“สุริยะใส” ประเมินสถานการณ์หลังยื่นฎีกาน่าเป็นห่วง แนะสังคมจับตา “สิงหา” อันตราย หวั่นกองกำลังไม่ทราบฝ่ายใช้สถานการณ์ยึดอำนาจ ชี้สัญญาณ 29 ปลัดร่วมลงชื่อค้านฎีกาสวนทางผู้นำเหล่าทัพนิ่งเฉย แฉเสื้อแดงเปิดเกมรุกใหม่กดดันสถาบันแรงขึ้นหากไม่ให้อภัยโทษ “นช.แม้ว”
วันนี้ (16 ส.ค.) นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กล่าวเรียกร้องให้สังคมจับตาการยื่นถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ของแกนนำ นปช.และพรรคเพื่อไทยในวันพรุ่งนี้ อาจจะถูกขยายผลไปเป็นเงื่อนไขของการพลิกผันทางการเมือง เพราะเป็นไปได้ที่กองกำลังไม่ทราบฝ่ายอาจฉวยโอกาสสร้างสถานการณ์เพื่อเป็นประโยชน์ต่อตัวเอง
โดยเฉพาะท่าทีที่นิ่งเฉยของผู้นำเหล่าทัพ อาจจะกลายเป็นตัวแปรของสถานการณ์ได้ตลอดเวลา ซึ่งเป็นเรื่องผิดสังเกตมากๆ ที่ผู้นำเหล่าทัพส่งสัญญาณนิ่งเฉยไม่มีความเห็น ทั้งที่การเข้าชื่อคัดค้านการถวายฎีกาของข้าราชการประจำระดับปลัดกระทรวงและเทียบเท่าจำนวน 29 คนนั้น มี 3 หน่วยงานที่เคยวางตัวเป็นกลาง แต่ครั้งนี้กลับตัดสินใจร่วมลงชื่อคัดค้าน คือ นางพรทิพย์ จาละ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา นายถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) นายอดุล กอวัฒนา ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ
ทั้ง 3 องค์กรรับผิดชอบงานด้านกฎหมาย และความมั่นคงของประเทศโดยตรง ออกมาแสดงท่าทีที่สวนทางกับท่าทีของ ผบ.ทบ.และผู้นำเหล่าทัพถือเป็นเรื่องที่ผิดปกติ มีความเป็นไปได้ว่าฝ่ายความมั่นคงของประเทศขาดเอกภาพ และแบ่งขั้วแบ่งข้างจนไม่คำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศ และหน้าที่ของกองทัพในการพิทักษ์สถาบันพระมหหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญ
ที่สำคัญใน 29 คนที่ลงนามครั้งนี้ก็ไม่มีชื่อปลัดกระทรวงกลาโหม พล.อ.อภิชาติ เพ็ญกิตติ ร่วมลงนามด้วยแต่อย่างใด นี่เป็นสัญญาณบอกเหตุว่า สถานการณ์การเมืองไทยกำลังเข้าสู่วิกฤตการณ์ที่ซับซ้อนกว่าเหตุการณ์ก่อนรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เป็นสิงหาอันตรายที่ประชาชนและสื่อมวลชนต้องจับตา
นายสุริยะใสกล่าวอีกว่า กองกำลังไม่ทราบฝ่ายอาจจะอ้างเรื่องความมั่นคงเพื่อเข้ามาควบคุมสถานการณ์หรือบีบให้มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง แต่ลึกๆ แล้วก็เพื่อความอยู่รอดของตัวเองเท่านั้น
ส่วนเหตุการณ์ความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นในวันพรุ่งนี้นั้น หากมีจริงก็ต้องคาดโทษไปที่แกนนำ นปช. คนเหล่านี้มีคดีความร้ายแรงติดตัวอยู่ทั้งนั้น หากยั่วยุปลุกปั่นให้เกิดการเผชิญหน้า ระหว่างประชาชนด้วยกัน เจ้าหน้าที่ก็ต้องถอนประกันตัว
สำหรับการเตรียมประกาศหยุดเคลื่อนไหวของ นปช.หลังยื่นถวายฎีกานั้น เป็นเพียงการลับลวงพราง หวังลวงโลกเท่านั้น เพราะนี่เป็นยุทธวิธีนับหนึ่งในการกดดันในหลวงโดยตรงเพื่อให้มีพระราชวินิจฉัยต่อฎีกาอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งแกนนำ นปช.รู้อยู่แล้วว่าเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ที่จะได้พระราชทานอภัยโทษ แต่ต้องการใช้เป็นข้ออ้างปลุกระดมมวลชนเสื้อแดงว่าในหลวง หรือสถาบันฯ ไม่โปรดปราน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จากนั้นก็จะขยายผลทำสงครามกับอำมาตย์รอบใหม่ซึ่งน่าเป็นห่วงกว่าเดิม
จะเห็นได้ว่าฝ่ายปัญญาชนนักวิชาการเสื้อแดงจะไม่มีบทบาทในเกมล่าชื่อถวายฎีกา เพราะถูกวางตัวให้เล่นบทวิพากษ์และโจมตีสถาบัน ซึ่งเป็นขั้นตอนหลังจากนี้