รายการ “รู้ทันประเทศไทย” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์เอเอสทีวี-ทีวีของประชาชน ช่วงเวลา 20.30-21.30 น. วันที่ 19 ตุลาคม 2552 โดยมี ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง และนายเติมศักดิ์ จารุปราณ เป็นผู้ดำเนินรายการ ซึ่งได้รับเกียรติจาก รศ ดร.อมรา พงศาพิชญ์ ประธานสิทธิมนุษย์ชนแห่งชาติ และนายกิจจา อาลีอิสเฮาะ รองเลขาธิการศูนย์ทนายความมุสลิม มาร่วม ย้อนอดีตเหตุการณ์ 25 ต.ค. 2547 ความจริงที่ตากใบ
คลิกที่นี่ เพื่อฟัง รายการ “รู้ทันประเทศไทย”
ดร.เจิมศักดิ์ กล่าวเริ่มรายการถึงเหตุการณ์สะเทือนขวัญที่ตากใบ ว่า ตอนนั้นตนเป็น ส.ว. ได้ลงพื้นที่ทันทีหลังเกิดเหตุ พร้อมเพื่อน ส.ว. อีก10 คน เมื่อไปสำรวจดูเหตุการณ์กลับมาแล้ว ก็ได้นำข้อมูลที่ไปพบเจอมาเขียนเป็นหนังสือแล้วแจกให้สภา เพื่อให้ทุกคนได้รู้ความจริง จนเป็นเหตุให้ ส.ว. สาวกทักษิณ เช่น นายอดุลย์ วันไชยธนวงศ์ ที่ปัจจุบันไปเป็น ส.ส.พรรคเพื่อไทย กล่าวโจมตีอย่างหนัก
รศ.ดร.อมรา กล่าวถึงเหตุการณ์ที่ตากใบ กรณีเจ้าหน้าที่จับกุมผู้ต้องสงสัย แล้วขนคนโดยไม่คำนึงถึงความเป็นมนุษย์ จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตถึง 78 ราย ว่า เป็นการกระทำที่เข้าข่ายทรมาน ตามอนุสัญญาต่อต้านการทรมานที่ประเทศไทย ได้ไปเซ็นไว้เมื่อ พ.ศ.2550 เพราะหากมองคนเป็นมนุษย์ เหตุการณ์รุนแรงที่ตากใบจะไม่เกิดขึ้น คนที่ดำเนินการเป็นพวกไร้ความรู้สึก ทำตัวเหมือนเครื่องจักร โดยไม่คำนึงว่า การขนคนโดยมัดมือไพร่หลัง แล้วให้ไปนอนทับซ้อนกัน จะเป็นอย่างไรหรือจะมีผลกระทบภายหลังหรือไม่
เมื่อถามว่า เหตุการณ์รุนแรงที่ผ่านมาทั้ง 14 ต.ค. ,6 ต.ค. , คดีตากใบ เจ้าหน้าที่ล้วนไม่ถูกดำเนินคดี ทำให้ย่ามใจละเมิดสิทธิประชาชนต่อๆมา รศ.ดร.อมรา กล่าวว่า ตรงนี้เป็นเพราะที่ผ่านมาสังคมไทยยังยึดติดกับมุมมองที่ว่า เจ้าหน้าที่รัฐมักทำในสิ่งที่ถูก ด้วยเหตุนี้หากมีเหตุการณ์เกิดขึ้นเจ้าหน้าที่รัฐมักไม่ถูกตั้งคำถาม อีกอย่างเมื่อเป็นคู่กรณีกันแล้ว ฝ่ายข้าราชการมักจะอ้างว่ามีอำนาจ ฝ่ายที่ไม่มีอำนาจก็จะถูกข่มเหงรังแกอยู่ร่ำไป โดยที่สังคมไทยยังไม่เข้าใจถึงแนวคิดสิทธิมนุษยชน จึงไม่ได้เรียกมันว่าละเมิดสิทธิ ตรงนี้สังคมไทยต้องเปลี่ยนแนวคิดใหม่ว่า หากเจ้าหน้าที่รัฐรังแกประชาชนให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นการละเมิดสิทธิ นายกิจจา กล่าวเสริมว่า เรื่องนี้กฎหมายไทยเป็นระบบกล่าวหา ผู้เสียหายต้องไปร้องทุกข์ฟ้องร้องต่อศาล เมื่อมีคดีเกิดขึ้นระหว่างเจ้าหน้าที่กับประชาชน ชาวบ้านมักจะไม่กล้าฟ้องร้อง ทำให้คดีไม่มีเจ้าทุกข์ เรื่องก็ต้องจบลง
นายกิจจา กล่าวถึงความคืบหน้าการสลายการชุมนุมตากใบ กรณีไต่สวนสาเหตุการตาย จำนวน 78 คน ระหว่างการเคลื่อนย้ายคนจากตากใบ ไปค่ายอิงคยุทธ คดีนี้ผู้ตายเสียชีวิตเมื่อ 25 ต.ค.2547 ศาลทำการไต่สวนปี 2550 เสร็จสิ้นวันที่ 29 พ.ค. 2552 จนในที่สุดศาล ได้มีคำวินิจฉัย ว่า ผู้ตายทั้งหมด เสียชีวิตเพราะขาดอากาศหายใจ ระหว่างการควบคุมของเจ้าหน้าที่ ทั้งนี้เมื่อรถทหารคันแรกที่ทำการขนย้ายคน ไปถึงค่ายอิงคยุทธ แล้วพบว่ามี ผู้เสียชีวิต 1 ราย ตามปกติเจ้าหน้าที่ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่า รถคันหลังจะต้องมีผู้เสียชีวิต ซึ่งการกระทำดังกล่าวถือว่า เป็นการละเลยการปฎิบัติหน้าที่ รู้แล้วไม่แก้ไข ทั้งนี้ญาติของผู้ที่เสียชีวิตทั้ง 78 คน ได้ฟ้องรัฐบาล เรียกค่าเสียหายหลายสิบล้าน แต่ก็ได้มาจบลงที่การเจรจาของ ก.กลาโหม ยินยอมจะชดใช้ค่าสินไหมทดแทน จำนวน 20-30% จากที่ผู้เสียหายฟ้องเรียกค่าเสียหายไป
ดร.เจิมศักดิ์ กล่าวเสริมว่า ในวันเกิดเหตุตนได้ไปสอบถามกับทางแม่ทับ ว่า ใครเห็นศพแรก ซึ่งก็ได้คำตอบว่าเป็นหมอทหารยศร้อยโท หลังจากนั้นตนก็ขอพบเพื่อถามรายละเอียด ปรากฏว่าทุกคนรู้ข่าวว่ามีผู้เสียชีวิตช่วงใกล้ค่ำ แต่ยังนั่งนับศพที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตนจึงได้ถามต่อไปว่า แล้วมีใครแจ้งรถคันหลังหรือไม่ ว่าการขนคนวิธีนี้ทำให้คนตาย ทำไมถึงปล่อยให้มีการขนย้ายคนมาอีก ถึงตีสองตีสาม ซึ่งก็ไม่มีใครตอบ
เมื่อถามว่า ต้องยอมรับว่าคนที่ถูกดำเนินคดีจะเป็นผู้ก่อเหตุจริงๆ แล้วมีหรือไม่ว่าจะมายอมรับว่าทำ เพื่อขอให้กฎหมายลงโทษตามกรรมที่ได้ก่อ นายกิจจา กล่าวว่าปัจจุบันชาวบ้านที่ถูกจับส่วนใหญ่ เขายอมรับว่าทำ แต่ทำเพราะแก้แค้นเจ้าหน้าที่รัฐ เนื่องจากคับแค้นใจ ถูกกดดันจากเจ้าหน้าที่ บางคนพ่อถูกยิง พี่ชายถูกเจ้าหน้าที่อุ้ม
นายกิจจา กล่าวถึงกรณีรัฐบาลโยนหินถามทางจะใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคง แทน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อควบคุมความสงบในภาคใต้ ว่า ใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคง ดีกว่า แต่ติดที่มาตรา 21 ที่บอกว่าเมื่อใครถูกต้องหาว่าทำความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง เมื่อเจ้าหน้าที่สอบส่วนแล้วคนร้ายกลับใจ ให้ส่งให้ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน เมื่อผู้ว่าราชการเป็นควรด้วย ก็จะส่งเรื่องให้กับพนักงานอัยการ ทำเรื่องส่งศาล เพื่อให้ศาลมีคำสั่งบังคับฝึกวิชาชีพ 6 เดือน ดูผิดเผินก็ดี แต่คำว่า “ผู้ต้องหากลับใจ” จะมีองค์กรไหนกล้าให้ทำงาน ส่วนถ้าใจใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน อาจทำให้ชาวบ้านคับแค้นใจ เพราะให้อำนาจเจ้าหน้าที่มากเกินไป
ร.ศ.ดร.อมรา กล่าวเสริมในประเด็นนี้ว่า ได้ยินคำตำหนิมาบ้างเหมือนกัน ในเรื่องการฝึกอาชีพ ที่ดูเหมือนรัฐบาลพยายามพัฒนาบุคลากร ให้มีงานทำ มีรายได้ แต่ขั้นตอนในกระบวนการฝึกอาชีพ มีการซักถาม ควบคุมอยู่ ไม่มีความเป็นอิสระ