นายกฯ ผลักดันยุทธศาสตร์ทำ “เอฟทีเอ” เล็งปรับช่องทางเยียวยาตรงจุดให้ผู้ได้รับผลกระทบ หลัง ปชช.ไม่รู้ผลเกิดจากการลงนามทางการค้า ชี้ต้องปรับปรุงประสิทธิภาพการแข่งขัน
วันนี้ (3 ก.ค.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ปาฐกถาพิเศษเรื่องนโยบายและทิศทางการค้าเสรีของไทย จัดโดย กมธ.เศรษฐกิจ การพาณิชย์และอุตสาหกรรม วุฒิสภา มีรายละเอียดว่า มาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญระบุว่า การทำสัญญาระหว่างประเทศที่มีผลกระทบต่อประเทศนั้นต้องได้รับความเห็นชอบจากฝ่ายนิติบัญญัติก่อนที่สัญญาจะมีผลบังคับใช้ เพื่อให้ฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญติ และส่วนอื่นๆ เข้าใจตรงกัน
นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ประเด็นที่เถียงกันนั้นอาจมองข้ามภาพใหญ่ที่มีความสำคัญ คือ การค้านั้นเป็นความสมัครใจ ไม่มีใครบังคับให้ใครค้ากับใครได้ การเปลี่ยนเเปลงกติการค้านั้นไม่ได้หมายว่าจะบังคับให้ใครซื้อสินค้ากับใครได้ การเติบโตทางการค้าทั้งในและนอกประเทศเกิดได้จากผู้ซื้อและผู้ค้าพอใจที่จะทำการค้านั้นๆ พื้นฐานการเพิ่มพูนการค้าคือการเพิ่มพูนโอกาสของทั้งสองฝ่ายที่มีทางเลือกในการซื้อและขาย การพัฒนาทางเศรษฐกิจเติบโตได้มากมาจากการค้าขาย วันนี้โลกหมุนกลับมาสู่ระบบการค้าเสรีที่มีส่วนสำคัญในการยกระดับคุณภาพชีวิตและแก้ไขความยากจนได้ชัดเจนที่สุด
นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า การค้าจะเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคมโดยรวมนั้นต้องมาจากความเป็นธรรม ควบคู่ยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ ปัจจุบันรัฐบาลนี้บรรลุข้อตกลงการค้าระหว่างประเทศ การค้าระดับทวิภาคีกับหลายประเทศและกลุ่มประเทศ ไทยเป็นส่วนหนึ่งของอาเซียนที่ไปทำข้อตกลงการค้าระหว่างกับญี่ปุ่น จีนและเกาหลี โดยวันที่ 1 ม.ค.2553 ภาษีนำเข้าจะเหลือร้อยและศูนย์ ยกเว้นสินค้าเกษตรบางชนิดเท่านั้น การผลักดันที่เป็นประโยชน์และเป็นธรรมต้องผลักดันบนเวทีกว้างที่สุด การเจรจาระดับโลกผ่านองค์การการค้าโลกสำคัญที่สุด และแตกต่างกับองค์กรอื่นคือ เปิดโอกาสให้ทุกประเทศมีส่วนร่วมบนความเสมอภาค แม้บางประเทศไม่ยอมรับข้อตกลง ข้อตกลงนั้นๆ จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย ข้อตกลงการค้าระหว่างประเทศที่รัฐบาลให้ความสำคัญคือตรงนี้ เพราะเป็นโอกาสผลักดันผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ แนวโน้มที่ดีอีกอย่างคือวิกฤตเศรษฐกิจรอบนี้ บางประเทศแอบใช้การกีดกันทางการค้าบ้าง แต่มันเบากว่าในอดีตที่เกิดขึ้น ผู้นำประเทศต่างๆ ยืนยันบนเวทีในการเพิ่มพูนทางการค้า เพราะการหดตัวทางการค้าระหว่างประเทศ จะสร้างความเดือดร้อน
นายอภิสิทธิ์กล่าวอีกว่า วิกฤตเศรษฐกิจของไทยครั้งนี้มาจากการค้าระหว่างประเทศล้วนๆ เพราะวิกฤตภายในประเทศนั้นไม่มีเลย ฉะนั้น การผลักดันการเจรจาการค้าโลกรอบโดฮาควรกลับมาเร็วที่สุด ช่วงที่ตนไปประชุมกลุ่มประเทศ จี 20 ที่ อังกฤษไม่มีใครกล้าระบุให้ที่ประชุมผลักดันเรื่องนี้ เพราะประเทศสำคัญๆเช่นอเมริกาและอินเดียมีปัญหาความขัดแย้งและไม่มีใครคิดว่าเรื่องนี้จะกลับมาอยู่บนโต๊ะเจรจาได้ สุดท้ายหากผู้นำจะยืนยันเรื่องการกีดกันทางการค้านั้นคงไม่พอ เพราะต้องผลัดดันกรอบการเจรจาการค้าโลกรอบโดฮากลับมา โดยต้องนำเรื่องนี้เข้าสู่เวทีการประชุมกลุ่มประเทศจี8 ให้มาขับเคลื่อนกรอบการเจรจาฯรอบโดฮาต่อไป
นายอภิสิทธิ์กล่าวด้วยว่า ประโยชน์ที่ไทยจะได้รับ คือ ประเทศพัฒนาแล้วต้องเปิดตลาดสินค้าเกษตร หรือยุติการเลือกการอุดหนุนสินค้าภายใน ช่วงที่ตนไปประชุมที่อินโดนีเซียในการประชุมกลุ่มประเทศสินค้าเกษตรในการส่งออก โดยการเจรจาการค้าโลกรอบใหม่นั้น เรื่องข้างต้นเป็นส่วนสำคัญในการเจรจา การเจรจาแต่ละรอบนั้นใช้เวลานาน หลายประเทศรู้สึกทำนองเดียวกันว่า ทำไมจึงเจรจาการค้าเสรีระดับทวิภาคีและ ภูมิภาค เรื่องนี้มันเลี่ยงได้ยาก ปัญหานั้นในอดีต หากมีการตกลงการทำข้อตกลงเขตการค้าเสรี ที่ทำไปโดยขาดยุทธศาสตร์ภาพรวม แม้แต่นายศุภชัย พานิชภักดิ์ ผอ.องค์การการค้าโลก ยังปรารภว่าข้อตกลงเขตการค้าเสรีของไทยในอดีตไม่มียุทธศาสตร์ หากไม่ผลักดันในกรอบของโลกทั้งโลก การผลักดันระหว่างประเทศนั้นจะมีผลกระทบข้างเคียงมาก การขาดยุทธศาสตร์ในอดีตของไทยนั้น มันมีการดำเนินการผลักดันเรื่องเหล่านี้ตามสะดวก เพราะผู้นำคิดว่าทำได้ง่ายกว่าการนำโจทย์ภาพรวมทางการค้าเป็นตัวตั้ง ตรงนี้ต้องปรับแก้ไข
นายอภิสิทธิ์กล่าวอีกว่า การทำข้อตกลงเขตการค้าเสรี แม้โดยรวมจะทำให้เกิดผลประโยชน์ แต่ละข้อตกลงนั้นจะมีกลุ่มต่างๆ ในประเทศที่ได้และเสีย ปัญหาสำคัญ คือ การชั่งว่าหักลบแล้วเหมาะสมหรือไม่ เรื่องนี้ไม่มีคำตอบสำเร็จรูป หลายคนบอกว่าวัดได้คือ ดูจากดุลการค้าหรือการเสียดุลการค้า มันคิดแบบนี้ไม่ได้เพราะไม่มีกลไกให้กลุ่มที่ได้ผลประโยชน์ชดเชยกับกลุ่มที่เสียประโยชน์ รวมทั้งการชั่งน้ำหนัก เช่น ได้จากระบบโทรคมนาคมแต่เสียทางการเกษตร มันคือปัญหาว่ากระบวนการเจรจา ที่ต้องพิจารณาผลกระทบการกระจายรายได้ ที่ต้อง ทำให้ชัดเจนก่อน รวมทั้งสิ่งที่ไม่ได้ทำมาในอดีต คือการเยียวยากับอีกกลุ่มว่า จะเริ่มดำเนินการตอนไหน เมื่อลงนามในข้อตกลงแล้ว จึงตั้งกองทุนในกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรฯ แต่กองทุนเหล่านี้ใช้เงินน้อยมาก คำตอบคือ ผลกระทบนี้ผู้ได้รับผลกระทบไม่ทราบ เช่นเกษตรกรภาคเหนือที่เตรียมตัวไม่ทันและไม่ทราบผลกระทบเขตการค้าเสรีไทย-จีน ตรงนี้ถามว่าจะดำเนินการอย่างไรนั้น
นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า เรายึดกรอบการเจรจาการค้าโลกรอบโดฮา และกรอบอาเซียน ตามลำดับที่ต้องเตรียมการ เดินหน้าการเจรจาต่อไป ส่วนระดับทวิภาคี พูดตามความจริงถือว่ามีประเด็นค้างน้อย เช่น เขตการค้าเสรีไทย-อเมริกานั้นมันยากที่จะไปสานต่อ เหตุที่มีปัญหามาจากฝ่ายนั้นมากกว่าฝ่ายเรา แต่ความเป็นไปได้ในการเจรากับบางประเทศที่เติบโตอย่างเร็วและจะเป็นตลาดใหม่ เช่น ตะวันออกลาง ยุโรปตะวันออก อียู ก็กำลังพิจารณาแนวทางที่จะทำจากนี้คือกำหนดยุทธศาสตร์ที่ชัดเจน รวมทั้งประเมินผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับทุกส่วนเพื่อเตรียมมาตรการล่วงหน้าต่อไป
นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ข้อตกลงที่ดำเนินการไปแล้วจะมอบหมายให้ทบทวนและประเมินผลกระทบเพื่อดูว่าจะปรับปรุงกลไกการเยียวยาให้ผู้ได้รับผลกระทบอย่างไร หากไปถึงขั้นเพื่อปรับปรุงแก้ไขนั้นต้องกระทำได้ การติดตามตรงนี้มันต้องบังคับใช้ได้ด้วย เช่น เรื่องยา หรือสินค้าที่เข้ามาในไทย เพราะเราต้องปกป้องคุ้มครองผู้บริโภคของเรา เป็นต้น หน่วยงานที่ทำหน้าที่คือกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรม และกระทรวงเกษตรฯ ตนได้แต่งตั้งผู้แทนการค้าไทยขึ้นมา เพื่อดึงบุคลากรต่างๆ มาช่วยเสริมงานนี้ และมอบงานให้ติดตามแนวทางการทำงานของรัฐบาล ในภาพรวมทางการค้าด้วย
นายอภิสิทธิ์กล่าวย้ำว่า การดำเนินการเขตการค้าเสรีนั้น ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ว่าจะทำได้มากหรือเร็วเพียงใด แต่มันอยู่ที่การเพิ่มโอกาสให้คนในสังคม หากมีผลกระทบต้องดูว่าจะจัดการอย่างไร บางอย่างต้องยอมรับได้ เพราะมันจะปรับปรุงประสิทธิภาพการแข่งขันบางอย่างของเราด้วย อย่าคิดว่าการปกป้องการแข่งขันภายในนั้น มันคือการช่วยเหลือกันเอง แต่มันจะทำให้อยู่ไม่ได้ในระยะยาว เช่น ภาคการเงินที่ปกป้องสถาบันการเงิน เมื่อแข่งขันไม่ได้จนเกิดวิกฤตที่ทำให้คนอื่นมาซื้อ โดยที่เราไม่มีอำนาจต่อรอง ฉะนั้น ผลกระทบบางอย่างนั้นมันเป็นการเพิ่มพูนประสิทธิภาพเพื่อให้ทุกอย่างเกื้อกูล ตามธรรมชาติของเศรษฐกิจ ที่อิงกลไกตลาด รัฐบาลคำนึงประโยชน์สูงสุด ของประเทศและพิจารณารอบด้าน ตนขอความร่วมมือจากรัฐสภาให้ข้อมูลและมุมมองกับรัฐบาลนำไปตัดสินใจ การค้าเสรีนั้นหากไม่ทำแล้วนั้นในที่สุดเราจะแข่งขันในตลาดโลกไม่ได้ และจะย้อนมากดดันการเติบโตทางเศรษฐกิจ และคุณภาพชีวิตของประชาชน