“นายกฯ อภิสิทธิ์” มอบรางวัลราชบัณฑิตยสถานสรรเสริญแก่ผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่น “ป๊อก ปิยธิดา-บุ๋ม ปนัดดา” ร่วมรับรางวัลพร้อมเยาวชนที่ร่วมประกวด “มาร์ค” ยกพระราชนิพนธ์ล้นเกล้ารัชกาล 6 ย้ำภาษาไทยเป็นเครื่องผูกพันใจคนในชาติ สร้างความแน่นแฟ้น ชี้ “ในหลวง” ให้ความสำคัญภาษาหลังโลกโซเบอร์คุกคามจนใช้กันผิดมากขึ้น เล็งผลักดัน “การอ่าน” เป็นวาระของชาติ
วันนี้ (25 พ.ค.) ที่สนามเสือป่า ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 09.30 น.นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้เดินทางเป็นประธานมอบรางวัล “ราชบัณฑิตยสถานสรรเสริญ” แก่ผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่นประจำปี 2551 ที่อาคารราชบัณฑิตยสถาน สนามเสือป่า สำหรับนักแสดงที่ได้รับรางวัลราชบัณฑิตยสถานสรรเสริญ เช่น น.ส.ปิยะธิดา วรมุสิก จากละครเรื่องนางทาส นายศิวัฒน์ โชติชัยรินทร์ จากละครเรื่องเรไรลูกสาวป่า น.ส.ปนัดดา วงศ์ผู้ดี จากละครเรื่องดั่งดวงตะวัน และนายมนตรี เจนอักษร จากละครเรื่องเทวดาสาธุ
ส่วนเยาวชนผู้ชนะการประกวดทักษะการใช้ภาษาไทยของเยาวชน ซึ่งได้รับรางวัลพร้อมทุนการศึกษา 10,000 บาท ได้แก่ ด.ญ.ฐิตารีย์ ตันประเสริฐ จากโรงแรนอนุบาลสามเสน รองชนะเลิศอันดับ 1 ทุนการศึกษา 8,000 บาท ได้แก่ ด.ช.ธันยพร บุญพันธ์ จากโรงเรียนอนุบาลสุธีธร รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 พร้อมทุนการศึกษา 6,000 บาท ได้แก่ ด.ญ.ภิชญาดา จุ้ยเจริญ จากโรงเรียนอนุบาลสุธีธร นอกจากนี้ยังมีรางวัลชมเชยอีก 9 รางวัล พร้อมทุนการศึกษารางวัลละ 2,000 บาท
นายกรัฐมนตรีกล่าวให้โอวาทโดยมีใจความสำคัญตอนหนึ่งว่า เชื่อว่าผู้ดำเนินโครงการหวังให้ท่านทั้งหลายได้เป็นแบบอย่างที่ดีและเป็นกำลังใจให้อีกหลายต่อหลายคนในสังคมของเราที่จะใช้ภาษาไทยได้อย่างถูกต้อง ภาษาไทยเป็นวัฒนธรรมที่สำคัญของชาติ นอกจากเป็นสิ่งที่เราใช้ติดต่อกันแล้ว ภาษายังเป็นศูนย์กลางยึดเหนี่ยวที่สำคัญของคนในชาติ ดังที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชนิพนธ์ไว้ว่า “ภาษาเป็นเครื่องผูกพันมนุษย์แน่นแฟ้นกว่าสิ่งอื่น และไม่มีสิ่งใดที่จะทำให้คนรู้สึกเป็นกลุ่มเดียวกันมากเท่ากับการมีภาษาเดียวกัน”
นายอภิสิทธิ์กล่าวต่อว่า คนไทยเป็นชนชาติที่มีภาษาเป็นของตนเองตั้งแต่โบราณกาล และมีตัวอักษรไทยเป็นตัวอักษรประจำชาติ ถือเป็นมรดกล้ำค่าที่บรรพบุรุษได้สร้างไว้ และเป็นเครื่องชี้ว่าไทยเป็นชาติที่มีวัฒนธรรมสูงส่งมานานและยั่งยืนจนปัจจุบัน คนไทยที่เป็นเจ้าของภาษา ควรภาคภูมิใจที่ชาติไทยได้ใช้ภาษาไทยเป็นภาษาประจำชาติมานานหลายร้อยปี และจะยั่งยืนตลอดไปถ้าทุกคนตระหนักในความสำคัญของภาษาไทย
นายอภิสิทธิ์กล่าวต่อว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ตระหนักถึงความสำคัญของภาษาไทย และได้มีพระราชดำริให้คนไทยช่วยกันรักษาภาษาไทยของเราไว้ และยังได้ทรงแสดงความห่วงใยในการใช้ภาษาไทย ทุกครั้งที่ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นประธานและร่วมอภิปรายในหัวข้อปัญหาการใช้ภาษาไทยที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2505 ว่า ได้มีการใช้คำฟุ่มเฟือยและไม่ตรงกับความหมายจริงเนื่องๆ ทั้งออกเสียงไม่ถูกต้องตามอักขรวิธี ถ้าปล่อยให้เป็นดังนี้ภาษาของเราก็มีแต่จะทรุดโทรม ชาติไทยเรามีภาษาของเราใช้เองเป็นสิ่งประเสริฐอยู่แล้ว เป็นมรดกที่มีค่าตกทอดมาถึงเรา ทุกคนจึงมีหน้าที่รักษาไว้ ฉะนั้นจึงทรงขอให้บรรดานิสิตและบัณฑิตตลอดจนครูบาอาจารย์ได้ช่วยกันรักษาและส่งเสริมภาษาไทย ซึ่งเป็นอุปกรณ์และหลักประกันความเจริญวัฒนาของประเทศชาติ
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ความห่วงใยที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสไว้ดังกล่าว ซึ่งมีไว้เมื่อกว่า 40 ปีที่แล้ว เห็นว่าจะเป็นความจริงมากขึ้น เมื่อเราหันมามองดูแนวโน้มในปัจจุบันโดยเฉพาะในส่วนของเด็กและเยาวชน ซึ่งพบว่ามีเด็กจำนวนมากขึ้นที่ให้ความสำคัญกับภาษาแม่และภาษาไทยาน้อยลง จนบางคนไม่สามารถอ่านเขียนภาษาไทยที่ถูกต้องได้ คงต้องยอมรับว่าสาเหตุสำคัญประการหนึ่งคงเป็นเรื่องที่โลกของเรามีการเชื่อมโยงติดต่อสื่อสารมากยิ่งขึ้น หมายถึงการรับวัฒนธรรมภาษาอื่นเข้ามา หากปราศจากการกลั่นกรองและหากไม่เรียนรู้เรื่องของการมีความละเอียดอ่อน เรื่องความแตกต่างทางวัฒนธรรมจะทำให้มีการใช้ภาษาต่างประเทศหรือกรณีภาษาอังกฤษมากขึ้นและมาผสมผสานกับภาษาไทยบางครั้งทำให้เกิดการใช้ภาษาที่ผิด โดยเฉพาะในส่วนของภาษาไทย
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ยิ่งกว่านั้นการที่โลกปัจจุบันมีการสื่อสารที่เน้นความรวดเร็ว โดยเฉพาะการสื่อสารผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การใช้ภาษาได้รับผลกระทบ เราจะเห็นได้ว่าการใช้ภาษาในเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ซึ่งเน้นความรวดเร็ว ประหยัดเนื้อที่ เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้การใช้ภาษาเปลี่ยนแปลงไป ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะภาควิชาการและราชบัณฑิตยสถานนั้น มีความท้าทายที่จะต้องเผชิญในการแก้ปัญหานี้ ไม่ว่าจะเป็นการยอมรับความเปลี่ยนแปลง หรือพลวัตของภาษา เช่นเดียวกับเรื่องวัฒนธรรมอื่นๆ ไปจนถึงความสามารถที่จะก้าวทันสถานการณ์ ไม่ว่าจะเป็นการบัญญัติศัพท์ เพื่อให้ประชาชนสามารถที่จะใช้ภาษาเพื่อที่จะสื่อความคิดหรือธิบายปรากฏการณ์ต่างๆ ซึ่งเป็นเรื่องใหม่ในลักษณะที่เป็นกติกาที่ทุกฝ่ายยอมรับและใช้กันอย่างแพร่หลาย เพื่อสร้างบรรทัดฐานในการใช้ภาษาที่ถูกต้อง
อย่างไรก็ตาม ภารกิจของการศึกษาเรื่องการสอนภาษาไทยเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องให้ความสำคัญและสนับสนุนเต็มที่เพื่อให้คนในชาติติดต่อสื่อสารกันอย่างมีประสิทธิภาพ ใช้ภาษาไทยเพื่อพัฒนาความรู้ความสามารถของตนเอง ที่สำคัญควรสามารถในการสืบทอดมรดกทางภาษา ซึ่งเป็นมรดกของชาติ มีความชื่นชม ภาคภูมิใจในการใช้ภาษาไทยที่ถูกต้อง มีเจตคติที่ดีต่อภาษาไทย การเรียนภาษาไทยจึงควรเน้นผลสัมฤทธิ์ของทักษะการเข้าใจทางภาษา คือ การฟังและการอ่านและทักษะการใช้ภาษาคือการพูดและการเขียนจนสามารถใช้เป็นเครื่องมือเกิดความเข้าใจแสวงหาความรู้และมีเหตุผลเพื่อนำไปใช้ในชีวิตประจำวันอันจะไปสู่การมีชีวิตที่ผาสุกในสังคม
นายกรัฐมนตรีกล่าวต่อว่า ผู้ที่ทำหน้าที่โดยตรงในการสอนภาษาไทยให้ตรงตามจุดมุ่งหมายคือครู แต่บุคคลากรในภาคอื่นๆ ของสังคมเริ่มต้นตั้งแต่ครอบครัว ชุมชน โดยเฉพาะสื่อมวลชนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องมีบทบาทและมีส่วนร่วมในเรื่องนี้ด้วย จึงจะสามารถทำให้การใช้ภาษาไทยกลับมาเข้มแข็งยิ่งขึ้นกงว่าเดิมได้
“โดยประสบการณ์ส่วนตัวของผมที่ไปใช้ชีวิตในต่างประเทศกว่า 10 ปี สิ่งสำคัญคือการปลูกฝังจิตสำนึกในการที่คนของเราต้องให้ความสำคัญในการเรียนรู้และมีความภาคภูมิใจในวัฒนธรรมและภาษาของเรา ผมจำได้ว่าก่อนเดินทางไปต่างประเทศ สิ่งที่คุณพ่อย้ำตลอดคือต้องไม่ลืมภาษาไทย การเรียนรู้ที่ดีคือการอ่าน” นายอภิสิทธิ์ กล่าว
นายกรัฐมนตรีกล่าวต่อว่า รัฐบาลกำลังจะผลักดันให้เรื่องการอ่านเป็นระเบียบวาระของชาติ มีโครงการสนับสนุนส่งเสริมตั้งแต่เด็กเล็ก โดยมีกระทรวงที่เกี่ยวข้องร่วมกันผลักดันโรงการที่จะมอบหนังสือให้แก่แม่ตั้งแต่ช่วงคลอดลูก ให้แม่อ่านให้ลูกฟัง เป็นการปลูกฝังนิสัยการรักการอ่าน