คนที่ยอมเสียเงินเพื่อดูเคเบิลทีวียูบีซี หรือ ทรูวิชั่นส์ เพราะ อยากดูรายการที่ฟรีทีวีไม่มีให้ดู เช่น ภาพยนตร์ฮอลลีวู้ด กีฬา โดยเฉพาะฟุตบอลต่างประเทศ สารคดีและข่าว กับ เบื่อฟรีทีวีที่โฆษณามากเกินไป และนี่คือ เหตุผลที่สัญญาสัมปทาน ให้ผู้ได้รับสัมปทานเก็บเงินค่าสมาชิกรายเดือนได้ เพราะว่า ห้ามโฆษณา
เงื่อนไขข้อนี้ เป็นสาระสำคัญของสัญญาสัมปทาน ที่เขียนขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2532 สมัยรัฐบาล พลตรีชาติชาย ชุณหะวัณ ซึ่งมีรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กำกับดูแล อสมท. ชื่อร.ต.อ. เฉลิม อยู่บำรุง มีนายตำรวจนักธุรกิจที่ ร.ต.อ เฉลิ มเรียกว่า “ ไอ้สิน” เทียวไปเทียวมา ซื้อก๋วยเตี๋ยวไปรอหน้าห้อง ทุกวัน จนใจอ่อน ยอมยกสัมปทานตอบแทนค่าก๋วยเตี๋ยวให้กับ บริษัท ไอ.บี.ซี. ซึ่งต่อมา ขายกิจการให้กับยูทีวี ของเครือซีพี. ในปี 2541 และเปลี่ยนชื่อ เป็น ยูบีซี ก่อนจะมาเป็น ทรูวิชั่นส์ ในปัจจุบัน
ยูบีซี หรือทรู วิชั่นส์ เป็นผู้ประกอบการรายเดียวในธุรกิจเคเบิ้ลทีวี จึงเข้าข่ายธุรกิจผูกขาด จริงอยู่ ในต่างจังหวัดทั่วประเทศไทย มีผู้ให้บริการเคเบิลทีวีท้องถิ่นนับพันๆราย แต่เป็นรายเล็กๆ เก็บค่าสมาชิกเดือนละ สองสามร้อยบาท เป็นคนละตลาด คนละไชส์ เหมือนโลตัส กับร้านขายของชำในตลาด อย่าเอามาเหมารวมกันเพื่ออ้างว่า การตั้งราคาสมาชิกเป็นไปตามกลไกตลาด
การเป็นผู้ผูกขาด จึงมีอำนาจต่อรองเหนือผู้บริโภค เป็นหน้าที่ของเจ้าของสัมปทาน ผู้มอบอำนาจผูกขาดให้เอกชน ชน ในกรณีนี้คือ บริษัท อสมท. จำกัด ที่จะต้องดูแลผู้บริโภคด้วย แต่ อสมท. สนใจแต่ ส่วนแบ่งรายได้ ของตัวเองเท่านั้น อย่างอื่นไม่เอา
ทรูวิชั่นส์ มีวิธีเพิ่มรายได้จากค่าสมาชิก แบบไม่ต้องขึ้นค่าสมาชิก แต่ใช้วิธี สร้างแพ็คเก็จใหม่ๆ มานำเสนอ ใครที่ต้องการดู ก็ต้องจ่ายเพิ่ม อีก 100 -200 บาท ต่อเดือนต่อแพ็คเก็จ และเพื่อกระตุ้นให้สมาชิกยอมควักกระเป๋า จ่ายเพิ่ม ทรูวิชั่นส์ ใช้วิธี เอาหนังเก่าๆ สารคดีชุดเดิมๆ มาเวียนเทียนฉายซ้ำแล้วซ้ำอีก ใครอยากดูหนังใหม่ๆ หรืออยากให้ลูกหลานดูการ์ตูนสร้างสรรค์ ก็ต้องซื้อแพ็คเก็จพิเศษเพิ่ม
เป็นวิธีการที่ไม่เป็นธรรมกับผู้บริโภค ที่เป็นสมาชิก แต่ไม่รู้จะไปร้องเรียนกับหน่วยงานไหน ใครที่ไม่อยากถูกเอารัดเอาเปรียบต่อไป ถ้าไม่บอกเลิกเป็นสมาชิก ก็หันไปใช้บริการเคเบิลเถื่อน ดึงสัญญาณมาดูฟรีๆ เป็นการตอบโต้
การแก้ไขสัญญาให้ทรู วิชั่นส์ หาโฆษณาได้ ชั่วโมงละ 6 นาที เป็นการเอารัดเอาเปรียบอีกรูปแบบหนึ่งที่ทรู วิชั่นส์ ทำกับสมาชิก เดิมที่ห้ามโฆษณานั้ น เพราะมีรายได้จากค่าสมาชิกรายเดือนอยู่แล้ว ดังนั้น เมื่อ บริษัท อสมท. จำกัด ซึ่งเป็นเจ้าของสัมทานคู่สัญญา ยอมให้ ทรู วิชั่นส์ มีโฆษณาได้ ก็ต้องพิจารณาว่า ควรจะมีการลดค่าสมาชิกด้วยหรือไม่ เพราะการให้โฆษณา กับ การเก็บค่าสมาชิก เป็นเงื่อนไขควบคู่กัน
เรื่องนี้ ต้องตำหนิ อสมท. ซึ่งเป็นผู้กำกับดูแลสัมปทาน ที่ ไม่ได้คิดถึงผู้บริโภค คิดแต่ว่า ตัวเองจะได้ส่วนแบ่งรายได้ เพิ่มขึ้นอีก 6.5 เปอร์เซ็นต์ จากค่าโฆษณาที่ทรู วิชั่นส์ จะเจียดมาให้เท่านั้น บวกกับช่องรายการอีก 3 ช่องที่ทรู วิชั่นส์จะยกให้ฟรีๆ
ความพยายามที่จะแก้ไขสัญญาให้ทรู วิชั่นส์ โฆษณาได้ มีมาตั้งแต่คณะกรรมการ อสมท. ชุดก่อน ที่นายจารุพงษ์ เรืองสุวรรณ เป็นประธานคณะกรรมการ โดยมีนายธงทอง จันทรางศุ เป็นประธานคณะเจรจาแก้ไขสัญญา ก่อนที่นายจารุพงษ์ และนายธงทอง จะพ้นวาระการเป็นกรรมการ อสมท.ในวันที่ 24 เมษายน 2552 เพียงวันเดียว ที่ประชุมบอร์ด อสมท. วันที่ 23 เมษายน ก็อนุมัติให้ ทรูวิชั่นส์โฆษณาได้ แล้ว นายธนวัฒน์ วันสม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ อสมท ก็ รับลูกต่อ เซ็นชื่อ ปิดเกมแก้ไข สัญญาให้ทรู วิขั่นส์ โฆษณาได้ เมื่อวันที่ 8 ตุลาคมที่ผ่านมา
สมมติว่า นายธนินท์ เจียรวนนท์ อยากจะตอบแทนผู้มีพระคุณต่อทรู วิชั่นส์ เขาจะนึกถึงใครบ้าง ?
ก่อนหน้าที่ บอร์ด อสมท.ชุดเดิมจะอนุมัติให้ทรู วิชั่นส์ โฆษณาได้ ทรู วิชั่นส์ก็ได้ลักไก่ ละเมิดสัญญา ทำการโฆษณาไปแล้วนานถึงปีครึ่ง ซึ่งน่าจะมีรายได้ ไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาท ทำไม อสมท. จึงยอมรับเศษเงินแค่ 2 ล้านบาท ที่ทรูวิชั่นส์เจียดมาให้เพื่อลบล้างความผิด
ข้อมูลที่ถูกเปิดเผยออกมาในวันที่ นายธนวัฒน์ลงนาม แก้ไขสัญญา เป็นหลักฐานส่วนหนึ่งที่แสดงว่า ทรู วิชั่นส์ ยังทำผิดสัญญาอีกหลายเรื่อง เช่น การนำบริษัทออกจากตลาดหลักทรัพย์ การไม่แจ้งการลงทุนในเรื่องอุปกรณ์ จนต้องยอมเสียค่าปรับให้ อสมท. และยังมีอีกหลายเรื่อง ที่ อสมท. ยังไม่มีข้อสรุปว่า จะดำเนินการอย่างไร เช่น การขยายช่องเป็น 70 ช่อง จากเดิมอนุมัติเพียง 30 ช่องเท่านั้น ส่วนแบ่งรายได้ค่าสมาชิกที่ อสมท ได้รับที่ยังขาดหายไป รวมถึงกรณีที่ต้องโอนทรัพย์สินให้เป็นของ อสมท แต่ทรู วิชั่นส์ ใช้วิธีเช่าจากบริษัทอื่น จึงไม่สามารถโอนให้ อสมท ได้ ซึ่งถือเป็นการผิดสัญญา