xs
xsm
sm
md
lg

ศาล รธน.ยังไม่สรุปวินิจฉัยหุ้น ส.ว.เหตุ “ประสพสุข” ส่งสำนวนสับสน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ประสพสุข พลเดช ประธานวุฒิสภา
ตุลาการศาล รธน.ยังไม่ได้ข้อสรุปรับ-ไม่รับวินิจฉัยหุ้น ส.ว.เหตุ “ประสพสุข” เล่นเล่ห์ส่งสำนวนหลักฐานสับสน ทำสำนักงานศาลฯ ต้องวุ่นเชิญเจ้าหน้าที่ กกต.-ส.ว.มาคัดแยกเอกสาร 8 หมื่นแผ่นใหม่ ด้าน “ปธ.สภา” ส่งคำร้อง กกต.วินิจฉัยหุ้น 13 ส.ส.ประชาธิปัตย์ตามมาติดๆ

วันนี้ (16 ก.ย.) คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่มี นายชัช ชลวร เป็นประธานได้มีการประชุมกรณี นายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภามีหนังสือลงวันที่ 11 ก.ย.ส่งความเห็นของคณะกรรมการการเลือกตั้งขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 91 กรณีสมาชิกภาพของสมาชิกวุฒิสภาจำนวน 16 คน สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 119(5) เนื่องจากกระทำการต้องห้ามตามมาตรา 265(2)(4) ถือครองหุ้นในธุรกิจสื่อและบริษัทที่เป็นคู่สัญญาสัมปทานกับรัฐ

ภายหลังการประชุม นายเชาวนะ ไตรมาศ เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า ทางสำนักงานได้รายงานความคืบหน้าของคำร้อง ว่า คำร้องที่มีการส่งมานั้น ประกอบด้วย ต้นฉบับและสำเนาจำนวน 16 ชุด แต่ละชุดมีเอกสารจำนวนประมาณ 5,000 แผ่น รวมทั้งสิ้น 80,000 แผ่น นอกจากนี้จากการตรวจสอบเบื้องต้น พบว่า เอกสารบางส่วนไม่สมบูรณ์ บางส่วนไม่มีเลขหน้า บางส่วนถ่ายเอกสารไม่ชัดเจน และบางส่วนไม่ได้รับรองสำเนาถูกต้อง เป็นต้น รวมทั้งยังพบว่าเนื้อหาของคำร้องที่ส่งมามีทั้งสำนวน ส.ว.ที่ กกต.เห็นว่า สมาชิกภาพของ ส.ว.สิ้นสุดลง 16 คน และไม่เข้าลักษณะต้องห้ามและยุติเรื่อง 21 คน รวมทั้งสิ้น 37 คน จึงเป็นเหตุให้ต้องใช้เวลาและกำลังคนจำนวนมากในการคัดแยกสำนวน ที่ประชุมจึงมีมติให้สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญแจ้งไปยังสำนักงาน กกต.และสำนักเลขาธิการวุฒิสภา เพื่อให้ส่งเจ้าหน้าที่มาดำเนินการแยกสำนวน ภายในวันที่ 17 ก.ย.นี้

ด้าน นายบุญส่ง กุลบุปผา ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ให้สัมภาษณ์ภายหลังว่า การคัดแยกเอกสารทางคณะตุลาการไม่ได้กำหนดเวลาเพียงแต่บอกว่าขอให้เสร็จโดยเร็ว จากนั้นก็อาจต้องเชิญผู้ถูกร้อง คือ ส.ว.มาตรวจสอบอีกครั้ง โดยเมื่อได้ข้อสรุปเรื่องเอกสารเรียบร้อยก็จะมีการนำเข้าสู่ที่ประชุมของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาว่าคำร้องดังกล่าวเข้าเกณฑ์ที่จะรับไว้พิจารณาหรือไม่ ดังนั้น ขอให้เข้าใจว่ามติที่ออกมาครั้งนี้ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้มีเจตนาที่จะยื้อเรื่องนี้แต่อย่างใด

นายบุญส่ง กล่าวด้วยว่า ส่วนตัวมองว่า แม้กรณีดังกล่าว ส.ว.จะมีการร้องต่อศาลปกครอง แต่ก็ไม่จำเป็นที่ศาลรัฐธรรมนูญจะต้องไปรอการวินิจฉัยของศาลปกครองก่อนเพราะเป็นคนละเรื่องกัน ศาลปกครองเขาก็พิจารณาในเรื่องว่ากระบวนการวินิจฉัยของ กกต.ชอบหรือไม่ ส่วนศาลรัฐธรรมนูญก็จะดูประเด็นว่าการที่ ส.ว.ถือหุ้นนั้นขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันเดียวกันนี้ สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญยังได้รับคำร้องของประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่ส่งความเห็นของ กกต.ขอให้ศาลได้วินิจฉัยกรณีสมาชิกภาพของ 13 ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ที่ถือหุ้นเข้าลักษณะต้องห้าม โดยพบว่าเอกสารที่จัดส่งมานั้นมีจำนวน 3 กล่องด้วยกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น