“สุรเกียรติ์” ขึ้นเบิกความศาลฎีกา คดียึดทรัพย์ 76,000 ล้านบาท ของ “นช.แม้ว” แอนด์เดอะแก๊งเสร็จ ย้ำค้านออกเงินกู้เพิ่มให้พม่าพัฒนาโทรคมนาคมมาตลอด หวั่นถูกครหาขัดประโยชน์ส่วนรวม เนื่องจาก “ทักษิณ” เป็นเจ้าของชินคอร์ป ด้านศาลสั่งนัดสอบพยานเพิ่มอีก 2 นัด 12 และ 14 มกราคมปีหน้า
วันนี้ (22 ธ.ค.) ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ขึ้นเบิกความต่อศาลฎีกา ในคดียึดทรัพย์ 76,000 ล้านบาท ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร โดยยืนยันว่าตนไม่เห็นด้วยกับการอนุมัติเงินกู้ให้รัฐบาลทหารพม่าเพิ่มเติม จากเดิม 3,000 ล้านบาท เพื่อนำไปพัฒนากิจการโทรคมนาคมของพม่า เนื่องจากห่วงใยว่าจะถูกครหา เพราะ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นเจ้าของกิจการโทรคมนาคมรายใหญ่ในประเทศไทย อาจเกิดปัญหาขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนรวมกับผลประโยชน์ส่วนตัวได้ และได้เสนอข้อห่วงใยดังกล่าวต่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นไปแล้ว โดยได้นำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติเงินกู้ให้พม่า ถึง 2 ครั้ง สุดท้ายคณะรัฐมนตรีอนุมัติให้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า หรือเอ็กซิมแบงก์ ให้สินเชื่อแก่พม่า เป็นเงิน 4,000 ล้านบาท ส่วนรายละเอียดว่ารัฐบาลพม่าจะนำไปใช้ในกิจการใด เป็นข้อตกลงที่เอ็กซิมแบงก์ต้องดำเนินการร่วมกับรัฐบาลทหารพม่าเอง
พร้อมยอมรับว่า ส่วนตัวไม่ทราบเรื่องที่พม่าตกลงซื้อขายอุปกรณ์โทรคมนาคมกับบริษัทชินแซทเทลไลท์ ซึ่งเป็นบริษัทในเครือบริษัทของ พ.ต.ท.ทักษิณ โดยตนเองเพิ่งทราบเรื่องจากการเข้าให้ถ้อยคำของคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.)
อย่างไรก็ตาม นายกล้านรงค์ จันทิก อดีตกรรมการ คตส.จะขึ้นเบิกความต่อศาลเป็นพยานฝ่ายผู้ร้องปากสุดท้ายต่อไป
ล่าสุด ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่ศาลได้ทำการไต่สวนนายกล้านรงค์เสร็จแล้ว ศาลฎีกาจึงได้นัดสอบพยานเพิ่มอีก 2 ครั้ง คือ ในวันที่ 12 และ 14 มกราคม 2553 พร้อมเรียกเอกสารสำคัญจากหลายหน่วยงาน รวมถึงพยานบุคคลที่เกี่ยวข้อง อาทิ เอกสารเกี่ยวกับการมีชื่อถือหุ้นในบริษัท วินมาร์ค จาก กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รวมทั้งเอกสารเกี่ยวกับหุ้นชินคอร์ป เอกสารจาก บ.ไทยคม ธนาคารกรุงไทย บ.จัสมินอินเตอร์ บ.ทีทีแอนด์ที จำกัด เอกสารและพยานจากกระทรวงเทคโนโลยีและการสื่อสาร (ไอซีที) ในกรณีจัดเก็บภาษีสรรพสามิตของกิจการโทรคมนาคม และเอกสารจากมูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กรณีการแปลงสัญญาโทรคมนาคม