อาจารย์ใหญ่ พรรค ปชป.สะกิด “มาร์ค” ให้ประกาศจุดยืนต่อแนวทางแก้ไข รธน.ให้ชัดเจน ไม่หวั่นแม้จะแพ้เสียงมากในสภา แต่ขอให้เคารพมติของ ปชช.เกรงข้อครหามัดมือชก นัดประชุมสมาชิกพรรคสรุปจะแก้ รธน.หรือไม่สัปดาห์หน้า
วันนี้ (8 ต.ค.) นายนิพนธ์ วิศิษฐ์ยุทธศาสตร์ ส.ส.สัดส่วน พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะกรรมการเสียงข้างน้อย อดีตคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อปฏิรูปการเมืองและแก้ไขรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า หลังจากเกิดความไม่ชัดเจนในส่วนของวิป 3 ฝ่าย ว่า จะแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพราะขณะนี้ฝ่ายค้านก็ชักเข้าชักออก ดังนั้น จึงเห็นว่า พรรคประชาธิปัตย์ ควรจะมีการกำหนดจุดยืนเรื่องนี้ให้ชัดเจนอีกครั้ง ว่าจะแก้หรือไม่ หรือจะแก้เฉพาะบางมาตราเท่านั้น ซึ่งในการประชุม ส.ส.และกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อวันอังคารที่ 6 ต.ค.ที่ผ่านมา นายบัญญัติ บรรทัดฐาน ส.ส.สัดส่วน ในฐานะประธานคณะทำงานศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรค เห็นว่า ที่ผ่านมา พรรคได้ประกาศจุดยืนมาตลอดว่า ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่เมื่อมติจากการหารือของวิป 3 ฝ่าย ร่วมกับนายกฯ เห็นด้วยกับข้อเสนอของคณะกรรมการสมานฉันท์ ดังนั้น จึงเห็นว่า พรรคประชาธิปัตย์ควรจะมีการประกาศจุดยืน และแนวทางว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือจะเห็นด้วยเฉพาะบางประเด็น บางมาตราเท่านั้น และประกาศให้สังคมรับทราบ หากจะแพ้เสียงข้างมากในสภาก็ไม่เป็นไร เพราะจุดยืนของพรรค จะต้องเอาประชาชนเห็นที่ตั้ง เพื่อป้องกันไม่ให้พรรคประชาธิปัตย์ถูกเหมารวมว่าแก้ไขรัฐธรรมนูญ ครั้งนี้เพื่อประโยชน์นักการเมืองเอง
นายนิพนธ์ กล่าวว่า เรื่องนี้ นายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ ก็เห็นด้วยแนวทางของนายบัญญัติ ที่พรรคควรจะมีมติและหาจุดยืนร่วมกันว่า จะทำอย่างไร เพราะพรรคไม่ได้เป็นพรรคที่เรียกร้อง ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งที่ประชุมได้ข้อสรุปตรงกันว่าจะมีการนัดประชุม เพื่อกำหนดจุดยืนของพรรคในการแก้ไขรัฐธรรมนูญอีกครั้ง ในการประชุม ส.ส.และกรรมการบริหารพรรคในสัปดาห์หน้า
เมื่อถามถึงกรณีคณะกรรมการกฤษฎีกา ให้ความเห็นขั้นตอนการทำประชามติ โดยจะต้องทำก่อนที่จะมีการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เข้าสู่การพิจารณาวาระ 1 พรรคประชาธิปัตย์มีจุดยืนเรื่องนี้อย่างไร นายนิพนธ์ กล่าวว่า ความเห็นของกฤษฎีกา เป็นแนวความเห็นตามกฎหมาย ซึ่งทุกรัฐบาลก็ถือเป็นแนวปฏิบัติตลอดมา ซึ่งขั้นตอนดังกล่าวตรงกับจุดยืนของพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งถือเป็นแนวทางที่ถูกต้อง ที่จะต้องมีการสอบถามความคิดเห็นของประชาชนก่อนที่จะมีการเสนอร่างเข้าสู่การพิจารณาของสภา เพราะหากผ่านวาระ 1 ไปแล้วเท่ากับเป็นการมัดมือชกประชาชน