สหภาพการไฟฟ้าเข้าหารือ “บุญจง” ช่วยค่าครองชีพ ได้เฮ มหาดไทยเคาะแจกเงินเดือนให้คนละ 2 พันที่มีรายได้ตั้งแต่ 50,000 ลงมา เป็นเวลา 1 ปี ยันไม่ขึ้นค่าไฟแน่ ด้าน “เพียร” ย้ำจำเป็นจริงๆ อย่าคิดว่า กฟน.เงินเดือนพอใช้ แขวะจะตัดไฟกระทรวงการคลังเพราะค้างจ่าย แต่ไม่ใช่ประท้วง
วันนี้ (24 มิ.ย.) ที่กระทรวงมหาดไทย เมื่อเวลา 13.00 น. นายเพียร ยงหนู ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้านครหลวง (สร.กฟน.) พร้อมด้วยตัวแทนสหภาพแรงงานประมาณ 20 คน ได้ร่วมหารือกับนายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะกำกับดูแลการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และนายพรเทพ ธัญญพงศ์ชัย ผู้ว่าการ กฟน. นายวงศ์ศักดิ์ สวัสดิ์พาณิชย์ อธิบดีกรมการปกครอง เรื่องการเพิ่มค่าครองชีพชั่วคราวให้พนักงาน กฟน.โดยใช้เวลาหารือประมาณ 2 ชั่วโมง และไม่ให้สื่อมวลชนร่วมสังเกตการณ์
จากนั้น นายบุญจงแถลงข่าวว่า ผลการหารือเรื่องการเพิ่มค่าครองชีพชั่วคราวนั้น ได้ข้อสรุปว่า พนักงาน กฟน.ที่จะมีสิทธิรับค่าครองชีพชั่วคราวเดือนละ 2,000 บาท ต้องเป็นพนักงานที่เงินเดือนตั้งแต่ 50,000 บาทลงมา ซึ่งมีจำนวน 6,071 ราย คิดเป็นเงินประมาณเดือนละ 12 ล้านบาท โดยจะให้การช่วยเหลือเป็นระยะเวลา 1 ปี นับจากการประชุมคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ ซึ่งคาดว่าจะเสนอได้ในสัปดาห์หน้า และยืนยันว่าการเพิ่มค่าครองชีพดังกล่าวจะไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ใช้ไฟฟ้า ไม่ขึ้นราคาไฟฟ้าอย่างแน่นอน เพราะเงินที่นำมาใช้เป็นผลกำไรของ กฟน.รัฐบาลไม่ต้องจัดสรรงบประมาณรายจ่ายตรงนี้ อย่างไรก็ตาม ในส่วนของพนักงานการประปานครหลวงนั้นอยู่ในความรับผิดชอบของนายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย (มท.3) ซึ่งคงจะมีการนัดหารือกับนายถาวรเอง และหลักการช่วยเหลืออาจแตกต่างจาก กฟน. ขึ้นอยู่กับการหารือกับนายถาวร
เมื่อถามว่า หากเกิดกรณีเช่นนี้เกรงว่ารัฐวิสาหกิจ (รสก.) อีก 55 หน่วยงานจะขอด้วยหรือไม่ นายบุญจงกล่าวว่า รสก.อื่นก็อาจใช้สิทธิ แต่ต้องขึ้นอยู่กับรายได้ของ รสก.นั้นๆ ว่ามีผลกำไรหรือไม่ ทั้งนี้ รายได้ของพนักงาน กฟน.ในระดับต่ำสุด คือ 6,000 บาท และสูงสุดคือ 200,000 บาท ซึ่งในการพิจารณาเราคิดไปถึงขั้นว่าให้ผู้ที่ได้รับการช่วยเหลือมีเงินเดือนต่ำกว่า 15,000 บาท แต่จะมีผู้รับผลประโยชน์ไม่มากจึงเจรจาได้ข้อสรุปนี้ แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการเพิ่มค่าครองชีพ กฟน.ต้องมีการพัฒนาให้ประชาชนได้รับบริการที่ดีที่สุด
นายเพียรกล่าวว่า ผลการหารือที่ออกมาก็ถือเป็นที่พอใจ ซึ่งเราเรียกร้องโดยมองความจำเป็น บางคนมองว่า พนักงาน รสก.เงินเดือนสูง แต่นั่นคือมองพวกที่มีขั้นเงินเดือนสูงสุด อย่างตนทำงาน 31 ปี เงินเดือน 29,000 บาท เมื่อมีภาวะเศรษฐกิจไม่ดี เราก็ยิ่งต้องรับภาระ และตนยังเป็นหนี้ค่าบ้าน ประกอบกับนโยบายประชานิยมของรัฐบาลที่ผ่านมา ส่งผลให้ค่าครองชีพยิ่งสูงขึ้น ส่วนหาก ครม.ไม่อนุมัติตามที่นายบุญจงเสนอนั้นก็ต้องชี้แจงว่าเหตุผลคืออะไร แต่ตนยืนยันได้ว่า กฟน.จะไม่ทำให้ประชาชนเดือดร้อนเด็ดขาด ขนาดจัดชุมนุมก็ไปชุมนุมบนฟุตปาธ ส่วนที่มีการปราศรัยระหว่างการชุมนุมขู่ตัดไฟกระทรวงการคลังนั้น ถ้าจะตัดก็ตัดเพราะเหตุผลที่เขาไม่จ่ายค่าไฟ ปฏิบัติมาตรฐานเดียวกับประชาชน ไม่ใช่ว่าเป็นหน่วยงานรัฐค้างจ่ายแล้วเราไม่ตัดไฟ แต่ประชาชนค้างจ่ายแล้วตัด ซึ่งกระทรวงการคลังก็ค้างค่าไฟทั้งที่มีเงินพอ
นายพรเทพกล่าวว่า กำไรของ กฟน.ในปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 4,000 ล้านบาท ถ้าจะถามว่าการจ่ายค่าครองชีพดังกล่าวส่งผลกระทบต่อ กฟน.หรือไม่นั้น ต้องตอบว่าเมื่อเป็นค่าใช้จ่ายก็ต้องกระทบ แต่จะไม่กระทบกับอัตราค่าไฟฟ้า และพนักงานต้องทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อหารายได้เพิ่มให้ กฟน.
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่าข้อเสนอที่ สร.กฟน.ได้ยื่นต่อนายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 23 มิ.ย. มีประเด็นที่สำคัญ คือ ขอให้พิจารณาแก้ไขปัญหาของ กฟน.จากปัญหาการใช้โปรแกรมสำเร็จรูป ERP โดยต้องการให้มีการตรวจสอบแก้ไขไม่ให้เกิดข้อบกพร่องและสามารถตรวจสอบได้ทุกประเด็น และชะลอการจัดซื้ออุปกรณ์ชุดดรอฟฟิวส์ ซึ่งหากยกเลิกสัญญาซื้อได้ก็ให้ยกเลิกไปเลย ส่วนปัญหาการขาดแคลนบุคลากร เรื่องการขออัตรากำลังเพิ่มการจ้างเหมาจากบุคคลภายนอก ทาง สร.กฟน.จะหารือกับกระทรวงการคลังเอง
ส่วนเรื่องปัญหาสวัสดิการการรักษาพยาบาลจะไม่มีนโยบายยุบโรงพยาบาลการไฟฟ้านครหลวง รวมถึงให้ชะลอการนำระบบ SCAN นิ้วมือมาใช้งานแทนระบบเก่า ทั้งนี้ ให้ผู้ว่าฯ กฟน.ไปตรวจสอบความล่าช้าของการจ่ายค่าน้ำมันเชื้อเพลิงของการไฟฟ้านครหลวงด้วยตัวเอง ส่วนการพิจารณาขึ้นเงินเดือนของฝ่ายบริหารต้องพิจารณาตามสิทธิต่างๆ เท่าเทียมกัน และตั้งคณะกรรมการพิจารณาในการกำหนดหลักเกณท์การปรับขึ้นเงินเดือนแบบเป็นเปอร์เซ็นต์ จัดทำประกันชีวิตให้พนักงานที่ปฏิบัติงานในพื้นที่เสี่ยงตามจังหวัดต่างๆ ในภาคใต้ในวงเงิน 500,000 บาท ส่วนเรื่องการการจ่ายค่าครองชีพให้เร่งเสนอในที่ประชุม ครม.อย่างเร่งด่วน รวมถึง สร.กฟน.ที่เข้าร่วมประชุมใหญ่วิสามัญ ในวันที่ 12, 16 และ 23 มิ.ย.ให้ถือว่ามาปฏิบัติหน้าที่ให้กับการไฟฟ้านครหลวง