xs
xsm
sm
md
lg

“รสนา” เสนอปรับฐานข้อมูล แก้เผ็ด ส.ว.นักโดดร่ม ล้างภาพสภาล่ม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รสนา โตสิตระกูล
กมธ.ธรรมาภิบาล วุฒิสภา เตรียมเสนอ ปธ.วุฒิฯ ทำระบบฐานข้อมูลการเข้าประชุมและการลงมติของ ส.ว.ทุกคน และการเผยแพร่ต่อสาธารณะแบบเรียลไทม์ทางเว็บไซต์ ทันเปิดประชุมสมัยสามัญต้นปีหน้าเพื่อแก้ปัญหาสภาล่มซ้ำซาก เหน็บยังมีหน้ามาขอขึ้นเงินประจำตำแหน่ง

วันนี้ (8 ธ.ค.) น.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กทม. ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ศึกษา ตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา เปิดเผยว่า กมธ.จะประชุมกันวันที่ 17 ธันวาคม เรื่องขอให้วุฒิสภาจัดทำระบบฐานข้อมูลการเข้าประชุมและการลงมติของ ส.ว.ทุกคน และการเผยแพร่ต่อสาธารณะแบบเรียลไทม์ทางเว็บไซต์ หลังจากมีการลงมติในการประชุมแต่ละครั้ง โดยจะเชิญเลขาธิการวุฒิสภามาหารรือถึงความเป็นไปได้ จากนั้นจะทำข้อเสนอถึงประธานวุฒิสภา ขอให้ดำเนินการปฏิบัติในเรื่องนี้ให้ทันก่อนเปิดประชุมสภาสมัยสามัญทั่วไปวันที่ 21 มกราคม 53 เพื่อให้เกิดเป็นบรรทัดฐานต่อไปให้ฝ่ายสภาผู้แทนราษฎรปฏิบัติตาม

น.ส.รสนา กล่าวว่า แนวคิดนี้มาจากหลักการการเปิดเผยข้อมูลเป็นหลัก ปกปิดเป็นข้อยกเว้น ตามที่รัฐธรรมนูญและพ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารบัญญัติ และส.ว.ก็เป็นผู้ทำงานตรวจสอบฝ่ายรัฐบาล ฉะนั้น ต้องเปิดกว้างให้คนอื่นตรวจสอบ ส.ว.ด้วย ซึ่งงานพื้นฐานที่สุดของ ส.ว.คือ การเข้าประชุมวุฒิสภา ขณะที่ปัญหาปัจจุบันจะเห็นว่า การประชุมสภาผู้แทนราษฎร การประชุมร่วมกันของรัฐสภา ที่องค์ประชุมล่มบ่อยในสมัยประชุมที่ผ่านมา หรือการประชุมวุฒิสภาบางครั้ง ตอนเช้ามากันเกือบครบ แต่พอตอนเย็น องค์ประชุมกลับเฉียดฉิว ดังนั้น การเปิดให้สาธารณะตรวจสอบการเข้าร่วมประชุมของ ส.ว. และการลงมติแต่ละครั้ง ซึ่งทำได้ง่ายมาก เพราะมีระบบคอมพิวเตอร์อยู่แล้ว เพียงแต่นำมาจัดระบบ ก็จะทำให้ ส.ว.ต้องตระหนักในการทำหน้าที่มากขึ้น จะได้ทราบว่าวาระประชุมนัดสำคัญหรือกฎหมายสำคัญ ผู้แทนของตนเองลงมติอย่างไร ซึ่งถ้าเปิดเผยอย่างต่อเนื่องเรื่อยๆ จะทำให้เห็นคุณภาพการทำงานของสมาชิก เป็นฐานข้อมูลต่อไปให้ประชาชนในการพิจารณาหากบุคคลดังกล่าวยังอยู่ในแวดวงการเมือง

“ทุกอาชีพเขามีประวัติการทำงาน นักการเมืองก็ต้องมี แล้วยิ่งนักการเมืองต้องมีจริยธรรมสูงมากกว่าคนธรรมดา การเข้าประชุมและการลงมติเป็นหน้าที่พื้นฐาน ส.ส. ส.ว.ก็ควรมีฐานข้อมูลตรงนี้รายคน เพื่อให้สาธารณะสามารถตรวจสอบได้ ซึ่งฐานข้อมูลตรงนี้จะเป็นแหล่งข้อมูลให้ภาคประชาชนหรือสื่อนำไปตรวจสอบต่อได้ด้วย เหมือนในเกาหลีใต้ที่องค์กรภาคประชาชน จัดทำฐานข้อมูลของนักการเมืองขึ้นมา ซึ่งลึกถึงขนาดชี้ให้เห็นถึงความเกี่ยวพันหรือการทับซ้อนแห่งผลประโยชน์ และแสดงแบล็กลิสต์ก่อนเลือกตั้ง ทำให้คนที่โดนแบล็คลิสต์ถึง 90 เปอร์เซ็นต์ ไม่ได้รับเลือก ซึ่งหากวุฒิสภาริเริ่มได้ จุดนี้ก็จะเป็นการสร้างระบบข้อมูล เพื่อตรวจสอบการทำงานของสมาชิก อันจะนำมาซึ่งระบบธรรมาภิบาลที่ดีขึ้นต่อไป” น.ส.รสนา กล่าว

น.ส.รสนา กล่าวว่า กรณีนี้ยังสามารถเชื่อมโยงกับที่ฝ่ายการเมืองเสนอขึ้นเงินเดือนหรือค่าตอบแทนของสมาชิกรัฐสภาด้วย เพราะการขึ้นเงินเดือนต้องให้สัมพันธ์กับการทำงานเหมือนในอาชีพอื่นที่มีระบบประเมินการทำงาน เพราะเมื่อมีข่าวจะขึ้นเงินเดือนให้ ส.ส. ส.ว. ประชาชนไม่พอใจมาก ถ้าจะให้เป็นธรรม ปกติเงินตอบแทนของสมาชิก เดือนละ 104,330 บาท แบ่งเป็นเงินประจำตำแหน่ง 62,000 บาท และเงินเพิ่ม 42,330 บาท โดยถ้าจะขึ้นค่าตอบแทน เงินประจำตำแหน่งอาจจะไม่ต้องขึ้น ส่วนเงินเพิ่ม อาจจะเพิ่มเพดานขึ้นก็ได้ แต่มีข้อแม้ว่า การจะได้รับต้องคำนวณจากการมาประชุมและการลงมติ ถ้ามาเพียง 60 เปอร์เซ็นต์ ก็ได้เพียง 60 เปอร์เซ็นต์ของในส่วนนี้ แบบนี้ถึงจะยุติธรรมกับประชาชนผู้เสียภาษีมาเป็นเงินเดือนให้ผู้แทน ซึ่งกลไกตัวนี้ จะทำให้เห็นภาพผลงานของสมาชิกเพิ่มขึ้นและถูกตรวจสอบจากประชาชนมากขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น