่างไรว่าเขาจะไม่ได้แนวร่วม เพราะมีหลายเรื่องที่รัฐบาลทำ แต่ประชาชนยังไม่เข้าใจ

อยู่ที่ต้องทำความเข้าใจเอง ทั้งฝ่ายรัฐบาล และรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องต้องพยายามสร้างความเข้าใจ ทุกเรื่องที่จะนำไปสู่การปลุกระดมให้สังคมมีความรู้สึกชิงชังรัฐบาล ไม่เชื่อมั่นในมาตรฐานขององค์กรที่เกี่ยวข้องจะได้รับการขุดคุ้ยกันออกมา ซึ่งรัฐบาลต้องทำงานหนักอย่างแน่นอน เพราะรัฐมนตรีก็รู้อยู่แล้วว่า เปิดประชุมสมัยสามัญเที่ยวนี้ต้องมีการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลแน่นอน แต่ว่าจะช้าหรือเร็ว กี่คนก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง และก่อนจะถึงวันนั้น ก็ต้องมีการโหมสถานการณ์ให้สุกงอมมากขึ้น และบังเอิญช่วงนี้ก็เป็นจังหวะที่จะสร้างบรรยากาศตรงนี้ได้

-หวั่นไหวต่อเกมของ พ.ต.ท.ทักษิณ ในการดึงพรรคร่วม มาเป็นแนวร่วม และโดดเดี่ยวพรรคประชาธิปัตย์หรือไม่

ก็คงต้องดูกันไป เพราะเห็นชัดว่าตอนนี้การเมืองมันเดินมาถึงจุดที่สู้กันทุกรูปแบบ ทุกเงื่อนไข ส่วนพรรคร่วมจะสู้กับเราหรือไม่ ผมก็ไม่ทราบ แต่ช่วงนี้ไม่น่าจะมีปัญหาถึงขนาดนั้น ผมคิดว่า เราทำสงครามกับเขาแล้ว ก็เห็นอยู่ว่าแบบฉบับของเขาก็ต้องทำทุกเงื่อนไข แต่ทำลงไปแล้วจะมีผลหรือไม่ ยิงกระสุนออกไปแล้ว กระสุนด้านหรือไม่ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

-แนวคิดที่จะจัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นของ พ.ต.ท.ทักษิณในที่กัมพูชา จะส่งผลอย่างไร

ดูจากตรงนี้ก็น่าอกสั่นขวัญแขวนอยู่แล้ว การมานั่งบัญชาการอยู่ใกล้ประเทศเพื่อป่วนเมืองกันอย่างนี้ ผู้มีอำนาจในประเทศก็เต็มใจ เอาด้วยเต็มที่ แต่มองในแง่อีกหนึ่ง น่าจะเป็นแรงบันดาลใจให้คนไทยเข้าใจอะไรมากขึ้น แต่ในแง่ความสับสนวุ่นวาย มันมีแน่ แต่จะไปไกลถึงขนาดไหน อย่างไร ก็ขึ้นอยู่กับหลายๆ ปัจจัย

- ฝ่ายทักษิณมีการใช้สื่อ เช่น โฟนอิน ทวิตเตอร์ โหมอยู่ตลอดเวลา

ก็เป็นเรื่องที่ไม่ง่าย รัฐเองต้องหาทางที่จะสร้างความเข้าใจ ที่ผ่านมาก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากเหมือนกันว่า รัฐบาลดูจะยังไม่ค่อยได้ใช้สื่ออย่างเต็มที่เท่าที่ควร แต่รัฐบาลเองก็ต้องระวังว่า ถ้าเข้าไปใช้ก็จะถูกกล่าวหาว่าแทรกแซงเพื่อประโยชน์ของตน หากรัฐบาลแยกให้เห็นได้ว่า นี่ไม่ใช่ความมั่นคงของรัฐบาล แต่เป็นความมั่นคงของบ้านเมืองโดยส่วนรวม

- 1 ปีที่ผ่านมาให้คะแนนรัฐบาลอย่างไร และมีจุดด้อยอะไรที่ต้องปรับปรุงบ้าง

รัฐบาลนี้เข้ามาทำงานในช่วงเวลาที่มีปัญหาเยอะ แค่ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ และความขัดแย้งทางการเมืองก็หนักอยู่แล้ว การขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐบาลก็มี หากมองในส่วนที่เกี่ยวข้องกับนโยบายที่หาเสียงไว้ ก็ถือว่าทำได้ครบถ้วน การประคับประคองให้เศรษฐกิจกระเตื้องขึ้นได้ก็เป็นตัวชี้วัดเช่นกัน ก็น่าจะใช้ได้ แต่ความรับรู้ตรงนี้ไม่เป็นที่รู้กันมากนัก เพราะว่า ยุทธการสร้างข่าวกลบข่าวคือ การแบ่งพื้นที่ข่าวมันมีตลอด วันที่รัฐบาลจะแถลงผลงานที่ทำเนียบรัฐบาลก็ยังอุตส่าห์มีการไปล้อม กกต. เพื่อแย่งพื้นที่ข่าว เบนความสนใจไปดูเรื่องนั้น กลัวคนมาฟังรัฐบาลแถลงผลงานมาก ตรงนี้ถือเป็นปัจจัยหนึ่งเหมือนกันที่ทำให้การแถลงผลงานของรัฐบาลไม่เป็นที่รับรู้กันอย่างกว้างขวางเท่าที่ควร แล้วก็พลอยทำให้รู้สึกว่ารัฐบาลไม่มีผลงานอะไรเลย ซึ่งมันไม่ใช่

- คิดว่าอายุของรัฐบาลในปี 53 จะอยู่ได้นานขนาดไหน

คงต้องดูช่วงต้นปี และ ช่วงอภิปรายไม่ไว้วางใจ หากผ่านไปได้ เศรษฐกิจเริ่มกระเตื้องมากขึ้น ผมคิดว่ารัฐบาลก็จะแข็งแกร่งมากขึ้น และถ้ายิ่งทำให้ผู้คนส่วนใหญ่ในประเทศเข้าใจภาวะความขัดแย้งในบ้านเมือง ก็จะยิ่งดี ปัญหาทุกวันนี้เกิดจากคนไม่เข้าใจ ซึ่งเราก็ต้องทำความเข้าใจ และคิดว่าทุกอย่างน่าจะดีขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น