xs
xsm
sm
md
lg

ตุลาการ รธน.เชื่อยกเลิก MOU โดยใช้เสียงข้างมากในสภาไม่ยาก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ตุลาการศาล รธน.แบะท่ารอวินิจฉัยบันทึกความเข้าใจพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล หากเกิดข้อสงสัยตามระบอบรัฐสภา แต่เชื่อหากบรรจุวาระเข้าสู่พิจารณาตามขั้นตอน การยกเลิกเอ็มโอยูคงไม่ใช่ปัญหา เพราะรัฐบาลมีเสียงข้างมากอยู่แล้ว

วันนี้ (11 พ.ย.) นายสุพจน์ ไข่มุกด์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และอดีตเอกอัครราชทูต ณ กรุงเตหะราน สาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน และอดีตกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ 2550 กล่าวถึงกรณีที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) จะส่งบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) ว่าด้วยพื้นที่ไทยและกัมพูชา อ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อน ฉบับวันที่ 18 มิถุนายน 2544 ให้รัฐสภาพิจารณาตามมาตรา 190 แห่งรัฐธรรมนูญ เพื่อยกเลิกฝ่ายเดียวจะกระทำได้หรือไม่ ว่า เรื่องนี้ต้องดูก่อนว่าจะเข้าเกณฑ์ตามมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญที่ระบุว่าหนังสือสัญญาใดมีบทบาทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย หรือเขตพื้นที่นอกอาณาเขต ซึ่งประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตย หรือมีผลให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยหรือไม่ ที่จะต้องได้รับความเห็นชอบจากสภาก่อน ดังนั้น การที่รัฐบาลไทยจะยกเลิกเอ็มโอยูฝ่ายเดียว และเอ็มโอยูที่จะยกเลิกเป็นเรื่องที่ 2 ประเทศ เคยลงนามมาก่อน ก็ต้องดูในเอ็มโอยูฉบับดังกล่าวว่าการจะยกเลิกเอ็มโอยูจะต้องทำอย่างไร และมีเงื่อนไขใดในการยกเลิก หรือต้องบอกล่วงหน้าก่อนหากจะยกเลิกในกี่เดือนหรือกี่ปี เพราะเอ็มโอยูจะบอกเงื่อนไขในตัวมันเองอยู่แล้ว ถ้าไม่มีเงื่อนไขก็จะยกเลิกไปในทันทีไม่ได้ นอกจากจะเป็นการยินยอมพร้อมใจของสองประเทศ แต่ถ้าสนธิสัญญาประการใดมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ปฏิบัติตามแล้ว สนธิสัญญาดังกล่าวก็บังคับใช้ไม่ได้อยู่แล้ว ซึ่งทำให้เป็นหมันไปโดยปริยาย

นายสุพจน์ กล่าวว่า กรณีที่รัฐบาลมีแนวคิดจะนำเอ็มโอยูว่าด้วยพื้นที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อน เมื่อปี 2544 เข้าสภาเพื่อพิจารณาตามมาตรา 190 ให้ยกเลิกนั้น กรณีดังกล่าวยังไม่มีการส่งเรื่องมาให้ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัย และข้อเท็จจริงยังไม่ปรากฏเพื่อส่งให้ศาลวินิจฉัยและศาลจะพูดล่วงหน้าไม่ได้ ส่วนรัฐบาลจะส่งให้รัฐสภาพิจารณาเพื่อความรอบคอบก็เป็นความเห็นของรัฐบาลที่ไม่ต้องการให้เกิดปัญหา เพราะเรื่องนี้รัฐบาลก็มีเสียงส่วนใหญ่ในสภาอยู่แล้วไม่น่าจะมีปัญหาหากจะยกเลิก อีกทั้งหากสภาจะส่งเอ็มโอยูฉบับดังกล่าวมาให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยนั้นจะส่งมาได้เมื่อรัฐสภาเกิดข้อสงสัย หรือประธานแห่งสภานั้นๆ จะรับคำร้องเพื่อส่งความเห็นของสมาชิกแห่งสภาให้ศาลวินิจฉัย ซึ่งศาลจะต้องตีความก่อนว่าเอ็มโอยูนี้เข้าเกณฑ์ตามมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญ เพื่อจะขอยกเลิกได้หรือไม่
กำลังโหลดความคิดเห็น