xs
xsm
sm
md
lg

“เสรี”ค้านแก้รธน. แนะเลื่อนฟันคดีการเมืองไปก่อน 3 ปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วงเสวนาจุฬา ถกแก้รัฐธรรมนูญ “เสรี” ค้านแก้รัฐธรรมนูญ ชี้ยังไม่เห็นปัญหา ตอกตัวปัญหาคือนักการเมืองที่พยายามต่อสู้ทำประเทศวุ่น แนะเลื่อนพิจารณาคดีการเมืองออกไป 3 ปี หวังชะลอเหตุปะทะ ขณะที่ “พงษ์เทพ”ค้านต่ออายุคดีความ ชี้จะต่อวาระนักการเมือง ยันต้องเร่งแก้รธน.ให้เร็วที่สุด

วันนี้(8 ส.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเวทีเสวนาชุดรพีพัฒนศักดิ์ ครั้งที่ 1 เรื่อง “ประเทศไทยจะได้อะไร จากการแก้ไขรัฐธรรมนูญ” โดยมีนายเสรี สุวรรณภานนท์ อดีตส.ส.ร. นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา อดีตกรรมการบริการพรรคไทยรักไทย ม.ล.ณัฏฐกรณ์ เทวกุล นักวิชาการอิสระ

โดยนายเสรี กล่าวว่า ประเด็นในการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น ถือกำเนิดขึ้นเนื่องจากกฎหมายที่บัญญัติไว้แล้วนำไปใช้ กลับพบว่ามีอุปสรรค เกิดผลกระทบต่อประเทศชาติ ส่งผลเสียแก่ประชาชนในภาพรวม จึงต้องมีการพิจารณาที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ ดังนั้น โดยส่วนตัวมองว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องปกติของกฎหมายที่บัญญัติไว้แล้วพบปัญหา แต่ในภาวะบ้านเมืองในขณะนี้ ส่วนตัวมองว่ายังไม่ควรแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะยังไม่เห็นปัญหาที่แท้จริงว่าคืออะไร แต่ต้องมาพิจารณาดูว่าเมื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้ว ต้องแก้ไขปัญหาบ้านเมืองให้เกิดความสงบสุขได้อย่างแท้จริง ซึ่งในขณะนี้มองว่าปัญหาความวุ่นวายอยู่ที่การต่อสู้ของนักการเมือง จึงอยากเสนอแนะให้เลื่อนการพิจารณาคดีที่เกี่ยวข้องกับคดีการเมืองออกไป 3 ปี เพื่อทำให้ช่วงเวลาแห่งความตึงเครียดผ่านพ้นไป ยุติความขัดแย้ง ทำให้คนมีสติมากขึ้น น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดในสถานการณ์การเมืองในขณะนี้

นายพงศ์เทพ กล่าวว่า หากเลื่อนการพิจารณาคดีที่เกี่ยวข้องกับ ส.ส. และ ส.ว. หรือรัฐมนตรี กระทำขัดรัฐธรรมนูญออกไป จะเท่ากับเป็นการต่ออายุให้ ส.ส.และ ส.ว.สามารถอยู่ในตำแหน่งต่อไปได้ เพราะเวลา 3 ปี ส.ส. และ ส.ว.ชุดปัจจุบัน น่าจะพ้นวาระไปหมดแล้ว ส่วนตัวมองว่า ปัญหาในเมืองไทย เกิดจากกติกาของรัฐธรรมนูญ โดยสิ่งที่เป็นปัญหามากที่สุดคือความไม่แน่นอน การที่รัฐบาลต้องประสบปัญหาความไม่แน่นอน ทำให้รัฐบาลไม่สามารถบริหารประเทศได้

นายพงศ์เทพ กล่าวอีกว่า สิ่งจำเป็นคือต้องเร่งแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะบทบัญญัติหลายมาตราไม่สอดคล้องกับความเป็นประชาธิปไตย และส่งผลให้รัฐบาลเกิดสภาพไม่มั่นคงตลอดเวลา ยกตัวอย่างประเด็นปัญหาการถือครองหุ้นของ ส.ส.และ ส.ว. ที่กำลังจะส่งผลถึงเสถียรภาพของรัฐบาล

ทางด้าน ม.ล.ณัฏฐกรณ์ กล่าวชี้ให้เห็นถึงข้อบกพร่องของรัฐธรรมนูญ อาทิ บทบัญญัติว่าด้วยนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ซึ่งกลายเป็นตัวกำหนดนโยบายของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง และบทบัญญัติว่าด้วยสิทธิขั้นพื้นฐานแห่งรัฐ ที่ห้ามนักบวชใช้สิทธิ์เลือกตั้ง ถือเป็นการจำกัดสิทธิตามระบอบประชาธิปไตย จึงสนับสนุนให้มีการแก้ไขในส่วนนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น