นายกรัฐมนตรีเป็นประธานเปิดงาน พร้อมปาฐกถาพิเศษในงาน ASEAN Leadership Forum 2009 ครั้งที่ 6 ณ โรงแรมเชอราตัน แกรนด์ กรุงเทพฯ โดยระบุว่าอาเซียนมีความพร้อมในด้านความร่วมมือ ตลอดจนมีศักยภาพในการที่จะรองรับการลงทุนในด้านต่างๆ จึงเชื่อมั่นว่าจะเป็นอีกทางเลือกของปลายทางและเป้าหมายการทำธุรกิจของนักลงทุนได้เป็นอย่างดี
วันนี้ (19 มิ.ย.) เวลาประมาณ 10.00 น. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษในงาน ASEAN Leadership Forum 2009 ครั้งที่ 6 ณ โรงแรมเชอราตัน แกรนด์ สุขุมวิท กรุงเทพฯ ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวชื่นชมสถาบัน ASEAN Strategy & Leadership Institute (ASLI) และสำนักงานเลขาธิการอาเซียน ASEAN Secretariat ที่ทำให้งานวันนี้เกิดขึ้นได้จริง เพราะรัฐบาลไม่ได้เป็นเจ้าของอาเซียน แต่อาเซียนเป็นของประชาชนทุกคน และผู้บริหารชั้นนำในสาขาต่างๆ ที่จะเป็นแรงขับเคลื่อนอาเซียนมุ่งสู่ความเป็นชุมชนอาเซียน
นายกรัฐมนตรีกล่าวต่อไปว่า เพียงรอบทศวรรษที่ผ่านมามีวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่เกิดขึ้นถึงสองครั้งและเกิดภัยธรรมชาติต่างๆ มากมายตลอด 5 ปี สิ่งแวดล้อม ความมั่นด้านอาหารและพลังงาน กลายเป็นประเด็นวิตกกังวล ยังมีโรคติดเชื้อที่เกิดขึ้นใหม่ๆ อาทิ ซาร์ส ไข้หวัดนก และที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ คือ ไข้หวัดใหญ่สายพันธ์ใหม่ ชนิด A (H1N1) ซึ่งไม่มีประเทศใดที่จะสามารถต่อสู้ได้ตามลำพัง ดังนั้น ความร่วมมือเพื่อเป็นหนึ่งเดียวกันภายในภูมิภาค จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่จะช่วยให้สามารถเอาชนะความท้าทายในปัจจุบันและที่จะเกิดขึ้นอนาคตได้
แต่อย่างไรก็ตาม วิกฤตเศรษฐกิจโลกในวันนี้กลายเป็นประเด็นสำคัญสำหรับการหารือของที่ประชุมในวันนี้ ซึ่งทุกคนเห็นถึงความรุนแรงด้วยกัน เนื่องจากโลกในวันนี้มีการพึ่งพาและเชื่อมโยงกันมาก วิกฤตต่างๆ มีแนวโน้มว่าจะเกิดขึ้นบ่อยและรุนแรงมากยิ่งขึ้น อาเซียนในเวลานี้ต้องมองข้ามวิกฤตไปถึงโลกข้าหน้าที่เราต้องการ หลังจากวิกฤตเศรษฐกิจได้ผ่านพ้นไป และเริ่มต้นกับประเทศและกลุ่มประเทศอื่นๆ เพื่อออกแบบโลกเพื่อสร้างเศรษฐกิจให้เข้มแข็งร่วมกัน ก่อให้เกิดการพัฒนาและการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยอาเซียนถือเป็นสถานที่ที่เหมาะสม ด้วยเหตุผลต่างๆ ทั้งการเป็นชุมชนเศรษฐกิจที่จะสามารถเป็นฐานการผลิตขนาดใหญ่ได้อันจะสามารถจะดึงดูดธุรกิจพร้อมกับเป็นเป้าหมายปลายทางของการลงทุนและธุรกิจได้มาก
ตลอดไปถึงการที่อาเซียนมีความหลากหลายภายในภูมิภาคทำให้มีทุกๆสิ่งสำหรับทุกๆ คน เพราะอาเซียนประกอบด้วยประชากรกว่า 600 ล้านคน เป็นตลาดผู้บริโภคขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพ มีวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ที่หลากหลาย ส่งให้ภูมิภาคนี้เป็นตลาดท่องเที่ยวที่น่าสนใจ นอกจากนี้ อาเซียนยังตั้งอยู่ในอาณาบริเวณที่มีความพลวัตมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลกนั่น คือ ทวีปเอเชีย พื้นที่ที่มีพลวัตรและความยืดหยุ่นของสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจสูง คือปัจจัยขับเคลื่อนกลุ่มอาเซียนได้เป็นอย่างดี
นายกรัฐมนตรีกล่าวด้วยว่า เป้าหมายขณะนี้ คือ การทำให้กลุ่มอาเซียนสามารถตอบสนองต่อความต้องการของธุรกิจและประชาชนได้มากยิ่งขึ้น การประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 14 ที่ชะอำ/หัวหิน เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนได้ลงนามความตกลงเกี่ยวกับการค้าสินค้าและบริการที่สำคัญหลายฉบับ รวมทั้งความตกลงเกี่ยวกับการลงทุน ทุกฉบับมีเป้าหมายในการอำนวยความสะดวกให้แก่ธุรกิจในภูมิภาค เช่น (1) ความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน ที่ต้องการเพิ่มความโปร่งใสและความแน่นอนภายใต้กรอบการทำงานด้านกฎหมายของอาเซียน และ (2) ความตกลงว่าด้วยการลงทุนอาเซียนรอบด้านฉบับใหม่
ทั้งนี้ รัฐบาลไม่สามารถสร้างหรือกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจได้โดยลำพัง จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคเอกชน ภาคประชาสังคม นักวิชาการและสังคมโดยรวม ซึ่งจะต้องมีการดำเนินการอย่างจริงจังและตัดสินใจในสิ่งที่จำเป็นอย่างเฉียบขาด คิดหาทางออกของปัญหาอย่างสร้างสรรค์โดยภาคเอกชน คือ หุ้นส่วนสำคัญของการรวมตัวทางเศรษฐกิจของอาเซียน
นายกรัฐมนตรีกล่าวสรุปในตอนท้ายในฐานะประธานอาเซียนว่า มีความภูมิใจในความสำเร็จต่างๆ ที่ผ่านมาของเรา ตลาดอาเซียนเมื่อรวมกันแล้ว จะมีประชากรกว่าครึ่งพันล้านคน GDP รวมกันมากกว่า 1.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และการส่งออกมีมูลค่ามากกว่า 1.66 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ อาเซียนเป็นพลังขับเคลื่อนเต็มไปด้วยโอกาสการค้าและการลงทุน รวมทั้งโอกาสอื่นๆ ที่ภาคส่วนต่างๆ ของอาเซียนยังสามารถแสวงหาและนำมาปรับใช้ ดังนั้นจึงขอให้วางใจและเชื่อมั่นอาเซียน พิจารณาอาเซียนว่าเป็นอีกทางเลือกของปลายทางและเป้าหมายการทำธุรกิจและการลงทุน มองไปยังภาพในอนาคตของภูมิภาคในปี 2015