xs
xsm
sm
md
lg

“รมว.สหรัฐฯ” กร้าว อาศัยเวทีอาเซียนประกาศคว่ำบาตรเกาหลีเหนือ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นางฮิลลารี คลินตัน รมว.ต่างประเทศ สหรัฐ
ปิดฉากแล้วอย่างเรียบง่าย ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ฝ่ายไทยมอบแสตมป์ภาพหมู่รัฐมนตรีเป็นที่ระลึก ขณะที่ “กษิต” แถลงปิดการประชุมสุดชื่นมื่น บอกพบกันครั้งต่อไปที่เวียดนาม เชื่อเวทีนี้เป็นการตัดสินใจที่จะได้รับการปฏิบัติอย่างครบถ้วนและทันเวลา ด้าน “ฮิลลารี” อาศัยเวทีอาเซียนประกาศกลางที่ประชุม 6 ฝ่าย คว่ำบาตรพร้อมโดดเดี่ยวเกาหลีเหนือทดลองนิวเคลียร์

วันนี้ (23 ก.ค.) โรงแรมเชอราตัน แกรนด์ ลากูน่า ภูเก็ต ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 16.00 น.ได้มีพิธีปิดการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ 42 และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งพิธีปิดเป็นไปอย่างเรียบง่าย โดยกระทรวงการต่างประเทศไทยในฐานะเจ้าภาพได้มอบแสตมป์ที่ระลึกเป็นภาพหมู่รัฐมนตรีแต่ละประเทศ พร้อมธงชาติไทย พื้นหลังเป็นรูปสัญลักษณ์ประเทศต่างๆ ใส่กรอบอย่างดี มอบให้เป็นที่ระลึก เชื่อว่าเป็นที่ประทับใจและจดจำในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนครั้งนี้ ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมประชุมทั้ง 26 ประเทศ 1 กลุ่มประเทศ ก็จะได้เดินทางกลับประเทศทันที

โดย นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะประธาน รมว.ต่างประเทศอาเซียน กล่าวว่า เมื่อประเทศไทยได้เข้ารับตำแหน่งประธานอาเซียนต่อจากสิงคโปร์เมื่อ 1 ปีที่แล้ว เราได้รับมอบคบเพลิงแห่งการสร้างประชาคมอาเซียน ซึ่งนับจากเวลานั้น เราได้ผลักดันให้มีความคืบหน้าไปมากด้วยการร่วมแรงร่วมใจของประเทศสมาชิกอาเซียนทุกประเทศ

โครงสร้างใหม่ของอาเซียนได้รับการวางรากฐานโดยการมีผลใช้บังคับของกฎบัตรอาเซียน โครงการและมาตรการต่างๆ ที่จะดำเนินการเพื่อผลักดันการรวมตัวเป็นประชาคมทั้ง 3 เสาหลักได้รับการบรรจุไว้ในปฏิญญาชะอำ หัวหิน ว่าด้วยแผนงานสำหรับประชาคมอาเซียน กลไกใหม่ๆ ของอาเซียนซึ่งรวมถึงคณะมนตรีประสานงานอาเซียน คณะมนตรีประชาคมอาเซียน และคณะกรรมการผู้แทนถาวรประจำอาเซียนที่กรุงจาการ์ตาได้เริ่มปฏิบัติหน้าที่แล้ว

ในช่วงระยะเวลา 5 วันที่ผ่านมา เราสามารถบรรลุข้อตกลงในประเด็นที่สำคัญซึ่งจะช่วยเสริมสร้างให้อาเซียนเป็นองค์กรที่มีกฎกติกาในการทำงานและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยคณะมนตรีประชาคมการเมือง-ความมั่นคงอาเซียนได้รับรองร่างกฎระเบียบสำหรับการดำเนินงาน ซึ่งจะใช้เป็นแนวทางในการยกร่างกฎระเบียบสำหรับประชาคมเศรษฐกิจ และประชาคมสังคม และวัฒนธรรมอาเซียนในอนาคตด้วย นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้ให้ความเห็นชอบร่างความตกลงว่าด้วยเอกสิทธิ์และความคุ้มกันของอาเซียน รวมทั้งได้หารือเกี่ยวกับแนวทางในการพัฒนากลไกระงับข้อพิพาทของอาเซียน เหล่านี้นับเป็นองค์ประกอบที่สำคัญสำหรับการให้สถานะนิติบุคคลแก่อาเซียน

การรับรองร่างขอบเขตอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียน ว่าด้วยสิทธิมนุษยชน จะช่วยวางรากฐานสำหรับการเสริมสร้างความพยายามของเราในการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน การประกาศเริ่มดำเนินงานของคณะกรรมาธิการดังกล่าวจะเป็นเครื่องแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของเราที่จะทำให้อาเซียนเป็น “ประชาคมเพื่อประชาชน”

การเข้าเป็นภาคีสนธิสัญญาไมตรีและความร่วมมือในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของสหรัฐฯ ตลอดจนการลงนามในบันทึกความเข้าใจ 2 ฉบับที่เกี่ยวกับความร่วมมืออาเซียน-ออสเตรเลีย และอาเซียน-รัสเซีย ที่เราได้ร่วมเป็นสักขีพยาน เป็นเครื่องย้ำถึงการเป็นหุ้นส่วนที่แน่นเฟ้นยิ่งขึ้นระหว่างอาเซียนกับประเทศคู่เจรจาภายนอก

นายกษิตกล่าวว่า ผลการหารือของเราที่ภูเก็ตจะได้รับการพัฒนาต่อไปให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมเมื่อผู้นำของเราพบกับอีกครั้งหนึ่งในระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 15 และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้องที่กำหนดจะจัดขึ้นในเดือนตุลาคมศกนี้ นับจากบัดนี้จนถึงเวลานั้น เราต้องทำให้มั่นใจว่า ข้อตัดสินใจของเราจะได้รับการปฏิบัติอย่างครบถ้วนและทันเวลา เพื่อแสดงให้เห็นว่าอาเซียนกำลังมุ่งไปสู่การเป็นประชาคมที่เน้นการปฏิบัติ

เราต้องเสริมสร้างความร่วมมือเพื่อให้อาเซียนสามารถตอบสนองต่อปัญหาท้าทายต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นมาทั้งในเรื่องวิกฤตเศรษฐกิจและการเงิน ความมั่นคงด้านอาหารและพลังงาน หรือการแพร่ระบาดของโรคต่างๆ นอกจากนี้ เรายังคงต้องร่วมมือต่อไปเพื่อสร้างความมั่นใจว่า ประชาชนของเราจะได้รับประโยชน์จากการรวมตัวของอาเซียนอย่างเต็มที่ โดยผ่านการลดช่องว่างในการพัฒนา การเสริมสร้างขีดความสามารถของประชาชน และการพัฒนาการเชื่อมโยงของโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ในภูมิภาค เรายังต้องสร้างความมั่นใจว่าประชาชนทุกภาคส่วนจะเข้ามามีส่วนร่วมและมีความรู้สึกร่วมเป็นเจ้าของในกระบวนการสร้างประชาคมอาเซียน

ภารกิจของเราไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ด้วยความมุ่งมั่นและจิตวิญญาณแห่งความร่วมมือกันของพวกเราทั้งมวลจะช่วยให้เราสามารถบรรลุผลได้ตามเป้าหมาย ตนเชื่อมั่นว่าเมื่อถึงเวลาที่ไทยจะต้องส่งต่อคบเพลิงของอาเซียนนี้ให้แก่เวียดนามในอีก 6 เดือนข้างหน้า อาเซียนจะมีความพร้อมที่จะเปลี่ยนไปสู่ประชาคมที่มุ่งเน้นที่การปฏิบัติและมีการเชื่อมโยงระหว่างกันมากขึ้นเพื่อประโยชน์ของประชาชน

ทั้งนี้ รายงานข่าวแจ้งว่า นางฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ได้แถลงถึงท่าทีต่อเกาหลีเหนือในการประชุมการเจรจา 6 ฝ่ายว่า มีความพยามของสหรัฐฯ ที่จะเปิดเจรจากับเกาหลีเหนือ แต่เกาหลีเหนือปฏิเสธที่จะปฏิบัติตาม และยังดำเนินการทดลองอาวุธนิวเคลียร์ต่อไป ซึ่งเป็นสิ่งที่สร้างความวิตกกังวลให้แก่หลายประเทศในภูมิภาคนี้ รวมทั้งสหรัฐฯ ด้วย จึงจำเป็นต้องยืนยันว่าสหรัฐฯ และพันธมิตรจะคว่ำบาตรการทดลองและพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ รวมทั้งโดดเดี่ยวเกาหลีเหนือ และตั้งมั่นที่จะตรวจสอบโครงการนี้ของเกาหลีต่อไปด้วยสันติวิธี

เนื่องจากเห็นว่า การทดลองอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือถือเป็นการยกระดับความเสี่ยงในคาบสมุทรเกาหลี และอาจทำให้ประเทศต่างๆ ในภูมิภาค เกิดการแข่งขันทางอาวุธขึ้นมาได้ ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อประเทศใด จึงต้องแสดงท่าทีที่ชัดเจนในรูปแบบบันทึกลงนามโดยกลุ่มอาเซียน รวมถึงการพูดคุยในกลุ่ม จี 8 ซึ่งครั้งนี้ไม่ใช่เพียงการประณามเท่านั้น แต่ข้อมติดังกล่าวยังรวมเอาเป้าหมาย ทิศทางและอำนาจของการคว่ำบาตรจากสหประชาชาติ ซึ่งได้มอบเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพมาก

ในกรณีที่เกาหลีเหนือยังไม่ยอมรับมตินั้น และจะลงโทษทุกคนที่เกี่ยวข้องกับเกาหลีเหนือ รวมถึงโครงการอาวุธทำลายล้างนี้ พร้อมเชื่อมั่นว่า มติของสหประชาชาติจะทรงประสิทธิภาพ และมีสาระสำคัญ แตกต่างจากอดีต และสะท้อนฉันทามติระดับโลก ไม่ใช่แค่ชาติหนึ่งชาติใด สะท้อนปัจเจตบุคคลในภาพรวม

ทั้งนี้ นางฮิลลารี ระบุว่า สหรัฐอเมริกายืนยันว่าพร้อมทำงานร่วมกับเกาหลีเหนือ หากเกาหลีเหนือจะปฏิบัติตามสิ่งที่ได้ผูกพันไว้ก่อนหน้านี้ ย้ำแนวทางคือ การโดดเดี่ยวเกาหลีเหนือ และดำเนินการบังคับให้เกิดความเปลี่ยนแปลง อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการคว่ำบาตรเกาหลีเหนือ แต่สหประชาชาติ จะส่งทูตพิเศษด้านสิทธิมนุษยชนเข้าไปในประเทศ เพื่อโอกาสที่จะพูดคุยกับเกาหลีเหนือได้ตลอดเวลา และเห็นว่าควรมีการประชุม 6 ฝ่าย เพื่อนำไปสู่การยกเลิกโครงการนิวเคลียร์แบบไม่หวนกลับของเกาหลีเหนือ นอกจากนี้ การคว่ำบาตรเกาหลีเหนือ จะแสดงให้ประเทศอื่นๆ ที่ปรารถนาจะดำเนินโครงการนิวเคลียร์ เห็นว่าสหประชาชาติมีมาตรการลงโทษได้ ต่อบุคคลใดก็ตามที่ละเมิดหลักการสากล และไม่นำพาต่อความมั่นคงของโลก
กำลังโหลดความคิดเห็น