xs
xsm
sm
md
lg

ครม.เร่งโอนเช็คช่วยชาติ คุ้มครองลูกจ้างในต่างแดน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายแพทย์ภูมินทร์ ลีธีระประเสริฐ
ครม.สั่งประกันสังคมโอนเงินเช็คช่วยชาติ เข้าบัญชีลูกจ้างที่อยู่ต่างประเทศก่อน 15 ก.ย.พร้อมทั้งเห็นชอบตามข้อเสนอกระทรวงมหาดไทย รื้อร่าง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น

วันนี้ (11 ส.ค.) นายแพทย์ ภูมินทร์ ลีธีระประเสริฐ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.พิจารณาการจ่ายเงินตามโครงการช่วยเหลือค่าครองชีพประชาชนและบุคลากรภาครัฐ (ในส่วนของผู้ประกันตน) หรือโครงการเช็คช่วยชาติ 2 พันบาท ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ โดย ครม.อนุมัติหลักการให้นายจ้างผู้ประกอบการ ผู้มีอำนาจตามหนังสือจดทะเบียนนิติบุคคล หรือเจ้าของกิจการเป็นผู้ลงลายมือชื่อในแบบขอรับเงินช่วยเหลือ กรณีนายจ้างผู้ประกอบการส่งผู้ประกันตนที่มีสิทธิ์รับเงินตามโครงการดังกล่าว ไปปฏิบัติงานต่างประเทศ จนทำให้ผู้ประกันตนไม่สามารถมากรอกแบบคำขอรับเงินตามโครงการด้วยตนเองได้ จากนั้นทางสำนักงานประกันสังคมจะเป็นหน่วยงานตรวจสอบรับรองยืนยันสิทธิ์ของลูกจ้าง

นพ.ภูมินทร์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ครม.ยังได้อนุมัติหลักการกรณีลูกจ้างมีสิทธิ์ได้รับเงินช่วยเหลือ แต่ไม่สามารถกลับมาถึงประเทศไทยก่อนเดือนกันยายน 2552 ให้สำนักงานประกันสังคม โอนเงินช่วยเหลือเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารของลูกจ้างที่มีสิทธิ์ ให้แล้วเสร็จก่อนวันที่ 15 กันยายน 2552

นอกจากนี้ นายศุภชัย ใจสมุทร รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมครม.ว่า ครม.เห็นชอบหลักการร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ระเบียบข้าราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ เนื่องจากกระทรวงมหาดไทย รายงานว่า 1.เนื่องด้วยการบริหารงานบุคคลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในปัจจุบันเป็นไปตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2542 ซึ่งบัญญัติขึ้นตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ที่บัญญัติให้ อปท.มีอิสระในการบริหารงานบุคคล ภายใต้หลักเกณฑ์และมาตรฐานที่องค์กรบริหารงานบุคคลกำหนด โดยองค์กรบริหารงานบุคคลมีคณะกรรมการเป็น 3 ระดับ ประกอบด้วย คณะกรรมการมาตรฐานการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น (ก.ถ.) คณะกรรมการกลางหรือพนักงานส่วนท้องถิ่น (ก.จ., ก.ท., ก.อบต.) และคณะกรรมการพนักงานหรือข้าราชการส่วนท้องถิ่น (ก.จ.จ., ก.ท.จ. และ ก.อบต.จังหวัด) ซึ่งคณะกรรมการดังกล่าวมีองค์ประกอบเป็น 3 ฝ่าย ทั้งนี้ การบริหารงานบุคคลที่ผ่านมาประสบปัญหาเกี่ยวกับความเข้มแข็ง ระบบคุณธรรม ประสิทธิภาพ และประสิทธิผล จึงจำเป็นต้องมีการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายดังกล่าว

นายศุภชัย กล่าวอีกว่า ต่อมารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 บัญญัติให้อปท.มีความเป็นอิสระในการบริหารงานบุคคล ซึ่งการบริหารงานบุคคลดังกล่าวต้องมีมาตรฐานสอดคล้องกัน เพื่อให้สามารถสับเปลี่ยนบุคลากรระหว่าง อปท.ได้ โดยให้มีคณะกรรมการข้าราชการส่วนท้องถิ่นเพียงคณะเดียวที่มีองค์ประกอบเป็น 4 ฝ่าย และให้มีคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมเพื่อคุ้มครองคุณธรรมและจริยธรรมในการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น ประกอบกับมาตรา 303(5) บัญญัติให้ดำเนินการจัดทำหรือปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับข้าราชการ ส่วนท้องถิ่นภายใน 2 ปีนับแต่วันที่แถลงนโยบายต่อรัฐสภา

“ดังนั้น เพื่อให้สอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญดังกล่าว และเป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยมาตรา 288 ที่บัญญัติให้การแต่งตั้งและการให้ข้าราชการและลูกจ้างของ อปท.พ้นจากตำแหน่ง ต้องเป็นไปตามความเหมาะสม และความจำเป็นของแต่ละท้องถิ่น โดยการบริหารงานบุคคลของอปท.ต้องมีมาตรฐานสอดคล้องกันและอาจได้รับการพัฒนาร่วมกัน หรือสับเปลี่ยนบุคลากรระหว่าง อปท.ด้วยกันได้ รวมทั้งต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการข้าราชการส่วนท้องถิ่นซึ่งเป็นองค์กรกลางบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่นก่อน ทั้งนี้ คณะกรรมการข้าราชการส่วนท้องถิ่น จะต้องประกอบด้วย ผู้แทนของหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง ผู้แทนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้แทนข้าราชการส่วนท้องถิ่น และผู้ทรงคุณวุฒิ โดยมีจำนวนเท่ากัน และในการบริหารงานบุคคลของ อปท.ต้องมีองค์กรพิทักษ์ระบบคุณธรรมของข้าราชการส่วนท้องถิ่น เพื่อให้คณะกรรมการดังกล่าวทำหน้าที่พิทักษ์คุณธรรมในการบริหารงานบุคคลของข้าราชการส่วนท้องถิ่น อันจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้การบริหารงานของ อปท.มีความเข้มแข็งและมีประสิทธิภาพ” นายศุภชัย กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น