ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งยืนไม่รับคำฟ้อง “คุณหญิงทิพาวดี” อดีตเลขาฯ ก.พ.ฟ้อง “ป.ป.ช.” ชี้มูลผิดวินัยร้ายแรง แก้หลักเกณฑ์ตั้งรองอธิบดีสรรพากร ปี 44 ไม่ชอบ เหตุคุณหญิงไม่ยื่นอุทธรณ์ตามขั้นตอนข้าราชการพลเรือน จึงไม่มีสิทธิฟ้องคดี พร้อมชี้ช่องให้กลับไปยื่นอุทธรธณ์หากไม่เห็นด้วยคำวินิจฉัย มายื่นฟ้องใหม่ได้ภายใน 90 วัน
วันนี้ (17 ธ.ค.) ที่ศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งยืนตามศาลปกครองกลางไม่รับฟ้องคดีที่คุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์ อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ปี 2550 และอดีตเลขาธิการ คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ยื่นฟ้องคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่ 1 และคณะอนุกรรมการไต่สวน ที่ 2 เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1-2 เรื่องเป็นหน่วยงานทางปกครอง หรือเจ้าหน้าที่รัฐออกคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้เพิกถอนมติ ป.ป.ช.ชี้ความผิดวินัยร้ายแรง กรณีสืบเนื่องจาก ป.ป.ช. และอนุไต่สวนมีมติในการประชุมเมื่อวันที่ 13 ม.ค.52 และ 9 เม.ย.52 ชี้มูลคุณหญิงทิพาวดีกระทำผิดวินัยร้ายแรง ตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2535 ขณะปฏิบัติหน้าที่ เลขาธิการ ก.พ. สร้างความเสียหายให้แก่คณะรัฐมนตรี และระบบราชการด้านบริหารทรัพยากรบุคคลอย่างร้ายแรง กรณีที่มีการแก้ไขหลักเกณฑ์การคัดเลือกข้าราชการพลเรือนสามัญไม่เป็นไปตามมติ ครม. โดยยกเว้นให้ผู้ที่ไม่ผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรนักบริหารระดับสูง และไม่ผ่านการประเมินสมรรถนะหลักของผู้บริหารระดับสูงสามารถเข้ารับการคัดเลือกได้ ส่งผลให้แต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งรองอธิบดีกรมสรรพากร (นักบริหารระดับ 9) ปี 2544 มิชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งคุณหญิงทิพาวดีเห็นว่า มติชี้มูลของ ป.ป.ช.ดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากไม่เปิดโอกาสให้ชี้แจงแสดงพยานหลักฐานอย่างเต็มที่ มีการรับฟังข้อเท็จจริงไม่ครบถ้วน และคณะอนุฯ บางคนมีเหตุโกรธเคืองกับคุณหญิงทิพาวดี ซึ่งเข้าลักษณะต้องห้ามไม่ให้เป็นอนุฯ ไต่สวน
โดยศาลปกครองสูงสุดพิเคราะห์แล้วเห็นว่า การดำเนินการชี้มูลความผิดวินัยร้ายแรงของ ป.ป.ช. และคณะอนุฯ และการส่งรายงานไปยังผู้บังคับบัญชา ของคุณหญิงทิพาวดีเพื่อพิจารณาโทษนั้น เป็นเพียงขั้นตอนการเสนอความเห็นให้ผู้บังคับบัญชาออกคำสั่งลงโทษต่อไป หากคุณหญิงทิพาวดี ไม่เห็นด้วยกับคำสั่งลงโทษ ก็มีสิทธิ์ยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม (ก.พ.ค.) ตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551 แล้วถ้า ก.พ.ค.มีคำสั่งออกมาแล้วคุณหญิงทิพาวดี ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยอุทธณ์ กฎหมายก็ให้สิทธิ์นำคดีมายื่นฟ้องศาลปกครองได้ภายใน 90 วันนับแต่วันที่ทราบคำวินิจฉัย แต่เมื่อคุณหญิงทิพาวดี ยังไม่ได้ดำเนินการตามขั้นตอนดังกล่าวให้ครบถ้วน จึงไม่อยู่ในฐานะผู้มีสิทธิฟ้องคดี ส่วนที่อ้างว่าได้รับความเสียหายต่อชื่อเสียง เกียรติคุณ หรืออาจถูกตัดสิทธิไม่ให้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.หรือ ส.ว.นั้น แม้ความเสียหายอาจมีอยู่จริงตามที่อ้าง แต่ก็ไม่ได้มีผลทำให้มีสิทธิฟ้องคดีโดยที่ยังไม่ดำเนินการอุทธรณ์การลงโทษให้ครบถ้วนตามขั้นตอนที่กฎหมายบัญญัติ ศาลปกครองสูงสุด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการฟ้องคดีต่อศาลปกครองดังกล่าว คุณหญิงทิพาวดียังได้ยื่นฟ้องรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม และคณะอนุกรรมการสามัญประจำกระทรวงวัฒนธรรม (อ.ก.พ.กระทรวงวัฒนธรรม) เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1-2 เรื่องเป็นเจ้าหน้าที่รัฐออกคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีที่ รมว.วัฒนธรรม มีคำสั่งลงวันที่ 27 พ.ค.52 สั่งปลดออกจากราชการ ตามมติ อ.ก.พ.กระทรวงวัฒนธรรมลงวันที่ 25 พ.ค.52 จากกรณีที่ถูก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดวินัยร้ายแรงดังกล่าวโดยนางศิริวรรณ จุลโพธิ์ ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองกลาง เจ้าของสำนวน มีคำสั่งเมื่อวันที่ 11 ก.ย.ที่ผ่านมา ไม่รับฟ้อง เนื่องจากเห็นว่า ตามกฎ ก.พ.ค.ว่าด้วยการอุทธรณ์และการพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ พ.ศ.2551 ข้อ 91 กำหนดระยะเวลาเกี่ยวกับขั้นตอนการยื่นอุทธรณ์และการพิจารณาไว้รวมทั้งสิ้น 240 วัน นับแต่วันที่ประธาน ก.พ.ค.ได้รับอุทธรณ์ ขณะที่ข้อเท็จจริงปรากฏว่าผู้ฟ้องยื่นอุทธรณ์คำสั่งลงโทษต่อ ก.พ.ค. วันที่ 24 มิ.ย.52 และผู้ฟ้องนำคดีมายื่นต่อศาลปกครองกลางวันที่ 19 ส.ค.52 ดังนั้นจึงเป็นการฟ้องคดีในขณะที่เรื่องของผู้ฟ้อง ยังอยู่ในระยะเวลาพิจารณาอุทธรณ์ของ ก.พ.ค. ผู้ฟ้องจึงไม่มีสิทธิฟ้องคดีนี้ เพราะกรณีถือว่าผู้ฟ้องยังไม่ได้ดำเนินการตามขั้นตอนและวิธีการอุทธรณ์ให้แล้วเสร็จก่อนนำคดีมาฟ้อง
แต่ทั้งนี้หาก ก.พ.ค. พิจารณาอุทธรณ์แล้ว และผู้ฟ้องไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัย ผู้ฟ้องสามารถนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองสูงสุดใหม่ได้