xs
xsm
sm
md
lg

รายงานพิเศษ : วิเคราะห์ “ชวลิต” เข้า “พท.”- “สนธิ” นั่งหัวหน้า “ก.ม.ม.”!!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สนธิ ลิ้มทองกุล หัวหน้าพรรคการเมืองใหม่
อมรรัตน์ ล้อถิรธร....รายงาน

ช่วงนี้มีสถานการณ์การเมืองที่น่าจับตาและวิเคราะห์อย่างน้อย 2 เรื่อง คือ กรณี พล.อ.ชวลิต หรือ “บิ๊กจิ๋ว” เข้าเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย ส่อนัยยะอะไรบ้าง และจะเป็นจุดแข็งหรือจุดอ่อนของพรรคนี้กันแน่ ส่วนอีกกรณี คือ พรรคการเมืองใหม่ ของพันธมิตรฯ ที่ได้ตัวหัวหน้าและกรรมการบริหารพรรคเรียบร้อยแล้ว ซึ่งเป็นไปตามคาด “สนธิ ลิ้มทองกุล” ได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรค โดยไร้คู่แข่ง การก่อกำเนิดของพรรคการเมืองอาจไม่ใช่เรื่องยาก แต่การจะดำรงความเป็นพรรคของภาคประชาชนไว้ไม่ให้ดับสูญไป อาจไม่ใช่เรื่องง่าย ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง

คลิกที่นี่ เพื่อฟังรายงานพิเศษ

สถานการณ์การเมืองเดือน ต.ค.เปิดฉากด้วยการที่ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกฯ หอบนายทหารคนสนิทจำนวนหนึ่ง ไปสมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย (พท.) เมื่อวันที่ 2 ต.ค. พร้อมเปิดแถลงข่าวถึงเหตุผลที่หวนคืนสู่สนามการเมืองอีกครั้ง ว่า เนื่องจากไม่สามารถทนเห็นประเทศชาติแตกแยกอย่างหนักต่อไปได้ ส่วนเหตุผลที่เลือกพรรคเพื่อไทย เพราะได้สอบถามประชาชน โดยเฉพาะคนจนและคนด้อยโอกาสแล้ว ทุกคนชี้ให้มาอยู่ที่นี่ ซึ่งได้ตั้งความหวังว่า จะทำให้พรรคเพื่อไทยเป็นพรรคมหาชน เป็นพรรคของมวลชน และเป็นพรรคการเมืองหลักของประเทศอย่างแท้จริง พร้อมยืนยัน พรรคเพื่อไทยจะไม่ไปแย่งชิงอะไรกับใคร แต่จะร่วมมือร่วมใจกันช่วยเหลือบ้านเมือง โดยเสริมสิ่งที่ได้ทำกันอยู่แล้ว และเพิ่มเติมในสิ่งที่เป็นประโยชน์ พล.อ.ชวลิต ยังพูดทำนองยอมรับด้วยว่า ได้ทิ้งจุดยืนเรื่องโซ่ข้อกลางที่เคยประกาศก่อนหน้านี้แล้ว “วันนี้ไม่ใช่โซ่ข้อกลาง แต่ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของคู่ขัดแย้ง แล้วก็แก้ไขจากจุดนี้ จะง่ายกว่าการเป็นโซ่ข้อกลาง”

นอกจากสถานการณ์การเมืองเรื่องพรรคเพื่อไทย ที่หัวหน้าพรรคตัวจริงอยู่ที่ดูไบ แต่หัวหน้าพรรคคนใหม่อาจเป็น พล.อ.ชวลิต แล้ว ยังมีเรื่องของพรรคน้องใหม่ที่เกิดจากภาคประชาชนอย่าง “พรรคการเมืองใหม่ (ก.ม.ม.)” ที่ได้เห็นโฉมหน้าของหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคกันไปเรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 6 ต.ค.โดยผู้ได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรค ก็ไม่ผิดจากความคาดหมาย คือ นายสนธิ ลิ้มทองกุล 1 ในแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ พร้อมชูอุดมการณ์ “ซื่อสัตย์ เสียสละ กล้าหาญ ทำงานเป็น”

ลองมาดูกันว่า นักวิชาการจะมองการจัดทัพเสริมทีมของพรรคเพื่อไทยอย่างไร การดึง พล.อ.ชวลิตเข้ามา จะทำให้พรรคมีความแข็งแกร่งขึ้นจริงหรือไม่ หรือจะยิ่งทำให้ตกต่ำลงกันแน่? และในส่วนของพรรคการเมืองใหม่ ที่จะมี นายสนธิ ลิ้มทองกุล เป็นผู้นำในการขับเคลื่อน นักวิชาการจะเห็นด้วยหรือไม่ และจะมีข้อแนะนำอย่างไร?

ผศ.ทวี สุรฤทธิกุล อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช วิเคราะห์สาเหตุที่ พล.อ.ชวลิต สมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย ว่า น่าจะมีแรงผลัก 2 ทาง 1.เป็นความต้องการของ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่ต้องการให้พรรคเพื่อไทย มีหัวหน้าในการต่อสู้ที่ดูดีหน่อย จึงทาบ พล.อ.ชวลิต เข้ามา และ 2.น่าจะเป็นเรื่องของลิ่วล้อบริวารของ พล.อ.ชวลิต ที่ยังจมไม่ลง หรืออยากเกาะ พล.อ.ชวลิต เข้ามามีอำนาจวาสนา จึงยุให้ พล.อ.ชวลิต หวนคืนสู่การเมืองอีกครั้ง ทั้งที่ความจริง พล.อ.ชวลิต น่าจะจบบทบาททางการเมืองตั้งแต่ปี 2540 แล้ว แต่ก็ยังยอมลดตัวลงมาเป็นรองนายกฯ ในสมัยรัฐบาลทักษิณ และรัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ซึ่งในที่สุดก็จบลงแบบล้มเหลวและถอดใจ จึงคิดว่า การเข้าพรรคเพื่อไทยของ พล.อ.ชวลิต ครั้งนี้ อาจจะเป็นจุดอ่อนของพรรคมากกว่าจุดแข็ง และไม่รู้ว่าจะจบลงด้วยการถอดใจอีกหรือไม่

“แก (พล.อ.ชวลิต) น่าจะจบบทบาทได้ตั้งแต่ในปี 2540 แล้ว ที่เกิดวิกฤตค่าเงินบาท แต่ตอนนั้นแกก็คอนโทรลใครไม่ได้ คุมรัฐมนตรีคลังไม่ได้ อะไรไม่ได้เหล่านั้น เพราะฉะนั้น แต่ที่แกกลับเข้ามาได้ ก็เพราะมีแรงหนุนอย่างนี้ในตัวลูกน้องบริวารและในสังคม โดยเฉพาะในทางกองทัพ ก็เข้าใจว่า มีกลุ่มของคุณชวลิตเยอะอยู่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นการที่คุณชวลิตกล้าแลก ก็ไม่มีอะไรจะแลก เพราะในสิ่งที่ทำไป มันไม่มีอะไรจะเสียไปกว่านี้แล้ว และยิ่งมาระยะหลังมาเป็นรัฐบาลในสมัยคุณทักษิณเอง ขนาดลดตัวลงมาเป็นรองนายกฯ และอาสาทำโน่นทำนี่ สมัยก่อนโน้นก็มีเรื่องของฮารับปันบารูทางภาคใต้ ก็ไม่สำเร็จ อีสานเขียวก็แย่ อีสานเขียวเนี่ยมีผลกระทบจนกระทั่งต้องเกิดกองทุนฟื้นฟูเกษตรกรมาช่วยล้างหนี้ให้เกษตรกรที่ยังคาราคาซังกันอยู่มาถึงทุกวันนี้ เพราะฉะนั้นคุณชวลิตเนี่ยถ้าเผื่อคนที่เขาติดตามการบริหารบ้านเมือง ผมคิดว่าที่จริงน่าจะเป็นจุดอ่อนของเพื่อไทยด้วยซ้ำ ถ้าเผื่อขึ้นมา เพราะจะเป็นจุดโจมตีได้มาก”

“อย่างไรก็ตาม ผมก็ยังเชื่อว่า สิ่งที่คุณชวลิตกล้าเข้ามารับบทบาททางการเมืองอีกครั้งหนึ่ง ก็เป็นเพราะทั้งฝ่ายเพื่อไทยเอง หรืออาจจะเป็นคุณทักษิณอยู่ด้วยนั้น และฝ่ายลูกน้องของคุณชวลิตด้วย ก็คิดว่าน่าจะดันขึ้นมา เนื่องจากไม่มีใครที่ดูดีกว่านี้ เพราะฉะนั้นพอเรามองไปในอีกประเด็นหนึ่งนั้น ก็อาจจะมองไปได้ว่า คุณชวลิตเองก็คงจะทำอะไรไม่ได้มากหรอก ก็อาจจะขึ้นมาเป็นเครื่องประดับชั่วคราวที่จะมาโชว์ในช่วงการเลือกตั้งครั้งต่อไป แล้วก็หวังว่า คุณชวลิต จะพาพรรคเพื่อไทยเอาชนะเลือกตั้งในอีสานได้ ผมก็ไม่แน่ใจ เพระการเลือกตั้งในชัยชนะนั้น ผมว่าระยะหลังนี่ไม่ใช่ของคุณชวลิตหรอก ของคุณทักษิณเองเสียมากกว่า เพราะฉะนั้น คุณชวลิตอาจจะต้องเชื่อมกับคุณทักษิณ แล้วก็ยิ่งอาจจะทำให้พรรคเพื่อไทยเสียหายในแง่ของการที่จะเอาคนที่ยังทำผิดกฎหมาย อาชญากรเอามาในการเชิดชู ระยะหลังนี่คุณทักษิณก็เริ่มถูกโจมตีตรงนี้แล้วนะว่า เป็นผู้ที่สร้างปัญหา ก็เลยคิดว่ามันจะเป็นจุดอ่อนในกรณีที่มีคุณชวลิตอยู่ ผมไม่คิดว่าคุณชวลิตเองจะมีอิทธิพลมีบทบาทอะไรมาก โดยเฉพาะในพรรคเพื่อไทย ผมคิดว่า พรรคเพื่อไทยก็จะมีแต่เสือสิงห์กระทิงแรดเต็มไปหมด ไม่มีใครยอมใคร ทุกคนล้วนแต่เป็นใหญ่กันทั้งสิ้น มีอาณาจักรของตนเองทั้งสิ้น มันก็เลยดูแล้ว ผมคิดว่าน่าจะเป็นแค่สีสันเล็กๆ ในช่วงนี้ และไม่น่าจะมีผลทางการเมืองอะไรใหญ่โตอะไรนัก และผมยังนึกไปด้วยว่า ท้ายที่สุดแล้ว เมื่อการเลือกตั้งมีใครที่ดีกว่าคุณชวลิต ผมว่าพรรคเพื่อไทย และคุณทักษิณก็อาจจะเลือกคนใหม่นั้นก็ได้ เพราะฉะนั้นก็อาจจะเป็นการถอดใจของคุณชวลิตเอง ซึ่งแกก็ถอดใจบ่อยๆ”


ด้าน รศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร หัวหน้าภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พูดถึงกรณีที่ พล.อ.ชวลิต สมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย ซึ่งอาจจะเป็นหัวหน้าพรรคคนต่อไปว่า ถือเป็นความตกต่ำทั้งของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และพรรคเพื่อไทย รวมทั้ง พล.อ.ชวลิต เองที่มาจับมือกันในช่วงนี้ โดยในส่วนของ พ.ต.ท.ทักษิณ และพรรคเพื่อไทยนั้น เข้าทำนองว่า “ยามไม่มีดอกไม้แล้ว ดอกหญ้าก็ยังสวยงาม” จึงทาบ พล.อ.ชวลิต เข้ามา แต่ในส่วนของ พล.อ.ชวลิต เอง หากขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทยจริงๆ ก็อาจจะเสียคนได้ หากมีปัญหาเรื่องความขัดแย้งหรือผลประโยชน์ต่างๆ ตามมา

“การกลับเข้ามาคราวนี้ มันเป็นความตกต่ำของทั้งคุณทักษิณและคุณชวลิตที่จะต้องมาจับมือกันใน พ.ศ.นี้ แน่นอนคุณสมัคร (สุนทรเวช) (พ.ต.ท.ทักษิณ) ก็ใช้คุณสมัครไปเรียบร้อยแล้ว คุณสมชาย (วงศ์สวัสดิ์) นี่ ถือว่ามันเป็นอุบัติเหตุทางการเมืองมากกว่า ตอนที่คุณสมัคร ถูกพิพากษาและให้พ้นจากตำแหน่งไป คุณเนวิน ก็อยากให้คุณสมัครเป็นต่อด้วยซ้ำไป ทีนี้ พล.อ.ชวลิต มาตอนนี้ก็อย่างที่ใครๆ ก็พูดไว้ว่า คงเรื่องเกี่ยวกับคดีความ และคุณทักษิณเองก็พอดีหาใครไม่ได้ และจะเป็น คุณยงยุทธ วิชัยดิษฐ เป็น อ.สุชาติ (ธาดาธำรงเวช) ก็ใช้ไปแล้ว และคุณยงยุทธ เอง ก็ไม่มีความเข้มแข็งอะไรที่จะเป็นหัวหน้าพรรคได้ คุณบิ๊กจิ๋วท่านเองท่านก็คิดว่าท่านยังพอไหวน่ะ ความไหวนี่คือไหวในฐานะในสภาพที่แบบว่า เขาเรียกว่า “ยามไม่มีดอกไม้แล้ว ดอกหญ้าก็ยังสวยงาม” บิ๊กจิ๋วก็เลยขึ้นมามีบทบาทตรงนี้ท่ามกลาง ผมคิดว่าเป็นความตกต่ำของพรรคเพื่อไทย จริงๆ พรรคเพื่อไทยมันไม่มีอะไรนะ สิ่งสำคัญอยู่ที่ตัวคุณทักษิณเท่านั้น ขณะเดียวกัน คุณทักษิณก็ไม่มีอะไร ถ้าไม่มีพรรคเพื่อไทย และพี่น้องเสื้อแดงคอยทำงานอยู่ในกรุงเทพฯ มันต่างคนต่างพึ่งพากันอย่างเหนียวแน่นจริงๆ จริงๆ ก็ไม่แฮปปี้กันและกัน จริงๆ แล้วคนในเพื่อไทยหลายคนที่แบบคล้ายๆ ไปอยู่กับเนวินยังจะดีกว่า เพราะฉะนั้นคุณชวลิต ก็อยู่ในสภาพที่หลายๆ คนก็บอกอัลไซเมอร์แล้ว เพราะฉะนั้นจึงเป็นลักษณะของความไม่รู้ มันไม่มีทางไปด้วยกันทั้งนั้น ก็เลยลองจับมือกันตรงนี้ และเรื่องคดีความ เรื่องเงินเรื่องทองก็ต้องมีเกี่ยวข้อง เพราะฉะนั้นก็เป็นจุดที่มาพบกันได้ระหว่างคุณทักษิณและคุณชวลิต แต่ก็อย่างที่คุณเนวินคาดการณ์ไว้ก็น่าสนใจบอกว่า คงอยู่ไม่นาน เดี๋ยวก็สละอีก คือ หนีไปอีกแล้ว ถ้าเกิดวิกฤตก็หนีไปอีกแล้ว แล้วตอนนี้ใครบอกบิ๊กจิ๋วเป็นลูกป๋าแล้วทำไง ตอนนี้ผมคิดว่า เป้าโจมตีเกี่ยวกับป๋า ผมคิดว่าก็ลดทอนลงไปบ้าง แต่ยังไม่ได้ลดหมดนะ ท่านก็เก็บตัวของท่านอย่างเหมาะสม ท่านก็ไม่อยากให้มันเป็นปัญหากับใคร ทีนี้บิ๊กจิ๋วมาเป็นตรงนี้ก็คิดว่า คือ เพื่อไทยเองก็ต้องระวังนะ เพราะบิ๊กจิ๋วท่านคิดอยู่เสมอว่าท่านเป็นขงเบ้ง และท่านเองท่านก็คิดเสมอว่าท่านเป็นโซ่ข้อกลาง ท่านพูดถูกนะว่า มาเป็นส่วนหนึ่งของคู่ขัดแย้ง มันจะแก้ได้ง่ายกว่า นี่เรื่องจริงนะ เรื่องจริงคือแบบถ้าถึงเวลาเนี่ย สมมติถ้าบิ๊กจิ๋วเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทยแล้ว แล้วเป็นคนไปต่อรองกับพรรคอื่นๆ ดีไม่ดีหมายความว่า ตัวบิ๊กจิ๋วเองจะสามารถที่จะต่อรองได้อย่างมีน้ำหนักมากขึ้นในฐานะเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทย แต่ถ้าอยู่ตรงกลาง เขาก็คิดว่าเป็นตาอยู่ เขาก็ไม่เอา เพราะฉะนั้นบิ๊กจิ๋วมาอยู่ตรงนี้ ท่านก็คิดของท่านอย่างนั้นจริงๆ ว่าท่านจะทำได้ แต่ถามว่าจะทำได้มากน้อยแค่ไหน ผมคิดว่ายาก”

“(ถาม- คุณจตุพร พรหมพันธุ์ บอกว่า พล.อ.ชวลิต เนี่ย เริ่มอยู่ห่างจากคำว่าลูกป๋าแล้ว แต่ถ้าฟังคำพูดของ อ.ดูเหมือนว่า สมมติว่าถ้าวันหนึ่งพรรคเพื่อไทย หรือคุณทักษิณ พยายามจะครอบงำความคิดหรือการกระทำของ พล.อ.ชวลิต แสดงว่า อ.ก็ไม่แน่ใจหรอกว่า ถึงวันนั้น พล.อ.ชวลิต จะยอมให้ครอบงำมั้ย หรือจะยอมอยู่ฝ่าย พ.ต.ท.ทักษิณ หรือเปล่าใช่มั้ย?) การเข้ามาอยู่พรรคเพื่อไทย ก็ถือว่ายอมเยอะแล้วนะ ที่ยอมนี่ไม่ใช่ยอมเพราะอะไร ยอมเพราะเขาอยากเล่นการเมือง เพราะยังไม่อยากพัก คือ ปัญหาเยอะเหมือนกัน อย่าลืมนะคุณทักษิณเอาคุณสมัครมา ตอนนั้นเพื่อจะทำให้ภาพความจงรักภักดีมันเกิดขึ้น ตอนนี้เอาบิ๊กจิ๋วเข้ามาเพื่อทำให้ภาพของการไม่เป็นปัญหากับป๋าเกิดขึ้น แล้วมันใช้ได้ผลมั้ยในกรณีคุณสมัคร คือ คุณสมัครเองอาจจะไม่มีใครสงสัยว่า คุณสมัครไม่จงรักภักดีนี่ไม่มีใครสงสัยนะ ไอ้ที่เหลือเขายังสงสัยอยู่ดี เพราะฉะนั้นเชิดบิ๊กจิ๋วขึ้นมา เพื่อจะให้ดูว่าไม่มีปัญหากับป๋าเนี่ย มันก็ไม่มีประโยชน์ เพราะบิ๊กจิ๋วไม่ได้มีเพาเวอร์เหมือนสมัยก่อนนะ คุณสมัครก็ไม่ได้มีเพาเวอร์เหมือนสมัยก่อน คุณสมัครก็คุมคนในพรรคไม่ได้ บิ๊กจิ๋วก็จะคุมคนในพรรคไม่ได้อีกเหมือนกัน เพราะตราบใดที่ทำตัวเป็นนอมินีเนี่ย มันศักดิ์ศรีเท่ากันหมด เพราะหัวหน้าพรรคตัวจริงอยู่ที่ดูไบ แต่ถามว่าภาพพจน์ดีกว่าคุณยงยุทธมั้ย ดีกว่า แต่ถามว่ามันจะมีผลทางการเมืองมั้ย คงน้อยมาก และมันก็คือ ความหายนะครั้งที่ 2 ของพรรคเพื่อไทย และเป็นความหายนะของบิ๊กจิ๋วด้วย คืออย่างนี้ ผมจะเรียนให้ท่านผู้ฟังฟังว่า การที่ทุกคนรับคำสั่งหรือต้องเจรจาผ่านคุณทักษิณ ก็หมายความว่า คุณเฉลิมก็ดี ใครก็ดี เขาจะรู้สึกว่าเขาไม่ได้ต่างกับคุณชวลิตเลย เพียงแต่คุณชวลิตมีตำแหน่งเป็นหัวหน้าพรรค แต่จริงๆ แล้วมันก็เท่ากันนั่นแหละ เพราะเป็นเพียงแค่นอมินี เพียงแต่ว่าคุณเฉลิมอาจจะเคารพบิ๊กจิ๋วเป็นการส่วนตัว แต่จะไม่วิจารณ์แกจะไม่ว่าร้ายบิ๊กจิ๋วอะไรเลยที่ผ่านมา แต่เมื่อมาอยู่เป็นหัวหน้าพรรคแล้ว ผมคิดว่าก็ไม่แน่ ถ้ามันมีความขัดแย้ง มีเรื่องผลประโยชน์หรืออะไรต่างๆ ก็คิดว่าจะเสียคนก็คราวนี้แหละ”


ส่วนกรณีที่พรรคการเมืองใหม่ ได้ตัวหัวหน้าพรรคแล้ว คือ นายสนธิ ลิ้มทองกุล นั้น ผศ.ทวี สุรฤทธิกุล อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช มองว่า ไม่ได้ผิดจากความคาดหมาย เพราะสุ้มเสียงของพันธมิตรฯ ส่วนใหญ่ก็สนับสนุนนายสนธิ อย่างแข็งขันตั้งแต่เริ่มก่อตั้งพรรคแล้ว อย่างไรก็ตาม ผศ.ทวี บอกว่า การที่พรรคการเมืองใดจะอยู่ยั่งยืนยาวนานแค่ไหน หรือได้รับเลือกตั้งเข้ามาหรือไม่ ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายๆ อย่าง เช่น โครงสร้างและเครือข่ายของพรรค ต้องดูว่าใครเป็นหัวหน้าพรรค และกรรมการบริหารพรรค 2.ทุน ต้องมีความหนักแน่นและมั่นคงพอสมควร ซึ่งในส่วนของพรรคการเมืองใหม่ เห็นได้ว่า การต่อสู้ของพันธมิตรฯ มีความหนักแน่นจริง แต่ในแง่ความมั่นคงของทุนนั้น ไม่แน่ใจ 3.ขบวนการต่อสู้ การรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง ซึ่งต้องดำเนินการอย่างมืออาชีพและมีการบริหารจัดการที่ดี ซึ่งมองว่า พันธมิตรฯ น่าจะมีมืออาชีพอยู่พอสมควร และ 4.เสียงสนับสนุนจากประชาชน ซึ่งบางครั้งคนไทยก็เอาแน่เอานอนไม่ค่อยได้ว่าจะเลือกพรรคการเมืองใด ขึ้นอยู่กับ “กระสุน” และ “กระแส” แต่บางครั้งแม้มีกระสุน แต่ก็แพ้กระแสได้

“ในการเลือกตั้งที่จะมาถึงเนี่ย ต้องดูว่าจะมีอะไรเป็นแรงดูงดูดอารมณ์ร่วมของประชาชน ซึ่งมีอยู่ 2-3 กระแสที่เราพอคาดเดาได้ กระแสคุณทักษิณยังจะแรงอยู่หรือไม่ 2.หรือเป็นกระแสคุณอภิสิทธิ์ ซึ่งอาจจะทำงานอะไรหวือหวาขึ้นมาเข้าตา อันนี้ก็คาดเดายาก เพราะเท่าที่จะชูนี่ก็ยังไม่มีฝีมือ แรงที่ 3 ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ ก็คือ พูดถึงพรรคการเมืองใหม่เนี่ย เขาจะมีลูกเล่น มีอะไรมาดึงดูดความสนใจของประชาชนได้หรือไม่ เช่น ในสมัยก่อน พรรคพลังธรรม ก็มี มหาจำลอง ยกตัวอย่าง หรืออาจจะมีกระแสอื่น เราก็ไม่รู้ว่าการเมืองไทยช่วงนั้นจะมีวิกฤตอะไรเกิดขึ้นอีกมากมาย วิกฤตชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ย่อมเกิดขึ้นได้ทั้งสิ้น แล้วแต่ใครจะหยิบประเด็นต่างๆ เหล่านี้มา วันดีคืนดีช่วงนั้นเราอาจจะรบกับเขมร เราอาจจะรบกับกัมพูชา ก็อาจจะเป็นจุดได้เปรียบของพันธมิตรฯ ซึ่งชูเรื่องนี้เป็นนโยบายสำคัญ หรือในช่วงนั้นเกิดมีปัญหาเกี่ยวกับคดีความคุณทักษิณ ซึ่งอาจจะตัดสินออกมาแล้วก็มีลงโทษอีก กระแสคุณทักษิณก็อาจจะวูบลง หรือไม่แน่ อาจจะสงสารคุณทักษิณมากขึ้น เพราะฉะนั้นด้วยปัจจัย 4 อย่าง โครงสร้างพรรคว่าใครอยู่ในพรรค ในเรื่องของตัวทุนแน่นหนามั่นคงหรือไม่ 3.เรื่องการรณรงค์หาเสียง สุดท้ายก็คือกระแสที่อาจจะเกิดขึ้น ก็คาดเดายากว่าพรรคการเมืองไหนจะอยู่ในจุดไหนของในปัจจัยทั้งหลายเหล่านี้”

“มีบางคนก็ค่อนข้างจะปรามาสว่า พรรคการเมืองใหม่ อาจจะเป็นพรรคเฉพาะกิจ เกิดเลือกตั้งขึ้นมา ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ก็อาจจะมีการแยกย้ายล้มเลิกกันไป ผมก็ไม่อยากจะให้เป็นอย่างนั้น เพราะพรรคการเมืองไทยมันก็มีประวัติศาสตร์เหมือนกันว่า หลายๆ พรรคฟอร์มดี แต่พอเลือกตั้งไปแล้ว ไม่มี ส.ส.หรือ ส.ส.น้อย ก็ฟอร์มตกกลายเป็นมวยรอง และบางที ส.ส.ที่เข้ามาเองก็ขัดแย้งกัน และก็อย่าลืมนะว่า เมื่อเข้ามาแล้ว การที่จะเปลี่ยนแปลงความคิดเห็นไปเข้าด้วยฝ่ายอื่น เช่น เจอคนที่มาขอเสียงสนับสนุน อาจจะต้องเปลี่ยนอุดมการณ์อะไรไปอีก เพราะฉะนั้นความเปราะบางของพรรคการเมืองใหม่เนี่ย มันไม่ใช่อยู่ในช่วงของการก่อตั้งเท่านั้น แต่มันยังเป็นช่วงการเลือกตั้ง และหลังเลือกตั้งว่าจะเป็นอย่างไรด้วย ซึ่งผมก็คาดเดายาก เพราะเราก็ไม่ได้อยู่วงใน ไม่รู้ว่าเป็นอย่างไร เรื่องนี้ต้องวิเคราะห์กันในวงในด้วยข้อมูลข้างใน ว่า เป็นอย่างไร ผมก็ต้องถือว่าในขั้นนี้ก็ต้องเชื่อในน้ำจิตน้ำใจของผู้ที่มาร่วมกันสร้างพรรคการเมืองใหม่นี้ว่า น่าจะมีความจริงจังจริงใจ และถ้าเผื่อเป็นอย่างนั้นแล้ว การต่อสู้ทางการเมืองก็จะแข็งแรง และผมเคยได้ยินคุณสนธิพูดถึงว่า แม้จะได้รับเลือกตั้งเท่าไหร่ก็แล้วแต่ สิ่งหนึ่งที่จะทำ ก็คือ จะสร้างแบบอย่างที่ดีทางการเมืองให้แตกต่าง หมายถึงถ้าเผื่อ ส.ส.ที่มีอยู่เนี่ยมันเลว ก็ต้องทำตัวให้ดีกว่า และจะไม่ล้มเลิกอุดมการณ์ ใครจะมาเป็น ส.ส.ของพรรคการเมืองใหม่ จะต้องยึดในแนวทางนี้ ผมจำไม่ได้ว่า มี motto อยู่ 4-5 ประการในการที่จะผูกพันเป็นคำมั่นสัญญาร่วมกันในการทำพรรคการเมืองใหม่นี้ ซึ่งเท่าที่จำได้ก็มีข้อหนึ่งเรื่องของการที่จะไม่ละทิ้งล้มเลิกอุดมการณ์นี้ด้วย”


ด้าน รศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร หัวหน้าภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พูดถึงกรณีที่ นายสนธิ ลิ้มทองกุล ได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองใหม่ ว่า แม้ว่าส่วนตัวจะเคารพคุณสนธิ เพราะรู้จักกันมานาน ตั้งแต่สมัยที่ประท้วงเรื่องพฤษภาทมิฬ แต่ไม่เห็นด้วยที่พันธมิตรฯ ตั้งพรรคการเมือง อยากให้เคลื่อนไหวในภาคประชาชนมากกว่า แต่เมื่อตั้งพรรคแล้ว และคุณสนธิได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรค ก็ยังอยากให้คุณสนธิทำหน้าที่สื่อมากกว่ามาเป็นหัวหน้าพรรค เพราะแม้คุณสนธิจะมีคุณสมบัติพร้อมที่สุดต่อการเป็นหัวหน้าพรรค แต่หัวหน้าพรรคการเมืองไม่ควรเป็นเจ้าของสื่อ ดังนั้น ส่วนตัวแล้วคิดว่า หากเป็นไปได้ คุณสนธิควรเป็นหัวหน้าพรรคเฉพาะกิจ เพื่อวางรากฐานให้กับพรรคเท่านั้น เมื่อจะมีการเลือกตั้ง ก็ควรลาออกแล้วให้คนอื่นขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรคแทน

“ถึงแม้คุณสนธิจะมีคุณสมบัติพร้อม ไม่ว่าจะเป็นความรู้ในระดับสากล ความเป็นผู้นำ ภาวะผู้นำเพียบพร้อม แต่ท่านเป็นเจ้าของสื่อ มันจะมีปัญหาซ้ำรอยเหมือนกับที่เกิดขึ้นมาในอดีต และจะแยกระหว่าง ASTV กับหัวหน้าพรรคการเมืองใหม่ ได้ยังไง จะทำให้สื่อมีความเป็นอิสระได้ยังไง ถ้าคุณสนธิเป็นหัวหน้าพรรคตอนนี้เนี่ย ก็อาจจะ เอาละ! ไหนๆ เป็นก็เป็นนะ ไหนๆ มันมาแล้ว ผมก็ยังยืนยันว่า ผมเป็นพันธมิตรฯ น่ะนะ ในแง่หนึ่งก็เป็นความเห็นอกเห็นใจอยู่ แต่ทีนี้ก็คือว่า ถ้ามาแล้วแบบนี้ก็คือ ก็พยายามจะวางรากฐานอะไรไป ถึงเวลาก็ลาออกซะ แค่นั้นเอง ก่อนเลือกตั้งก็ลาออกไปเลย (ถาม-วางรากฐานให้กับพรรคการเมืองใหม่ไป ก่อนจะเลือกตั้งก็ลาออก?) ลาออกไปเลย ยิ่งจะสวยงาม คือ ยังมีอะไรที่เรายังปรับตัวทัน เรายังมีการเคลื่อนไหวได้ คือ มันไม่ได้เสียหายนักหรอก ตอนนี้คนเขาก็ยังไม่เห็นว่าจะมีการเลือกตั้ง เขาอาจจะไม่มาโจมตีอะไรมาก อาจจะแค่กระแหนะกระแหนว่า ในที่สุดเอ็งก็ต้องมาเล่นการเมือง ก็ปล่อยเขาว่าไปเถอะ เราเล่นการเมือง เขาก็ด่า เราไม่เล่น เขาก็ด่าทั้งนั้นแหละ ที่คุณทักษิณพูดบอกว่า ในที่สุดแล้ว ไอ้พวกที่ล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง มันก็มาเล่นการเมืองหวังผลประโยชน์กันหมดใช่มั้ย เราไม่เล่น มันก็หาว่าเรานอกกติกาตลอดใช่มั้ย แน่จริงลองมาเล่นสิ เขาก็พูดได้หมด เพราะฉะนั้นอย่าไปคิดอย่าไปสนใจกับคำพูดแบบนี้ เพียงแต่ว่าเราอย่าผิดหลักการก็แล้วกัน ตอนนี้เราก็วางหลักการ วางรากฐานให้พรรคการเมืองไป มันอาจจะอยู่ในช่วงเริ่มต้น ก็ต้องการภาวะผู้นำเรียกนิดหนึ่ง แต่ขณะเดียวกันก็พยายามเฟ้นหาคนที่จะมาเป็นผู้นำจริงๆ ไม่ได้มี ก็ต้องให้เขาได้พิสูจน์ผลงานฝีมือเขา ก่อนเลือกตั้งก็ลาออก โอ๊ย! ผมว่าภาพก็สวยงามอย่างยิ่งเลย คนก็จะเห็นว่านี่คือการเมืองใหม่แท้ๆ ยังลาออกได้เลย ขนาดไหนแล้ว”

รศ.ดร.ไชยันต์ ยังแนะด้วยว่า หากวันใดที่คุณสนธิลาออก หัวหน้าพรรคคนใหม่ควรจะเป็นคนที่ร่วมต่อสู้กับพันธมิตรฯ มาตั้งแต่ต้น อย่าไปเชิญคนนอกหรือผู้หลักผู้ใหญ่ที่ไม่ได้ร่วมทุกข์ร่วมสุขกับพันธมิตรฯ มาเป็น เพราะมวลชนพันธมิตรฯ เป็นมวลชนที่เข้มแข็งขนาดนี้แล้ว ต้องเฟ้นหาคนที่เหมาะสมกันเอง ทำไมต้องเชิญคนอื่นที่นั่งนิ่งๆ ไม่ทำอะไร แต่ถึงเวลาก็มา “ชุบมือเปิบ”!!
บรรยากาศวันเลือกหัวหน้าและกรรมการบริหารพรรคการเมืองใหม่ที่เมืองทองธานี(6 ต.ค.)
พันธมิตรฯ จากจังหวัดต่างๆ มาร่วมกิจกรรมเลือก หน.และกรรมการบริหารพรรคการเมืองใหม่อย่างคับคั่ง
ที่ประชุมพันธมิตรฯ ยกมือรับรองให้ สนธิ ลิ้มทองกุล เป็นหัวหน้าพรรคการเมืองใหม่
สมศักดิ์ โกศัยสุข รองหัวหน้าพรรคการเมืองใหม่
สุริยะใส กตะศิลา เลขาธิการพรรคการเมืองใหม่
สำราญ รอดเพชร โฆษกพรรคการเมืองใหม่
พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกฯ เปิดแถลงข่าวหลังสมัครเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย(2 ต.ค.)
กำลังโหลดความคิดเห็น