xs
xsm
sm
md
lg

นโยบายต่างประเทศต้องมีเอกภาพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


การออกมาแสดงความคิดเห็นของ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน อดีตประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) และอดีตผู้บัญชาการทหารบก ในเชิงตำหนินโยบายต่างประเทศของรัฐบาลที่นำโดย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ว่ามีความขัดแย้งกับประเทศเพื่อนบ้าน ดะไปหมด โดยยกตัวอย่างบางประเทศ เช่น สิงคโปร์ พม่า ลาว กัมพูชา เป็นต้น ได้สร้างความแปลกใจไม่น้อย เพราะจู่ๆอดีตนายทหารใหญ่ที่เคยมีบทบาทด้านความมั่นคงผู้นี้จะออกมาวิพากษ์วิจารณ์ในลักษณะ “แรงๆ” แบบนี้

แม้ว่าในความเป็นจริงแล้วย่อมปฏิเสธไม่ได้เช่นเดียวกันว่า นับตั้งแต่รัฐบาลชุดนี้เข้ามามีแต่ปัญหากระทบกระทั่งกับประเทศเพื่อนบ้านรุมเร้าเข้ามาอย่างต่อเนื่อง และยังไม่มีทีท่าว่าจะลดน้อยถอยลงในระยะเวลาอันใกล้

อย่างไรก็ดี หากพิจารณาจากคำวิจารณ์ดังกล่าวจะมีมูลเหตุแห่งความเป็นจริง แต่ขณะเดียวกันหากพิจารณาในอีกแง่มุมหนึ่ง ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าความขัดแย้งกับเพื่อนบ้านบางประเทศในช่วงที่ผ่านมามักเกี่ยวข้องกับ “ผลประโยชน์” ส่วนตัวเฉพาะบุคคลแล้วนำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างชาติ

ยกตัวอย่างที่ระยะหนึ่งทำท่าจะมีความบาดหมางกับประเทศสิงคโปร์ กรณีเข้ามาเช่าฐานทัพอากาศในประเทศไทย หรือการเข้ามาซื้อหุ้นชินคอร์ป ของกองทุนเทมาเสก รวมไปถึงการเข้าฮุบกิจการด้านการธนาคาร และธุรกิจสำคัญในประเทศไทย

แทบทุกกรณีล้วนมาจากการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ระหว่างผู้นำที่มีอำนาจทางการเมืองทั้งสิ้น

กรณีกัมพูชา หากมองย้อนกลับไปทั้งก่อนและหลังเข้ามาเป็นสมาชิกกลุ่มประเทศอาเซียนก็ถือว่ามีความสัมพันธ์แบบ ลุ่มๆ ดอนๆ ส่วนหนึ่งอาจมีผลต่อเนื่องในทางประวัติศาสตร์ เพิ่งมาแนบแน่นในยุครัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในระยะหลัง

แต่กลับมีข้อกล่าวที่รุนแรงในลักษณะ “ต่างตอบแทน” แลกผลประโยชน์ทางธุรกิจระหว่างกัน เช่น ปัญหาผลประโยชน์ทางด้านพลังงานในอ่าวไทย บริเวณเขตทับซ้อนที่ยังเป็นข้อพิพาทระหว่างกัน

ทางด้านชายแดนตะวันตก ด้านพม่า ที่ผ่านมาก็ไม่เคยราบรื่น ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะระบอบการปกครองที่แตกต่างกัน อีกทั้งนโยบายของเผด็จการทหารในประเทศนั้น ที่ไม่สนใจต่อแรงกดดันจากประเทศทางตะวันตก ทั้งในเรื่องของ นางอองซานซูจี ที่ยังต้องถูกควบคุมตัวต่อไปจนถึงบัดนี้ หรือแม้กระทั่งปัญหาในด้านสิทธิมนุษยชน แต่ถึงอย่างไรถ้าสังเกตให้ดีความสัมพันธ์ก็เริ่มดูดีขึ้นมาในยุคของรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เช่นเดิม แต่ก็มีปัญหาปัญหาทุจริตในเรื่องของเงินกู้ 4 พันล้านบาท

เป็นการทูตที่หลังฉากที่เต็มไปด้วยผลประโยชน์ส่วนตัว และฉ้อฉล

สำหรับทางด้านชายแดนลาว แม้ว่าเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ เมื่อพิจารณาในภาพรวมแล้วอาจมีปัญหาน้อยกว่า แต่ก็ยังถือว่ายังคงมีความหวาดระแวงระหว่างกัน โดยเฉพาะจากลาวที่ยังไม่ไว้วางใจสนิทใจนัก แม้ว่าทุกอย่างจะเริ่มดีขึ้นเรื่อยๆ ก็ตาม

แต่สิ่งที่ถือว่ายังเป็นเรื่อง “ละเอียดอ่อน” และอ่อนไหวสำหรับประเทศลาวก็คือ เรื่องของปัญหา “ม้งอพยพ” ที่เป็นผลมาจากการต่อสู้ในยุคจักรวรรดินิยม จนเปลี่ยนแปลงการปกครองในยุคปัจจุบัน เป็นเรื่องคาใจของทางฝ่ายลาวที่เชื่อมโยงไปถึงประเทศมหาอำนาจ เช่น สหรัฐอเมริกา รวมไปถึงประเทศไทยที่เคยให้ที่พักพิงมาตลอด และที่ผ่านมาปัญหาเหล่านี้ก็ไม่เคยแก้ปัญหาอย่างได้เบ็ดเสร็จเด็ดขาดสักที

หากกล่าวอย่างตรงไปตรงมา กรณีม้งอพยพ มักสร้างความขุ่นเคืองให้กับทางฝ่ายลาวอยู่เสมอซึ่งในการเดินทางมาร่วมประชุมกับกลุ่มรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ของ ฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ต้องการหยิบยกเรื่องผู้อพยพชาวม้งมาหารือ และต้องการให้ไทยร่วมกดดันด้วยการคว่ำบาตรพม่า รวมไปถึงต้องการเข้ามามีบทบาทในสถานการณ์จังหวัดชายแดนภาคใต้ คาดว่าจะสร้างความอึดอัดให้กับรัฐบาลไทยไม่น้อย เพราะมีท่าทีไม่เห็นด้วยมาตั้งแต่ต้น

จะมีเพียงชายแดนด้านใต้ ที่ติดกับมาเลเซียเท่านั้นที่มาในยุคนี้ที่ถือว่าความสัมพันธ์ระหว่างสองฝ่ายดีขึ้นเป็นลำดับ ซึ่งก็กลายเป็นว่าตรงข้ามกับในยุคอดีตที่มีความบาดหมาง ตึงเครียด

เมื่อพิจารณาไล่เรียงมาแต่ละประเทศ ก็ย่อมปฏิเสธไม่ได้ว่าความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านส่วนใหญ่มีความขัดแย้งมาตลอด และยังไม่มีทีท่าจะคลี่คลายลงได้ง่ายๆ ก็ตาม แต่อีกด้านหนึ่งก็ต้องยอมรับเช่นเดียวกันว่า เป็นเพราะเชื่อมโยงกับผลประโยชน์ของผู้มีอำนาจ จนนำไปสู่ปัญหาต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

อย่างไรก็ดี ปัญหาความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านได้ผูกโยงเข้ามากับเรื่องการเมืองภายในประเทศ เพื่อกดดันให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ คนปัจจุบันคือ กษิต ภิรมย์ ลาออกจากตำแหน่ง โดยอ้างว่าเป็นตัวการที่ทำให้เกิดความขัดแย้ง แม้ว่าในความเป็นจริง อาจจะมาจากอีกสาเหตุหนึ่งก็ตาม โดยเฉพาะในเรื่องของผลประโยชน์ตามแนวชายแดนที่จะได้รับผลกระทบ

ที่ผ่านมามีกระแสยืนยันว่ามีกลุ่มอำนาจ โดยเฉพาะจากผู้นำในกองทัพบางกลุ่มมีความประสงค์เช่นนั้น ต้องการกวาด กษิต ภิรมย์ ให้พ้นทางก็ตาม

หากพิจารณากันอย่างตรงไปตรงมา ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่านโยบายทางด้านต่างประเทศของไทยที่ยังไม่ประสบความสำเร็จ ส่วนสำคัญเป็นเพราะเกิดจากการขัดแข้งขัดขากันเอง โดยยึดเอาผลประโยชน์ของตัวเองเป็นหลัก มีแต่การเล่นใต้ดิน แล้วโยนความผิดให้กัน

ทั้งที่โดยหลักการแล้ว นโยบายด้านต่างประเทศจะประสบความสำเร็จ และทรงพลัง ทางกระทรวงการต่างประเทศกับกองทัพรวมทั้งหน่วยงานความมั่นคง จะต้องมีความเป็นเอกภาพ

ดังนั้นการออกมาวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลโดยมุ่งไปที่นโยบายด้านต่างประเทศเป็นสำคัญ แม้ว่าส่วนหนึ่งอาจมองว่าเป็นการกล่าวด้วยการแสดงความเห็นตามปกติ แต่ขณะเดียวกันอีกด้านหนึ่งเมื่อพิจารณาตามช่วงเวลาถือว่า “ผิดปกติ” และช่วยไม่ได้ที่สังคมส่วนหนึ่งจะตั้งข้อสงสัยว่าเป็นการเชื่อมโยงกับผู้มีอำนาจบางกลุ่มในกองทัพ เป็นเสมือนลักษณะ “เปลี่ยนหน้า” ออกมามาเล่นหรือไม่ !!
กำลังโหลดความคิดเห็น