ผบ.สส.เผยกระสุนปืน 7,800 นัด ที่ถูกลับลอบนำออกมายังไม่ได้รับรายงานว่าจะนำไปใช้ก่อเหตุร้ายที่ภาคใต้ ขณะที่โฆษก ทบ.แจงกองทัพกำลังเร่งตรวจสอบเรื่องนี้ ชี้หากเจ้าหน้าที่คนใดมีส่วนร่วมรู้เห็น ต้องโดนจัดการตาม กม.ยันกองทัพมีมาตรการป้องกันอาวุธรั่วไหลเต็มที่
วันนี้ (27 ก.ค.) พล.อ.ทรงกิตติ จักกาบาตร์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด กรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมตัว 2 ผู้ต้องหา ลักลอบขนเครื่องกระสุนปืน โดยไม่ได้รับอนุญาตกว่า 7,800 นัด ที่ จ.กำแพงเพชร เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคมที่ผ่านมาว่า เรื่องนี้ทางเจ้าพนักงานสอบสวนได้ดำเนินการตามกฎหมายเรียบร้อยแล้ว โดยหากเป็นคดีค้าอาวุธก็ดำเนินการไปตามกฎหมายก็จบ แต่ในส่วนเชื่อมโยงไปถึงการจะนำอาวุธไปก่อเหตุในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้หรือไม่นั้น ขณะนี้ยังไม่ได้รับรายงาน แต่มีการระบุว่าจะมีการขนถ่ายไปทางภาคเหนือ แต่ในเมื่อสามารถจับกุมได้ ก็เป็นเรื่องน่าชื่นชมเจ้าหน้าที่ โดยต้องสืบพยานต่อไปว่าผู้ร่วมขบวนการ หรือหัวหน้าเป็นผู้ใด
ขณะที่ พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกกองทัพบก กล่าวว่า ตนได้สอบถามไปทางผู้บังคับกองพันทหารม้าที่ 19 (ผบ.พัน. ม.19) เพื่อยืนยันว่า ข้อเท็จจริงเรื่องนี้ ซึ่งก็เป็นไปตามข่าว แต่ในส่วน จ.ส.อ.แดง ที่ตกเป็นผู้ต้องหากระทำความผิดเรื่องดังกล่าวนั้นจะจริงหรือไม่ ต้องเป็นหน้าที่ตำรวจต้องทำการตรวจสอบ โดยขณะนี้ ทางกองทัพกำลังสอบข้อมูลว่า จ.ส.อ.แดง เป็นใคร
พ.อ.สรรเสริญ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ เมื่อจับกุมผู้กระทำผิดที่ลักลอบขนอาวุธได้ ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องตรวจสอบว่าผู้ที่กระทำผิดจะส่งกระสุนจำนวนนี้ไปให้เป็นผู้ใด ซึ่ง ผบ.พัน ม.19 ได้ระบุว่า ผู้กระทำผิดจำชื่อจริงคนที่จะส่งกระสุนไปให้ไม่ได้ แต่จำหน้าได้ เพราะเคยฝึกจู่โจมมาด้วยกัน ดังนั้น หากเจอหน้าก็สามารถรู้คนบงการได้ทันที โดยตอนนี้ได้ตรวจสอบเรื่องดังกล่าวอย่างเต็มที่ และถ้าหากพบว่า ใครมีส่วนร่วมรู้เห็นต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย อย่างไรก็ตาม เท่าที่ทราบข้อมูลเกี่ยวกับตัวผู้กระทำความผิดนั้น เคยถูกจับถอดยศมาก่อนเมื่อปี 2547 เพราะหนีราชการ และมีพฤติกรรมยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด
พ.อ.สรรเสริญ กล่าวต่อว่า จากการตรวจสอบพบว่ากระสุนที่ถูกนำออกไป เป็นของเก่า ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกระสุนที่ใช้กับปืนเอ็ม 16 มีเพียงสัญลักษณ์อาร์ทีเอฟ และปีที่ผลิตบริเวณปลายกระสุน โดยระบุปีผลิต ว่า เป็นปี 1986 หรือประมาณ พ.ศ.2529 ส่วนกระสุนเอ็ม 62 ที่ใช้กับอาวุธปืนเอ็ม 76 มีเพียงสัญลักษณ์อาร์ทีเอฟ และปีที่ผลิต คือ ปี 1962 และปี 1968 ซึ่งทั้งหมดเป็นกระสุนเก่า ดังนั้น คงทำให้ยากต่อการตรวจสอบว่ากระสุนล็อตดังกล่าวหลุดออกมาจากหน่วยใด หรือจะถูกส่งไปยังหน่วยใด แต่ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถนำสืบที่มาของกระสุนได้จากตัวผู้กระทำผิด และผู้บงการสั่งซื้อ
ด้านมาตรการป้องกันการลักลอบนำกระสุนราชการออกมาจำหน่ายหรือมาใช้ พ.อ.สรรเสริญ กล่าวว่า ต้องแยกออกเป็น 2 ส่วน คือ 1.กระสุนเก่ามีเพียงสัญลักษณ์อาร์ทีเอฟ และปีที่ผลิต แต่ไม่ได้มีซีเรียลนัมเบอร์ชื่อหน่วยที่ถูกส่งไป ทำให้ตรวจสอบหน่วยที่มาของกระสุนยาก และ 2.กระสุนของกองทัพตั้งแต่ปี 2545 เป็นต้นมา จะมีสัญลักษณ์อาร์ทีเอฟ และซีเรียลนัมเบอร์ชื่อหน่วยว่าถูกส่งไปที่หน่วยใด ซึ่งเป็นมาตรการป้องกันการรั่วไหลที่กองทัพได้ดำเนินการมาตลอด โดยก็ได้ผลในระดับหนึ่ง
“การรั่วไหลของกระสุนอาจเกิดในระหว่างการใช้ฝึกจริง ซึ่งทุกครั้งต้องมีการเก็บปลอกกระสุนปืนที่ใช้ฝึกมา เพื่อทำการจำหน่ายกระสุนแต่ละล็อต โดยหลักปฏิบัติจริงคงไม่มีใครสามารถเก็บปลอกกระสุนได้ทุกนัด ดังนั้น จึงมีปัญหาตรงขั้นตอนการจำหน่ายกระสุนที่ใช้กับความเป็นจริง อย่างไรก็ตาม กองทัพก็พยายามแก้ปัญหาเรื่องนี้ แต่ที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่า การรั่วไหลออกไปเป็นเพียงกระสุนล็อตเก่า ทั้งนี้ กองทัพพร้อมให้ความร่วมมือตำรวจในการประสานปฏิบัติการทุกขั้นตอน” โฆษกกองทัพบก กล่าว