“ส.ว.คำนูณ” จี้นายกฯ ตรวจสอบ การแจกปฏฺทินเบียร์ในทำเนียบรัฐบาล ระบุผิด พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีโทษทั้งจำทั้งปรับ นายกฯ เป็นผู้รักษาการตาม พ.ร.บ.นี้ ปล่อยให้เกิดขึ้นได้อย่างไร ย้ำประเด็นไม่อยู่ที่โป๊หรือไม่ แต่มีการเพนท์ชื่อเครื่องดื่มบนตัวนางแบบถือเป็นการโฆษณา
คลิกที่นี่ เพื่อฟัง นายคำนูณ สิทธิสมาน
นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา กล่าวถึงกรณีที่ น.ส.จิตภัสร์ ภิรมย์ภักดี นำปฏิทินโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยี่ห้อหนึ่งซึ่งกำลังมีข่าวฮือฮาเข้าไปแจกจ่ายในทำเนียบรัฐบาลว่า นายกรัฐมนตรีจะวางเฉยไม่ได้ ต้องดำเนินการตรวจสอบอย่างจริงจัง และชี้แจงต่อประชาชนว่าปล่อยให้มีการกระทำผิดกฎหมายที่มีโทษทางอาญาทั้งจำทั้งปรับตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ที่ตนเป็นผู้รักษาการ เกิดขึ้นในทำเนียบรัฐบาลศูนย์กลางอำนาจรัฐ ได้อย่างไร
“นี่ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ เพราะเป็นการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่มีผลบังคับใช้มาตั้งแต่เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2551 โดยมาตรา 32 ที่มาตรา 43 กำหนดระวางโทษไว้เป็นจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ นอกจากจะต้องตรวจสอบและดำเนินการตามกฎหมายแล้ว นายกฯ จะต้องชี้แจงเรื่องนี้ต่อประชาชนให้เข้าใจเนื้อหาและที่มาของกฎหมายฉบับนี้ เพราะขณะนี้มีการพูดจากันไปคนละทางสองทาง”
นายคำนูณ ซึ่งเป็นอดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่เป็นหนึ่งในคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้ กล่าวว่า เหตุผลในการตรากฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก็คือ เครื่องดื่มชนิดนี้ก่อให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพ ครอบครัว อุบัติเหตุ และอาชญากรรม มีผลกระทบต่อสังคมและเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ จึงจำเป็นต้องมีมาตรการควบคุม เพื่อช่วยลดปัญหาและผลกระทบ โดยเฉพาะการช่วยป้องกันมิให้มีการเพิ่มผู้เสพหน้าใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กและเยาวชน
“ประเด็นไม่ใช่ปฏิทินนี้โป๊หรือไม่โป๊ เป็นศิลปะหรือไม่ แต่เป็นที่ชัดเจนว่ามีการเพนต์ชื่อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ชนิดหนึ่งลงบนตัวนางแบบ ถือเป็นการโฆษณาตามมาตรา 32 วรรคหนึ่ง ประกอบนิยามศัพท์คำว่าโฆษณาและการสื่อสารการตลาดในมาตรา 3 และในมาตรา 32 วรรคหนึ่งนี้ก็บัญญัติห้ามบุคคลทุกคน โดยใช้คำว่าผู้ใด ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ผลิตหรือผู้ขายเท่านั้น องค์ประกอบของการกระทำความผิดในทำเนียบรัฐบาลครบถ้วนแล้ว”
อนึ่ง มาตรา 32 วรรคหนึ่ง พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 บัญญัติไว้ว่า ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือแสดงชื่อหรือเครื่องหมายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อันเป็นการอวดอ้างสรรพคุณ หรือชักจูง ให้ผู้อื่นดื่มโดยตรงหรือโดยอ้อม และนิยามศัพท์คำว่าโฆษณาในมาตรา 3 ระบุไว้ว่าหมายถึงการกระทำไม่ว่าโดยวิธีใดๆ ให้ประชาชนเห็น ได้ยิน หรือทราบข้อความเพื่อประโยชน์ในทางการค้า และให้หมายความรวมถึงการสื่อสารการตลาด และนิยามคำว่าการสื่อสารการตลาดไว้ว่า การกระทำกิจกรรมในรูปแบบต่างๆ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อขายสินค้า บริการ หรือภาพลักษณ์ การประชาสัมพันธ์ การเผยแพร่ข่าวสาร การส่งเสริมการขาย การแสดงสินค้า การจัดหรือสนับสนุนให้มีการจัดกิจกรรมพิเศษ และการขายแบบตรง ให้หมายความรวมถึงการสื่อสารการตลาด
นายคำนูณกล่าวว่า แม้จะมีการคัดค้านกฎหมายฉบับนี้ในระหว่างการพิจารณาใน สนช.อย่างหนัก จากฝ่ายผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และผู้ประกอบการร้านอาหารและโรงแรม โดยมีการพิจารณาในชั้นกรรมาธิการเกือบ 1 ปี และมีการแก้ไขมาก แต่ขณะนี้ก็มีผลบังคับใช้แล้ว นายกรัฐมนตรีในฐานะผู้รักษาการตามกฎหมายจึงต้องบังคับใช้อย่างจริงจังสมดังนโยบายที่แถลงว่าจะให้ประเทศนี้เป็นนิติรัฐ โดยเฉพาะจะต้องชี้แจงเหตุผลและความเป็นมาต่อประชาชน