xs
xsm
sm
md
lg

ศิษย์หลวงตาบัว สู้ไม่ถอย ยื่น “สาทิตย์” แก้ กม.จำกัดสิทธิวิทยุอีก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พระณรงค์ อาจาโร พร้อมด้วยลูกศิษย์หลวงตาบัว
“ศิษย์หลวงตาบัว” สู้ไม่ถอย หลังเข้าพบ “สาทิตย์” เสนอแก้ กม.วิทยุโทรทัศน์เปิดทางวิทยุชุมชนเป็นเครือข่ายระดับชาติ เผย รัฐมนตรีคุมสื่อบอกแก้ไขยาก ทั้งเรื่องอีกยาว หลังยังไม่เข้ากระบวนการแก้ พลิกเกมเสนอแก้ไขร่างองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ปี 43 แทน ยันสาระสำคัญไม่ต่างกัน

วันนี้ (1 ก.ย.) ที่บ้านพระอาทิตย์ หนังสือพิมพ์เอเอสทีวีผู้จัดการ พระณรงค์ อาจาโร ศิษย์พระธรรมวิสุทธิมงคล หรือ หลวงตามหาบัว เจ้าอาวาสวัดป่าบ้านตาด และประธานมูลนิธิเสียงธรรมเพื่อประชาชน พร้อมด้วยพระสงฆ์เครือข่ายมูลนิธิเสียงธรรม เปิดเผยภายหลังการเข้าพบและยื่นหนังสือสนับสนุนร่างแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ว่าด้วยองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ พ.ศ... ต่อ นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ว่า หลังจากที่ได้ยื่นหนังสือของหลวงตาบัวต่อรัฐมนตรีสาทิตย์ และแสดงเจตนารมณ์สนับสนุนร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว พร้อมข้อเสนอของทางเครือข่ายมูลนิธิเสียงธรรมที่เสนอให้แก้ไขร่างพ.ร.บ.ประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ฉบับปี 2551 ทางรัฐมนตรีสาทิตย์ระบุว่าเป็นเรื่องที่ยากที่จะแก้ไขและกระบวนการจะยืดยาว เพราะที่อยู่ในกระบวนการพิจารณาของกรรมาธิการในสภาขณะนี้เป็นพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ ฉบับปี 2543 ซึ่ง พ.ร.บ.ฉบับปี 2551 นั้น ยังไม่มีวี่แววว่าจะมีการเสนอแก้ไข

พระณรงค์ กล่าวอีกว่า ดังนั้น ทางเครือข่ายมูลนิธิเสียงธรรม จึงเห็นว่าหากการแก้ไข พ.ร.บ.กิจการวิทยุกระจายเสียง ฉบับปี 2551 เป็นเรื่องที่ยาก และยังไม่ได้เริ่มต้นกระบวนการแก้ไข จึงเสนอแก้ไขร่าง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ ฉบับปี 2543 แทน ซึ่งสาระสำคัญก็ไม่ได้แตกต่างไปจากที่เสนอแก้ในฉบับปี 51 โดยให้แก้ไขเพิ่มเติมคำนิยามหรือความหมายของคำว่า ภาคประชาชน หมายความถึงผู้ประกอบกิจการบริการชุมชนตามกฎหมายนี้และตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ซึ่งสามารถประกอบกิจการได้ในระดับชาติ ระดับภูมิภาค หรือระดับท้องถิ่น โดยวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์สาธารณะและไม่แสวงหากำไรทางธุรกิจ ทั้งนี้ ยังเสนอให้แก้ไขในคำว่า “ชุมชน” ที่หมายความถึงประชาชนที่มีความสนใจร่วมกัน สื่อสารถึงกันได้ ในระดับชาติ ระดับภูมิภาค หรือระดับท้องถิ่น

“สาระสำคัญทั้งสองข้อที่เสนอขอให้แก้ไขไม่ได้แตกต่างจากที่เสนอแก้ในฉบับปี 51 เพื่อให้การประกอบกิจการที่เป็นสาระประโยชน์ต่อสาธารณะของเครือข่ายมูลนิธิเสียงธรรมไม่ได้ถูกจำกัดไว้เป็นเพียงวิทยุชุมชน ซึ่งทางเครือข่ายวิทยุเสียงธรรมเป็นเครือข่ายวิทยุระดับชาติ มีสถานีเครือข่ายถึง 117 สถานีที่ไม่ได้มุ่งหวังผลกำไร แต่หากร่างแก้ไขที่อยู่ในการพิจารณาของกรรมาธิการในสภาที่อยู่ระหว่างแก้ไขร่างของปี 43 นั้นผ่านการพิจารณาออกมา โดยไม่ได้หยิบยกข้อเสนอแนะของทางเครือข่ายไปพิจารณา ทั้งยังส่งผลกระทบต่อการนำเสนอสารประโยชน์ของสาธารณะ เราก็คงไม่สามารถที่จะยอมรับร่างกฎหมายฉบับนี้ได้ เพราะถือว่าเข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญที่จำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน ซึ่งอาจต้องดำเนินการอย่างอื่นอย่างใดต่อไป” ศิษย์หลวงตาบัว กล่าว



กำลังโหลดความคิดเห็น