“สุรพงษ์” พลิกประเด็นเอาดีเข้าตัว อ้างมาร์คตีบทสองหน้า ไม่จริงใจแก้ รธน. ส่งผลให้เสียงแตก กลุ่ม “บัญญัติ” ไม่เล่นด้วย เชื่ออนาคตอยู่ไม่ยืด พรรคร่วมฯ เตรียมลอยแพ ชี้เหตุยื้อเกมแก้ รธน.ตามมติพรรคร่วม หวังเตะถ่วงยืดอายุ
วันนี้ (16 ต.ค.) นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า วันนี้ชัดเจนแล้วว่ารัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีนั้นเล่นบทสองหน้าในการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาโดยตลอด และธาตุแท้ก็ปรากฏทันที หลังจากที่พรรคเพื่อไทยไม่ร่วมสังฆกรรมกับวิป 3 ฝ่าย อีกทั้งภายในพรรคประชาธิปัตย์เอง ก็เสียงแตกเหมือนกันหลังมี ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ในกลุ่มของนายบัญญัติ บรรทัดฐาน รองหัวหน้าพรรค ไม่เอาด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และจะลงชื่อคัดค้าน เพราะพรรคประชาธิปัตย์รู้ว่าไม่ได้ผลประโยชน์ คือ หากแก้เรื่องระบบเขตเลือกตั้ง ที่เปลี่ยนจากการแบ่งโซนไปเป็นระบบอื่นๆ พรรคประชาธิปัตย์ก็อาจได้ ส.ส.น้อย ตรงนี้จึงชัดเจนว่านายอภิสิทธิ์เล่นบทสองหน้าจริงๆ เพราะด้านหนึ่งทำเป็นอ้างว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะทำให้เกิดความสมานฉันท์ แต่ความจริงลึกๆ แล้วไม่อยากแก้ ส่วนที่จะทำท่าจะแก้นั้น เพราะที่ผ่านมานายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ไปรับปากกับพรรคร่วมรัฐบาล เช่น พรรคชาติไทยพัฒนา และพรรคภูมิใจไทยไว้ ต่อไปนายอภิสิทธิ์จะลำบากเพราะอาจทำให้พรรคร่วมรัฐบาลไม่พอใจ เสี่ยงต่อการทำให้รัฐบาลลำบากกับการหาผลประโยชน์เพื่อตุนเสบียงกรังไว้ในการเลือกตั้ง รวมทั้งปัญหาทุจริตต่างๆ ที่มีอยู่มากมาย สุดท้ายพรรคร่วมรัฐบาลอาจจะแตกกับพรรคประชาธิปัตย์ก็ได้
อย่างไรก็ตาม สำหรับความพยายามที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2550 นั้น มาจากเสียงเรียกร้องของพรรคเพื่อไทยตั้งแต่ครั้งยังเป็นพรรคพลังประชาชน โดยมีเป้าหมายหลักคือไข มาตรา 237 เพื่อให้พรรคของตัวเองพ้นจากโทษยุบพรรค กรณีที่กรรมการบริหารพรรคทุจริตเลือกตั้ง และต้องการแก้ไขมาตรา 309 เพื่อลบล้างคดีความของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เจ้าของพรรคตัวจริงที่หนีคดีไปอยู่ต่างประเทศ และภายหลังเหตุการณ์คนเสื้อแดงก่อจลาจลเผาเมืองในเดือนเมษายน 2552 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้สั่งให้ตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์และศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทางพรรคเพื่อไทยก็ส่งตัวแทนเข้าร่วมโดยหวังว่ามติของคณะกรรมการสมานฉันท์ที่ออกมาจะให้มีการแก้ไขในประเด็นที่พรรคเพื่อไทยต้องการ แต่เมื่อคณะกรรมการสมานฉันท์มีมติออกมา 6 ข้อและไม่เป็นไปตามความต้องการของตัวเอง พรรคเพื่อไทยก็ประกาศถอนตัวไม่เข้าร่วมในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยหันไปเรียกร้องให้นำรัฐธรรมนูญ 2540 มาใช้ ซึ่งจะัมีผลให้ความผิดของ พ.ต.ท.ทักษิณ ถูกลบล้างไปด้วย รวมทั้งอดีตกรรมการบริหารพรรคที่ถูกตัดสิทธิทางการเมืองจากคดียุบพรรคก็จะได้รับนิรโทษกรรมไปโดยปริยาย