xs
xsm
sm
md
lg

รองฯ สุเทพ หนุน ปธ.ศาลฎีกาสอบองค์คณะฯ คดีกล้ายาง เชื่อ ปชช.ยังมั่นใจศาล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี
“สุเทพ” ลั่นเชื่อมั่นระบบศาลยุติธรรม พร้อมเคารพระบบศาลยุติธรรม บอกไม่แน่ใจคำตัดสินรั่วหรือไม่ ชี้อาจคาดการณ์ผิดก็ได้ แต่หนุนประธานศาลฎีกาสอบองค์คณะพิพากษาคดีกล้ายาง เหตุเชื่อประชาชนยังมั่นใจระบบศาล

คลิกที่นี่ เพื่อฟังนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ให้สัมภาษณ์



วันนี้ (25 ก.ย.) ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 08.30 น. นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ประธานศาลฎีกามีคำสั่งให้ตรวจสอบการทำงานขององค์คณะผู้พิพากษาที่พิจารณาคดีทุจริตกล้ายางที่คำพิพากษาหลุดออกมาก่อนที่จะมีการตัดสิน จนมีการตั้งข้อสังเกตว่าจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในการทำหน้าที่ของศาล ว่า แล้วแต่คนจะวิจารณ์กันไป แต่ตนยังเชื่อมั่นในระบบของศาลยุติธรรม ถึงแม้ว่าจะเคยขึ้นศาลและถูกตัดสินให้ชนะและแพ้คดีมาแล้ว แต่เมื่อผลออกมาก็ต้องเคารพในกระบวนการยุติธรรม ส่วนที่บอกว่ามีข่าวเกี่ยวกับคำตัดสินรั่วออกมานั้น ไม่แน่ใจว่ามีจริงหรือไม่

ผู้สื่อข่าวถามว่า แต่คำตัดสินที่ปรากฏเป็นข่าวก่อนที่จะมีการพิพากษานั้นก็ตรงกับคำพิพากษาที่ออกมาจริง นายสุเทพกล่าวว่า หลายฝ่ายที่วิจารณ์ก็ผิดบ่อย ที่พูดเช่นนี้ไม่ได้หมายความว่าจะไปดูหมิ่น แต่ไม่เชื่อว่าจะเป็นจริง และการที่ประธานศาลฎีกาสั่งให้สอบสวนเรื่องนี้ ตนก็เห็นว่าเป็นเรื่องดีที่จะทำให้ความจริงชัดเจนมากขึ้น เมื่อถามว่าแต่ตัวเลขที่ข่าวออกมากับคำตัดสินนั้นตรงกันจนน่าตกใจ นายสุเทพกล่าวว่า ตนไม่มั่นใจว่าตรงหรือไม่ตรง เพราะฟังจากสื่อที่ออกมา บ้างก็บอกว่ามติเป็น 8 ต่อ 1 ขณะที่บางสื่อบอกว่าเป็นเอกฉันท์ ยืนยันว่าตนไม่ทราบจริงๆ

เมื่อถามว่าเกรงหรือไม่ว่าสังคมจะลดความเชื่อถือในการตัดสินของศาลในคดีอื่นๆ ด้วย นายสุเทพกล่าวว่า คิดว่าคนส่วนใหญ่ยังเชื่อในระบบของศาลอยู่ แต่ตนมองว่าสิ่งที่อันตรายคือการที่แต่ละฝ่ายช่วยกันทำลายความน่าเชื่อถือของฝ่ายอื่น จนที่สุดเสียหายกันทั้งระบบ เมื่อถามถึงกรณีที่อัยการสูงสุดออกมาตอบโต้ คตส.ว่าทำสำนวนคดีไม่สมบูรณ์จึงทำให้ผู้ถูกกล่าวหาพ้นคดีทั้งหมด นายสุเทพกล่าวว่า “ผมคิดว่าอย่างนี้เป็นเรื่องน่ากังวลใจว่าทำลายกันเอง ซึ่งจะทำให้เสียหาย” เมื่อถามว่าถึงเวลาที่ควรจะมีการปรับปรุงการทำงานขององค์กรอิสระแล้วหรือไม่ นายสุเทพกล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีการพูดคุยกันในเรื่องนี้ แต่ถ้าองค์กรใดที่เป็นปัญหาและคนส่วนใหญ่เห็นว่าไม่จำเป็น ก็ควรที่จะปรับปรุงแก้ไข
กำลังโหลดความคิดเห็น