อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี โชว์ฟอร์มแถลงผลงานหนึ่งปีด้วยท่วงทีลีลาแบบนักทอล์กโชว์มืออาชีพ อวดโอ่ถึงความสำเร็จ เอื้อนเอ่ยว่าสิ่งแรกที่รัฐบาลต้องทำคือ การบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน
แต่ความจริงแล้วสิ่งที่พี่น้องประชาชนต้องเดือดร้อน ต้องแบกรับอยู่ทุกวัน คือ ต้นทุนพลังงานทั้งราคาน้ำมันและก๊าซฯ ซึ่งแพงเกินจริง ขณะที่ ปตท.กลับอู้ฟู่ ฟันกำไรปีละแสนๆ ล้าน รัฐบาลกลับให้ความสนใจกับเรื่องนี้น้อยมากๆ และถ้าหากวัดผลก็คงไม่พ้นสอบตก หรือ ติด F
นายกฯ อภิสิทธิ์ พูดถึงเรื่องพลังงานแต่เพียงสั้นๆ ว่ารัฐบาลได้เปลี่ยนนโยบาย แต่เปลี่ยนอะไร เปลี่ยนไปอย่างไร ไม่มีคำอธิบายทั้งสิ้น รู้แต่เพียงว่า กองทุนน้ำมัน ซึ่งประชาธิปัตย์ เคยโฆษณาว่าจะยุบทิ้งไป ตามมาตรการ 99 วันเราทำได้ ถึงตอนนี้กองทุนดังกล่าวก็ยังอยู่ และไม่มีทีท่าว่าจะถูกยุบเลิกแต่อย่างใด
กิจการพลังงานซึ่งเกี่ยวข้องกับปัญหาปากท้องของประชาชนทั้งทางตรงและทางอ้อม เพราะต้นทุนสินค้า ต้นทุนค่าเดินทาง ต้นทุนค่าครองชีพ สารพัด ล้วนผันแปรตามราคาน้ำมันและราคาก๊าซฯ ทั้งสิ้น การแก้ไขปัญหานี้จึงไม่ใช่การทำงานเอาหน้าเพียงแค่บริการรถเมล์ฟรีอะไรเทือกนี้ ผู้นำรัฐบาลที่มีมันสมอง มีดีกรีระดับปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดแห่งอังกฤษ ไม่ควรอย่างยิ่งที่จะทำแกล้งโง่ ปล่อยให้กิจการพลังงานไร้ซึ่งธรรมาภิบาลอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้
ผลประโยชน์ในกิจการพลังงานที่มากมายมหาศาลหว่านโปรยไปถ้วนทั่ว บดบังตาให้นักการเมืองแกล้งโง่ หรือว่าโง่เขลาเบาปัญญากันจริงๆ เป็นคำถามที่ รสนา โตสิตระกูล ประธานคณะกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบเรื่องการทุจริต และเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา ถามไถ่และต้องการคำตอบชัดๆ จากผู้ที่ขันอาสามารับใช้และปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน
ในการแถลงข่าวสรุปผลงานประจำปีของคณะอนุกรรมาธิการเสริมสร้างธรรมาภิบาลฯ เมื่อวานนี้ (24 ธ.ค.) รสนา ได้ตอกย้ำถึงข้อมูลจากศึกษาตรวจสอบ และได้เสนอแนะต่อรัฐบาลในสิ่งที่ควรทำเพื่อเสริมสร้างธรรมาภิบาลในกิจการพลังงาน ซึ่งหลายประเด็นที่คณะกรรมาธิการฯ ชุดดังกล่าว เฝ้าเพียรเสนอแนะในรอบปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้ตอบสนองโดยทำเป็นหูหนวก ตาบอด ใบ้ ละเลยเพิกเฉยไม่ใส่ใจ
ข้อมูลเบื้องต้นที่คณะกรรมาธิการฯ อยากบอกต่อประชาชน ก็คือ คนไทยส่วนใหญ่เห็นว่าประเทศอย่างบรูไน เป็นเศรษฐีน้ำมันระดับโลก ส่วนไทยมีน้ำอยู่ไม่กี่หยด แต่ความจริงคือ ไทยมีน้ำมันดิบอยู่ในอันดับ 33 ของโลก ส่วนบรูไน อยู่ในอันดับที่ 44 สำหรับก๊าซธรรมชาติ ไทยอยู่ในอันดับที่ 27 ของโลก ขณะที่บรูไน อยู่ในอันดับ 36
แต่กลับมาดูส่วนแบ่งที่รัฐได้รับจากสัมปทานขุดเจาะน้ำมันและก๊าซของไทย กลับต่ำติดดินเพียง 5-15% ส่วนเอกชนเอาไป 85-95% ทำไมรัฐบาลถึงปล่อยให้เป็นเช่นนี้ น้ำมันและก๊าซฯ เป็นสาธารณสมบัติของประชาชนทุกคน เหตุใดจึงปล่อยให้เอกชนตักตวงเอาประโยชน์ไปมากมายโดยไม่คิดที่จะจัดการเจรจาแก้ไขสัญญา
รัฐบาลเคยศึกษาหรือไม่ว่า บ้านอื่นเมืองอื่นเขาจัดเก็บกันอย่างไร รู้หรือไม่ว่า อย่างโบลิเวีย ซึ่งผลิตน้ำมันและก๊าซได้เป็นอันดับที่ 61 และ 34 ของโลก เขาเก็บส่วนแบ่งรายได้เข้ารัฐถึง 82% ของรายได้จากก๊าซฯ ส่วนคาซัคสถาน จัดเก็บรายได้เข้ารัฐถึง 80% ของปริมาณน้ำมันที่ขุดเจาะได้
การเก็บส่วนแบ่งรายได้เข้ารัฐจากทรัพยากรน้ำมันและก๊าซฯ หากรัฐบาลอภิสิทธิ์ มีสติปัญญาจัดการดีๆ นี่แทบไม่ต้องไปกู้เงินมาให้เป็นภาระหนี้สินในรุ่นลูกรุ่นหลานถึง 6 -7 แสนล้าน
ประเด็นต่อมาก็คือ คนไทย ซื้อน้ำมันสำเร็จรูปในราคานำเข้าจากสิงคโปร์ทั้งที่ประเทศไทยกลั่นน้ำมันเองได้หมด และยังส่งออกไปต่างประเทศในมูลค่าที่สูงกว่าข้าวและยางพารา แต่คนไทยกลับต้องซื้อน้ำมันทุกลิตรแพงกว่าที่ส่งออก เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะรัฐบาลปล่อยให้เกิดกลไกตลาดเทียม
อย่าลืมว่า ตลาดน้ำมันมี ปตท.เป็นผู้ผูกขาดทั้งโรงกลั่นน้ำมันและปั๊มขายปลีก ขณะที่ราคาน้ำมันสำเร็จรูปก็อิงราคาสิงคโปร์ที่มีการบวกค่าโสหุ้ยทั้งค่าขนส่ง ค่าสูญเสียระหว่างขนส่ง ค่าปรับปรุงคุณภาพจากมาตรฐานสิงคโปร์มาเป็นมาตรฐานไทย ค่าประกันภัยจากสิงคโปร์มายังไทย ซึ่งเป็นต้นทุนที่ไม่ได้เกิดขึ้นจริง เพราะโรงกลั่นน้ำมันตั้งอยู่ในไทย และปตท.เป็นเจ้าของอยู่ 5 โรง จากทั้งหมด 6 โรง มีความสามารถกลั่นน้ำมันจนล้นเกินความต้องการใช้ภายในประเทศจนต้องส่งออก
หากเอาค่าต่างๆ ที่เป็นต้นทุนที่ไม่ได้เกิดขึ้นจริงออกไป ประชาชนคนไทยจะได้ใช้น้ำมันราคาต่ำกว่านี้ เพราะในส่วนที่ส่งออกนั้น ปตท. ได้ตัดต้นทุนส่วนนี้ทิ้งเพื่อจะได้ขายแข่งกับประเทศอื่นๆ ได้
ตอนนี้กลายเป็นว่า คนไทยกลับต้องซื้อน้ำมันแพงกว่า ทั้งที่มีวัตถุดิบที่ใช้ในการกลั่นน้ำมันในประเทศเองมากกว่าร้อยละ 40 ของการใช้ในประเทศ ทั้งที่มีโรงกลั่นน้ำมันเองจนล้นเกิน แต่เป็นเพราะการผูกขาด กลไกตลาดเสรีไม่เกิดขั้นจริง ดังนั้น จึงพบว่าราคาขายปลีกน้ำมันของไทยปรับตัวลงช้ากว่าราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกมาก แต่ยามราคาขึ้นก็ปรับขึ้นตาม ไม่นับการที่รัฐบาลเข้ามาเก็บภาษียุ่บยั่บไปหมด หนึ่งในนั้นคือ กองทุนน้ำมัน
หากรัฐบาลคิดจะบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนเป็นอันดับแรก ข้อเสนอแนะที่รัฐบาลควรเอาใจใส่และนำไปปฏิบัติให้เห็นผล ก็คือ ต้องปรับอัตราค่าภาคหลวงใหม่ เพราะขณะนี้เก็บต่ำมากขณะที่ราคาพลังงานในตลาดสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ประเทศชาติประชาชนเสียประโยชน์มหาศาล
ถัดมา ต้องแก้ปัญหากลไกตลาดเทียม เลิกโอบอุ้ม ปตท.โดยตัดค่าโสหุ้ยต่างๆ ที่คิดในสูตรราคาน้ำมันอิงสิงคโปร์ทิ้ง เพราะก่อนหน้านี้ เหตุผลในการคิดสูตรดังกล่าวก็เพื่อสร้างแรงจูงใจทางธุรกิจให้โรงกลั่น ถึงเวลานี้โรงกลั่นแข็งแรงมีกำไร สมควรเลิกอุ้มได้แล้วเพราะประชาชนไม่ได้ประโยชน์จากการที่มีหรือไม่มีโรงกลั่นเป็นของไทยเอง นอกเสียจากต้องจ่ายแพงกว่าเท่านั้น
สิ่งที่สัญญากับประชาชนเรื่องยกเลิกกองทุนน้ำมัน ต้องพิสูจน์ให้เห็นว่า “เราทำได้” จริงๆ เพื่อลดรายจ่ายของประชาชน เพราะการดำเนินงานกองทุนน้ำมันต่างไปจากวัตถุประสงค์เดิมที่มีไว้เพื่อพยุงราคาน้ำมัน ขณะที่น้ำมันแพงแทนที่จะช่วยพยุงราคากลับยังคงเก็บเงินเข้ากองทุน และเมื่อน้ำมันราคาถูกลงก็เก็บเงินเข้ากองทุนมากขึ้นไปอีก แถมเอาเงินกองทุนไปใช้ในโครงการต่างๆ เช่น ปลูกปาล์ม หรือนำไปชดเชยการนำเข้าก๊าซฯ อุดหนุนน้ำมัน E 20 E 85
ส่วนเรื่องที่ทำแกล้งลืม คือ การเรียกคืนทรัพย์สินตามคำพิพากษาของศาลปกครองให้ครบถ้วนและนำมาบริหารจัดการเอง ไม่ใช่ปล่อยให้เอกชนยึดเอาไปดำเนินการแบบผูกขาดแล้วเอามาขูดกำไรกับประชาชนแบบเอาทั้งขึ้นทั้งล่อง ความจริงประเด็นนี้ คณะกรรมาธิการฯ ได้ทักท้วงให้รัฐบาลจัดการหลายครั้งแล้ว แต่นายกฯ อภิสิทธิ์ และรัฐมนตรีคลัง “กรณ์ จาติกวนิช” กลับทำหูหนวกสนิท
เป็นเรื่องพิลึกที่มูลค่าระบบท่อก๊าซธรรมชาติ ได้ผันแปรขึ้นลงไปตามความต้องการของ ปตท.เช่น ตอนช่วงประเมินเพื่อแปรรูป เมื่อปี 2544 มูลค่า 46,000 ล้านบาท แต่พอ ปตท.จ้างบริษัทที่ปรึกษาประเมินเพื่อขอขึ้นค่าผ่านท่อเมื่อปี 2552 มูลค่าเพิ่มขึ้นถึง 105,000 – 120,000 ล้านบาท (อายุใช้งานเพิ่มขึ้น 25 ปี) ครั้นสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ประเมินเพื่อเรียกคืนทรัพย์สินตามคำพิพากษา ตีค่า 42,000 ล้านบาท แต่ ปตท.ประเมินเพื่อคืนทรัพย์สินตามคำสั่งศาลเช่นกันนี้แค่ 15,000 ล้านบาท
ไม่เพียงเท่านั้น รัฐบาลยังควรทบทวนใหม่ด้วยว่า ของขวัญผูกโบว์ดำแด่ประชาชน ด้วยการมอบอำนาจการกำหนดราคาก๊าซ ให้คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ที่มีกรรมการเครือปตท.นั่งอยู่เป็นจำนวนมาก กลายเป็นว่า คนขายกับคนกำหนดราคาเป็นคนกลุ่มเดียวกัน สมควรที่จะต้องพิจารณาใหม่หรือไม่
ความไร้ธรรมาธิบาลทั้งหลายทั้งปวงที่กล่าวมาข้างต้น รสนา สรุปว่า เกิดขึ้นเพราะความขัดแย้งกันทางผลประโยชน์ของเจ้าพนักงานของรัฐที่เข้าไปเป็นกรรมการในบริษัทเอกชนด้านพลังงาน เช่น ปตท.และบริษัทในเครือ ซึ่งถ่างขาควบได้ไม่จำกัด รับผลประโยชน์ที่เป็นโบนัส เบี้ยประชุม ผลตอบแทนในรูปแบบต่างๆ จนลืมผลประโยชน์ของประชาชน ส่วนนักการเมืองก็ตักตวงจากขุมทรัพย์พลังงานที่ดำมืดไม่มีใครกล้าไปแตะ