หลังจากศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 เห็นว่า ร่างพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ พ.ศ. 2552 หรือ พ.ร.ก.กู้เงิน 4 แสนล้านบาท ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ ตามที่ฝ่ายค้านเสนอให้ตีความก่อนหน้านี้
เมื่อผลออกมาดังกล่าวทำให้รัฐบาลสามารถเดินหน้าเต็มกำลัง แต่ก็มีคำถามดักคอขึ้นมาทันควันเช่นเดียวกันว่า รัฐบาลกำลังใช้วิธีออกพระราชกำหนดเพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจสอบจากรัฐสภาหรือไม่
จริงอยู่คำว่า พระราชกำหนดถือว่ามีความจำเป็นเร่งด่วน ขืนชักช้าเดี๋ยวจะไม่ทันการณ์ แต่สิ่งที่ต้องพิจารณาก็คือ มีหลายโครงการใหญ่ๆถูกนำมาบรรจุอยู่ในงบประมาณในโครงการ “ไทยเข้มแข็ง” ส่วนใหญ่ถูกบรรจุเป็นโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน
เป็นการส่อออกมาในลักษณะ “สมาน-ฉัน” กันในหมู่พรรคร่วมรัฐบาลนั่นแหละ
อย่างไรก็ดีเพื่อให้ภาพชัดขึ้นก็ต้องอธิบายร่าง พ.ร.ก.กู้เงิน 4 แสนล้านบาท ที่รัฐบาลกำลังจะประกาศออกมาในอีกไม่นานนี้แบ่งเงินออกเป็นสองก้อน ก้อนแรกจำนวน 2 แสนล้านบาทจะนำไปโปะเงินคงคลังที่กำลัง “กระเป๋าฉีก” อยู่ในเวลานี้
ส่วนก้อนที่สองอีก 2 แสนล้านบาท จะนำไปใช้ในโครงการ “ไทยเข้มแข็ง” ปี 2555 ทั้งๆที่น่าจะบรรจุงบประมาณโครงการเหล่านี้เข้าไปใน ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2553 ซึ่งรัฐบาลกำลังจะพิจารณาในสภาสมัยวิสามัญในวันที่ 15-23 มิถุนายน นี้ได้อยู่แล้ว
แต่รัฐบาลกลับไปตัดงบประมาณปี 2553 ลงมา 2 แสนล้านเหลือ 1.7 ล้านล้านบาทแล้วนำมาบรรจุอยู่ใน พ.ร.ก.กู้เงินฉุกเฉิน หน้าตาเฉย ซึ่งจะมองเป็นอย่างอื่นไม่ได้นอกจากมีเจตนาหลีกหนีการตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณจากรัฐสภา รวมทั้งการพิจารณาถึง “ความคุ้มค่า” การลงทุนด้วย
นอกเหนือจากนี้ เงินอีกจำนวน 4 แสนล้านบาท ที่กำลังจะออกเป็นพระราชบัญญัตินั้นเมื่อรวมกับเงินใน พระราชกำหนด 4 แสนล้านบาท รวมเป็น 8 แสนล้านบาท ถือว่าเป็นเงินนอกงบประมาณ เพราะเป็นเงินกู้ล้วนๆ ไม่ใช่เงินจากการจัดเก็บรายได้ตามปกติ
ถือว่าเป็นการจัดทำงบประมาณครั้งแรกที่เป็นแบบนี้ ซึ่งหากมองอีกมุมหนึ่งก็น่าเป็นห่วงเช่นเดียวกันว่า เป็นการสุ่มเสี่ยงในเรื่องวินัยการเงินและการคลังหรือไม่
ขณะเดียวกันเมื่อมาพิจารณาโครงการ “ไทยเข้มแข็ง” ที่วางไว้ตั้งแต่ปี 2553-2555 ถือว่าแต่ละโครงการมีเม็ดเงินจำนวนมหาศาล นำไปแจกจ่ายกันในหมู่พรรคร่วมรัฐบาล เพราะถ้าไล่ไปแต่ละโปรเจ็กต์ เช่น ขนส่ง ซึ่งมีทั้งงานบำรุงรักษาทางหลวง ถนนไร้ฝุ่น รถไฟฟ้า จำนวน 40 เปอร์ซ็นต์ วงเงิน 335,900 ล้านบาท
โครงการบริหารจัดการน้ำ 17 เปอร์เซ็นต์ เช่น โครงการชลประทานขนาดใหญ่ โครงการฟื้นฟูแหล่งน้ำ วงเงิน 222,500 ล้านบาท นอกนั้นก็เป็น โครงการที่เกี่ยวกับการศึกษา 10 เปอร์เซ็นต์ วงเงิน 128,600 ล้านบาท สาธารณสุข 7 เปอร์เซ็นต์ วงเงิน 98,200 ล้านบาท เป็นต้น
หากมองในเรื่องของตัวเลขก็จะเห็นได้ทันทีว่ากระจายแบ่งกันไปตามกระทรวงสำคัญต่างๆ เช่น มหาดไทย คมนาคม ศึกษาธิการ สาธารณสุข และเกษตรฯ แบ่งกันไประหว่างพรรค ประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย และ ชาติไทยพัฒนา ลดหลั่นกันไป
ขณะเดียวกันเมื่อวกกลับมาที่โครงการเช่ารถเมล์เอ็นจีวี 4 พันคันของพรรคภูมิใจไทย “กลุ่มเพื่อนเนวิน” ที่ถูกซื้อเวลาออกไปอีก 1 เดือน เพื่อลดกระแสต้านจากสังคม รวมทั้งอีกหลายกรณีที่ไม่ชอบมาพากล ที่น่าสังเกตก็คือแรงต้านในสภาที่ทำหน้าตรวจสอบอย่างแข็งขัน เท่าที่เห็นก็มีเพียงกลุ่ม ส.ว.เท่านั้น ที่ทำหน้าที่อย่างแข็งขัน
ขณะที่รัฐบาล และกลุ่ม ส.ส.หากพิจารณาจากผลงานที่ผ่านมาชาวบ้านจะหวังพึ่งอะไรไม่ได้เลย แม้ว่าก่อนหน้านี้รัฐบาล โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จะออกมาชี้แจง โดยชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นของการกู้เงินเพื่อมากระตุ้นเศรษฐกิจ มาลงทุนในโครงการต่างๆ เพื่อรองรับการเติบโตในวันข้างหน้าก็ตาม
แต่เมื่อได้เห็นการซื้อเวลาในโครงการเช่ารถเมล์ 4 พันคัน รวมทั้งยอม “เกี้ยเซียะ” ในโครงการระบายข้าว ข้าวโพด กับพรรคร่วมรัฐบาล เพื่อแลกกับการสนับสนุนให้อยู่ในอำนาจต่อไป มันก็ยิ่งไม่น่าไว้วางใจ
นอกจากนี้ถ้าได้ดูผลงานในคณะกรรมการสมานฉันท์อะไรนั่นก็ยิ่งไปกันใหญ่ เพราะดูๆไปทำท่าจะกลายเป็นการตอกลิ่มความขัดแย้งไปใหญ่
ดังนั้นหากปล่อยให้ใช้งบประมาณจำนวนมหาศาลที่เป็นเงินกู้ 8 แสนล้านบาท และงบประมาณปี 2553 อีก 1.7 ล้านล้านบาท กันอย่างสะดวกมันก็ยิ่งน่าเป็นห่วงเป็นทวีคูณ !!