“มาร์ค” ไฟเขียวเพิ่มงบ เอสพี 2 อุดหนุน อปท.เป็น 4 แสนล้านบาท ปล่อยเงินกู้ฟื้น ศก.เทศบาล-อบต.2.3 หมื่นล้าน ตั้งไตรภาคีสาธารณสุขจังหวัด เพื่อให้การกระจายอำนาจด้านสุขภาพสามารถขับเคลื่อนไปอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมเสนอให้คณะรัฐมนตรีรับทราบ
วันนี้ (5 พ.ย.) แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล แจ้งว่า การประชุมคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (กกถ.) ครั้งที่ 6/2552 ที่มี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เห็นชอบให้มีการรายงานการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนการจัดสรรเงินงบประมาณอุดหนุนให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้แก่ อปท.จากร้อยละ 25.02 เป็นร้อยละ 25.26 โดยเป็นการเพิ่มงบประมาณในปีงบประมาณ 2553 จากเดิมสัดส่วน 25.02% หรือเป็นวงเงินทั้งสิ้น 337,800 ล้านบาท เป็นร้อยละ 25.26 หรือคิดเป็นวงเงินรวมกว่า 4 แสนล้านบาท ทั้งนี้จะเป็นการเพิ่มงบประมาณจากงบไทยเข้มแข็ง 74,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ ให้เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบในวันที่ 10 พ.ย.นี้ และให้คณะอนุกรรมการด้านการเงิน การคลัง และงบประมาณ ของ กกถ.รับไปพิจารณากำหนดหลักเกณฑ์การจัดสรรเงินอุดหนุนเฉพาะกิจเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานตามแผนชุมชนและแผนพัฒนาต่อไป
แหล่งข่าวแจ้ง อีกว่า ที่ประชุมยังเห็นชอบหลักเกณฑ์และแนวทางการจัดสรรเงินกู้เพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจที่จัดสรรเป็นเงินอุดหนุนทั่วไปให้แก่ อปท.ได้แก่ เทศบาลและอบต. จำนวน 23,000 ล้านบาท ดังนี้
1.ให้นำเงินอุดหนุนทั่วไปตามอำนาจหน้าที่ ปีงบประมาณ พ.ศ.2552 ของเทศบาลที่ยกฐานะมาจาก อบต.ในปีงบประมาณ พ.ศ.2552 มารวมกับเงินอุดหนุนทั่วไปตามอำนาจหน้าที่ของเทศบาล เพื่อคำนวณหาสัดส่วนเงินอุดหนุนทั่วไปที่เทศบาลได้รับจากเงินกู้ฟื้นฟูฯ ส่วนที่เหลือให้เป็นสัดส่วนเงินอุดหนุนทั่วไปที่ อบต.ได้รับการจัดสรร
2.การจัดสรรให้แก่เทศบาลแต่ละแห่งให้จัดสรร ร้อยละ 50 ตามจำนวนประชากร และร้อยละ 50 แบ่งเท่ากันทุกแห่ง สำหรับเทศบาลที่ยกฐานะจาก อบต.ในปีงบประมาณ พ.ศ.2552 เมื่อได้รับการจัดสรรตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวแล้ว หากเงินอุดหนุนทั่วไปรับเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 50 ของเงินอุดหนุนทั่วไปตามอำนาจหน้าที่ที่ได้รับการจัดสรรในปีงบประมาณ พ.ศ.2552 ให้ได้รับการจัดสรรเพิ่มไม่เกินร้อยละ 50
3.การจัดสรรให้แก่ อบต.แต่ละแห่งให้จัดสรร ร้อยละ 65 ตามจำนวนประชากร และร้อยละ 35 แบ่งเท่ากันทุกแห่ง ทั้งนี้ ให้ อปท.จัดทำแผนดำเนินงานและแผนการใช้จ่ายเงินตามที่คณะกรรมการกลั่นกรองและบริหารโครงการ กำหนดและให้ฝ่ายเลขานุการจัดทำประกาศ กกถ. กำหนดหลักเกณฑ์ต่อไป
แหล่งข่าว แจ้งด้วยว่า ที่ประชุมยังเห็นชอบร่างคำสั่ง กกถ.เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการประสานความร่วมมือการดำเนินงานด้านสาธารณสุขระดับจังหวัด (สอ.) ประกอบด้วย ไตรภาคี 3 ฝ่าย ๆ ละเท่าๆ กัน ได้แก่ ผู้ใช้บริการ กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มีอำนาจหน้าที่ ประสานความร่วมมือหรือดำเนินการร่วมกับคณะกรรมการประสานความร่วมมือการดำเนินงานด้านสาธารณสุขระดับจังหวัด เพื่อให้การกระจายอำนาจด้านสุขภาพมีการเชื่อมโยง และสามารถขับเคลื่อนไปอย่างมีประสิทธิภาพ กำหนดแนวทางการติดตามประเมินผลองค์การบริหารส่วนจังหวัดในแต่ละพื้นที่ โดยมีกรอบระยะเวลาการดำเนินการ 6 เดือน