ผู้ประสานงานกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน ยื่นร้องศาลปกครองกรณี ปธ.สภา ไม่รับร่าง พ.ร.บ.การจัดทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศ พ.ศ..... ที่ปชช.เข้าชื่อเสนอกฎหมาย เพื่อคุ้มครองสิทธิ ชี้เข้าข่ายขัด รธน.
วันนี้ (20 ต.ค.) ที่ศาลปกครองกลาง นายจักรชัย โฉมทองดี ผู้ประสานงานกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอ วอตช์) เดินทางเข้ายื่นฟ้องประธานรัฐสภา และเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ต่อศาลปกครองกลาง กรณีที่ไม่รับร่าง พ.ร.บ.การจัดทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศ พ.ศ..... ที่ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน 10,378 คน ร่วมกันเข้าชื่อเสนอต่อรัฐสภา ถือเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติ ว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ.2552 จึงขอให้ศาลปกครองกลางมีคำสั่งให้ประธานรัฐสภารับเรื่องของผู้ฟ้องคดีไว้พิจารณาและสั่งการให้เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ดำเนินการตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารตามขั้นตอนที่กฎหมายบัญญัติต่อไป
นายจักรชัย เปิดเผยว่า การยื่นฟ้องครั้งนี้สืบเนื่องจากประธานสภามีคำสั่งไม่รับร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว รวมทั้งได้ปฏิเสธคำขอ โดยใช้ดุลยพินิจไม่ชอบด้วยข้อกฎหมาย และมีการสรุปข้อเท็จจริงผิดพลาด และตีความข้อกฎหมายโดยฝ่าฝืนบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มาตรา163 มาตรา 57, 58 ประกอบกับ พ.ร.บ.ว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ.2552 รวมทั้งประกาศของรัฐสภาซึ่งประธานสภาได้ประกาศใช้บังคับเอง เป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม ขัดต่อหลักความเสมอภาพ ซึ่งถือเป็นการลิดรอนขัดขวางการใช้สิทธิโดยชอบธรรมของประชาชน ที่จะเสนอกฎหมายที่มีหลักการและเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองสิทธิและประโยชน์ของประชาชน เพราะร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวจะเป็นการประกันสิทธิในการได้รับข้อมูลคำชี้แจงอันเป็นสาระสำคัญและเหตุผลจากรัฐบาล ก่อนที่รัฐบาลจะไปตกลงผูกพันกับนานาประเทศ เพื่อทำหนังสือสัญญาที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ หรือมีผลผูกพันด้านการค้าหรือการลงทุน ดังนั้น ร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว จึงเป็นกฎหมายที่มีหลักการเกี่ยวกับเรื่องที่บัญญัติไว้ในหมวด 3 และ 5 ของรัฐธรรมนูญ ตามที่ พ.ร.บ.ว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ.2542 มาตรา 5 วรรค 2 บัญญัติไว้
นายจักรชัย กล่าวต่อว่า การกระทำของประธานสภา และเลขาธิการสภา ไม่ได้เป็นไปตามหลักการในเรื่องที่บัญญัติไว้ ในหมวด 3 จึงถือเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนต่อหลักเกณฑ์ที่ประกันความเป็นธรรมและมาตรฐานในการปฏิบัติราชการทางปกครอง ตามมาตรา 37 ของ พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 อย่างชัดเจนในเรื่องสิทธิของประชาชน ตนจึงเดินทางเข้ายื่นฟ้องต่อศาลปกครอง เพื่อให้พิจารณาตรวจสอบการใช้ดุลพินิจที่ผิดพลาด และหากกรณีคำสั่งของประธานสภาไม่ถูกต้องหรือไม่สมบูรณ์ก็ขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอน เพื่อไว้เป็นบรรทัดฐาน และเป็นแนวปฏิบัติต่อไปในอนาคต