xs
xsm
sm
md
lg

รายงานพิเศษ : จุดจบ “ขรก.(ปปง.)” รับใช้ “ทักษิณ”!?!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พล.ต.ต.พีระพันธุ์ เปรมภูติ อดีตเลขาธิการ ปปง.ยุคทักษิณ ถูก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดทั้งทางวินัยร้ายแรงและอาญา
อมรรัตน์ ล้อถิรธร....รายงาน

กรณี ป.ป.ช.มีมติฟันอดีตเลขาธิการ ปปง.“พล.ต.ต.พีระพันธุ์ เปรมภูติ” และลูกน้องอีก 1 คน “พ.ต.อ.สีหนาท ประยูรรัตน์” ฐานใช้อำนาจโดยมิชอบ ในการตรวจสอบธุรกรรมทางการเงินของสื่อมวลชนที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล รวมถึงนักการเมืองฝ่ายค้าน (ปชป.) และภาคประชาชนที่เคลื่อนไหวคัดค้านโครงการของรัฐในยุค “รัฐบาลทักษิณ 1” ไม่เพียงสะท้อนธาตุแท้นักการเมือง ที่ชอบใช้ข้าราชการเป็นเครื่องมือในการปิดปากผู้ที่เห็นต่าง แต่ยังเป็นบทเรียนแก่ข้าราชการประจำด้วยว่า การเอาใจหรือทำตามใบสั่งของนักการเมืองที่เผด็จการ-เหลิงอำนาจโดยไม่สนใจผิดชอบชั่วดีนั้น สุดท้ายต้องพบจุดจบเช่นไร

คลิกที่นี่ เพื่อฟังรายงานพิเศษ

ในที่สุด สังคมก็ได้เห็นจุดจบของข้าราชการที่ชอบทำงานเอาใจนักการเมือง หรือทำตามใบสั่งของนักการเมืองโดยหาได้คำนึงถึงความถูกต้องไม่ เช่น กรณีที่ พล.ต.ต.พีระพันธุ์ เปรมภูติ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน(ปปง.) ปัจจุบันประจำสำนักนายกฯ ระดับ 11 และ พ.ต.อ.สีหนาท ประยูรรัตน์ อดีต ผอ.ศูนย์สารสนเทศและติดตามประเมินผล สำนักงาน ปปง.ปัจจุบันเป็นรักษาการเลขาธิการ ปปง.ได้ใช้อำนาจโดยไม่ชอบด้วยการตรวจสอบธุรกรรมทางการเงินของบุคคลและนิติบุคคลที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลทักษิณเมื่อปลายปี 2544 ถึงต้นปี 2545 โดยผู้ที่ถูกตรวจสอบมีทั้งสิ้นประมาณ 200 คน มีทั้งสื่อมวลชน (เช่น นายสุทธิชัย หยุ่น ผู้บริหารสื่อเครือเนชั่น, นายโรจน์ งามแม้น เจ้าของคอลัมน์ “เปลวสีเงิน-คนปลายซอย” แห่งหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์, นายวารินทร์ พูนศิริวงศ์ ผู้บริหารหนังสือพิมพ์แนวหน้า ฯลฯ), นักการเมืองฝ่ายค้านพรรคประชาธิปัตย์ และภาคประชาชน หรือเอ็นจีโอที่เคลื่อนไหวต่อต้านโครงการที่ไม่ชอบมาพากลของรัฐบาลทักษิณ

หลัง พล.ต.ต.พีระพันธุ์ และ พ.ต.อ.สีหนาท มีหนังสือถึงสถาบันการเงิน 17 แห่งให้ตรวจสอบบัญชีและการทำธุรกรรมของบุคคลดังกล่าว และปรากฏว่า ข่าวรั่วถึงหูสื่อมวลชน เรื่องนี้จึงกลายเป็นเรื่องใหญ่ เพราะเข้าข่ายละเมิดสิทธิส่วนบุคคลอย่างร้ายแรง โดยสื่อที่ถูกตรวจสอบได้เข้าร้องต่อศาลปกครอง เพื่อขอให้เพิกถอนหนังสือของ ปปง.ที่ขอให้สถาบันการเงินต่างๆ ตรวจสอบการทำธุรกรรมทางการเงินดังกล่าว

ขณะที่ พล.ต.ต.พีระพันธุ์ ให้สัมภาษณ์ในขณะนั้น โดยไม่ยอมเผยว่า ใช้อำนาจตรวจสอบธุรกรรมทางการเงินของบุคคลต่างๆ ตามความผิดมูลฐานใด เพียงแต่บอกให้รอดูว่า ถ้าหากผู้ที่ ปปง.ตรวจสอบเป็นผู้กระทำผิด ก็จะได้เห็นการยึดทรัพย์ พล.ต.ต.พีระพันธุ์ ยังยืนยันด้วยว่า แม้ ปปง.จะสังกัดสำนักนายกฯ (สมัยรัฐบาลทักษิณ-ปัจจุบันสังกัดกระทรวงยุติธรรม) แต่การตรวจสอบดังกล่าวไม่มีฝ่ายการเมืองสั่งมา โดยเฉพาะนายกฯ ถ้าสั่งมาตนก็ไม่ทำ เพราะการทำงานของ ปปง.เป็นอิสระ ไม่มีใครกำกับได้

อย่างไรก็ตาม ก่อนที่ศาลปกครองจะมีคำสั่งในเรื่องนี้ ปรากฏว่า พล.ต.ต.พีระพันธุ์ และ พ.ต.อ.สีหนาท ได้พยายามตัดตอนความผิดของตัวเอง ด้วยการมีหนังสือถึงสถาบันการเงิน แจ้งยกเลิกหนังสือที่เคยขอให้ตรวจสอบธุรกรรมทางการเงินของบุคคลต่างๆ ซึ่งการแจ้งยกเลิกหนังสือดังกล่าว ส่งผลให้ศาลปกครองต้องสั่งจำหน่ายคดีนี้ออกจากสารบบความ แต่ถึงกระนั้น ถ้าดูจากคำวินิจฉัยของศาลปกครองเกี่ยวกับเรื่องนี้ ก็จะเห็นได้ว่า คำสั่งของ พล.ต.ต.พีระพันธุ์ และ พ.ต.อ.สีหนาท ที่มีถึงสถาบันการเงินให้ตรวจสอบธุรกรรมทางการเงินของบุคคลต่างๆ นั้น เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะผู้ออกคำสั่ง ไม่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะออกคำสั่งดังกล่าวได้ เพราะผู้ที่จะออกคำสั่งได้ ก็คือ คณะกรรมการธุรกรรม แม้ พล.ต.ต.พีระพันธุ์จะเป็นประธานกรรมการของคณะกรรมการธุรกรรม แต่ไม่ได้มีการรายงานเรื่องนี้ให้คณะกรรมการธุรกรรมทราบแต่อย่างใด

นอกจากนี้ ศาลปกครองยังเห็นว่า การที่ พล.ต.ต.พีระพันธุ์ และ พ.ต.อ.สีหนาท สั่งให้ตรวจสอบการทำธุรกรรมทางการเงินของบุคคลต่างๆ เพียงเพราะมีบัตรสนเท่ห์ร้องเรียนว่าบุคคลดังกล่าวอาจเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดฐานฟอกเงินนั้น กลับไม่ได้มีข้อเท็จจริงหรือเหตุอันควรเชื่อได้ว่า บุคคลดังกล่าวเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดแต่อย่างใด

ทั้งนี้ แม้ศาลปกครองจะสั่งจำหน่ายคดีดังกล่าว แต่ก็ไม่ทำให้ พล.ต.ต.พีระพันธุ์ และ พ.ต.อ.สีหนาทหลุดพ้นจากความผิดที่ได้กระทำไว้ได้ เพราะผู้เสียหายได้ร้องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ไต่สวนเรื่องนี้ ซึ่ง ป.ป.ช.ได้ตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนโดยมี ดร.วิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช.เป็นประธาน

หลังไต่สวนจนได้ข้อเท็จจริง และเสนอผลสรุปเข้าสู่ที่ประชุม ป.ป.ช.ชุดใหญ่ ในที่สุด คณะกรรมการ ป.ป.ช.ก็มีมติเมื่อวันที่ 30 เม.ย.ที่ผ่านมาว่า การที่ พล.ต.ต.พีระพันธุ์ และ พ.ต.อ.สีหนาท มีหนังสือถึงสถาบันการเงินให้ตรวจสอบการทำธุรกรรมทางการเงินของบุคคลต่างๆ ทั้งที่ปราศจากข้อเท็จจริงที่เป็นเหตุผลอันสมควรในการตรวจสอบนั้น ถือเป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ ก่อให้เกิดความเสียหายต่อสิทธิของบุคคลที่ได้รับความคุ้มครอง ทั้งในด้านข้อมูลส่วนบุคคล หน้าที่การงาน เกียรติยศ ชื่อเสียง และความเป็นส่วนตัว อันเป็นการละเมิดต่อบุคคลดังกล่าว

คณะกรรมการ ป.ป.ช.จึงมีมติว่า การกระทำของ พล.ต.ต.พีระพันธุ์ และ พ.ต.อ.สีหนาท มีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ฐานปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยจงใจไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบของทางราชการ อันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง ตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2535 มาตรา 85 วรรคสอง ป.ป.ช.ยังมีมติด้วยว่า การกระทำของ พล.ต.ต.พีระพันธุ์ นอกจากเข้าข่ายผิดวินัยร้ายแรงแล้ว ยังมีมูลความผิดทางอาญาด้วย ฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157

คณะกรรมการ ป.ป.ช.จึงมีมติให้ส่งรายงาน เอกสาร และความเห็นไปยังผู้บังคับบัญชาของบุคคลทั้งสอง เพื่อพิจารณาโทษทางวินัยต่อไป (สำนักนายกฯ เป็นผู้บังคับบัญชาของ พล.ต.ต.พีระพันธุ์-กระทรวงยุติธรรมเป็นผู้บังคับบัญชาของ พ.ต.อ.สีหนาท) นอกจากนี้ ป.ป.ช.ยังจะส่งความเห็นไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินคดีอาญา พล.ต.ต.พีระพันธุ์ อีกทางหนึ่งด้วย

ทั้งนี้ หลัง ป.ป.ช.มีมติดังกล่าว พล.ต.ต.พีระพันธุ์ และ พ.ต.อ.สีหนาท ได้ร้องขอความเป็นธรรมต่อ ป.ป.ช.ให้ทบทวนมติดังกล่าว แต่เมื่อพิจารณาคำร้องและพยานหลักฐานต่างๆ แล้ว ป.ป.ช.ได้มีมติยืนคำสั่งชี้มูลความผิดบุคคลทั้งสองเมื่อวันที่ 12 พ.ค.ที่ผ่านมา

ดร.วิชา มหาคุณ 1 ในกรรมการ ป.ป.ช.เผยกับวิทยุ ASTVผู้จัดการ ถึงเหตุที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติยืนว่า พล.ต.ต.พีระพันธุ์ มีมูลความผิดทางวินัยร้ายแรงและผิดทางอาญา ส่วน พ.ต.อ.สีหนาท มีมูลความผิดทางวินัยร้ายแรงว่า เพราะผู้ร้องขอความเป็นธรรมไม่มีพยานหลักฐานใหม่ และว่า เหตุที่การชี้มูลความผิดครั้งนี้ สาวไม่ถึง พ.ต.ท.ทักษิณ นายกฯ ในขณะนั้นที่หลายฝ่ายมองว่าน่าจะเป็นผู้สั่งการให้ ปปง.ตรวจสอบการทำธุรกรรมทางการเงินของบุคคลที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลนั้น เป็นเพราะ พล.ต.ต.พีระพันธุ์ และ พ.ต.อ.สีหนาท ไม่ให้การซัดทอด ประกอบกับไม่มีใบเสร็จใบสั่งของนักการเมือง

“(ป.ป.ช.) ก็มีมติยืนตามที่เคยได้วินิจฉัยไว้แล้ว เพราะกรณีที่จะหยิบยกขึ้นมาใหม่เนี่ย มันต้องเป็นพยานหลักฐานใหม่ตามกฎหมายน่ะ อันนี้มันเป็นประเด็นที่เราได้วินิจฉัยไว้หมดแล้ว อย่างกรณีที่เขาบอกว่า เคยมีการตั้งคณะกรรมการสอบทางวินัย ตอนหลังมี พ.ร.บ.ล้างมลทินโทษ ใครมีโทษทางวินัยอะไรก็ให้ลบล้างไปให้หมด เขาก็บอกว่ากรณีนี้ก็น่าจะต้องด้วย พ.ร.บ.ล้างมลทิน ประเด็นนี้เราก็ได้วินิจฉัยไปแล้วว่า แม้ว่าจะมี พ.ร.บ.ล้างมลทินโทษที่ออกมา แต่คณะกรรมการกฤษฎีกาเขาตีความแล้วว่าไม่เกี่ยวกับการไต่สวนของ ป.ป.ช.คือ คณะกรรมการกฤษฎีกาวินิจฉัยเป็นหลักไว้เลยว่า กรณีสอบทางวินัยและมี พ.ร.บ.ล้างมลทินโทษเนี่ย จะไม่กระทบถึงการไต่สวนขององค์กรอิสระ เช่น ป.ป.ช.เพราะมีอำนาจในการสอบตาม รธน.ไม่เกี่ยวกับการสอบทางวินัยของหน่วยราชการ”

“(ถาม-ทำไมคุณพีรพันธุ์ถึงผิดทั้งวินัยร้ายแรงและอาญา แต่คุณสีหนาทผิดแค่วินัยร้ายแรง?) เขาเป็นลูกน้องน่ะ เขาปฏิบัติตามที่นายสั่ง (ถาม-ทำไมความผิดในเรื่องนี้ถึงไม่ถึงคุณทักษิณ?) เขาไม่ได้อ้างนี่ว่าคุณทักษิณเป็นคนนั่น และไม่มีลายลักษณ์อักษร ไม่มีคำสั่ง ไม่มีอะไรทั้งนั้น คุณก็จะเห็นได้ว่า เวลานักการเมืองทำอะไร เขาไม่มีร่องรอยทั้งนั้น ก็เนี่ยเป็นบทเรียนของข้าราชการ”


ลองไปฟังความเห็นของสื่อมวลชนและภาคประชาชนที่เคยถูก ปปง.ยุครัฐบาลทักษิณตรวจสอบการทำธุรกรรมทางการเงินกันบ้างว่า จะรู้สึกอย่างไรที่ พล.ต.ต.พีระพันธุ์ และ พ.ต.อ.สีหนาท ถูก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดในครั้งนี้

นายวารินทร์ พูนศิริวงศ์ ผู้บริหารหนังสือพิมพ์แนวหน้า เผยกับวิทยุ ASTVผู้จัดการว่า การกระทำของ พล.ต.ต.พีระพันธุ์ และ พ.ต.อ.สีหนาท ถือว่ารับใช้นักการเมืองมาเล่นงานสื่อมวลชน ซึ่ง ป.ป.ช.ก็ชี้มูลความผิดตามพฤติกรรมของบุคคลทั้งสองแล้ว นายวารินทร์ ยังแฉด้วยว่า สมัยรัฐบาลทักษิณ นอกจากตนจะถูกนักการเมืองเรียกขานว่า เป็น “ศัตรูหมายเลข 1 ของทักษิณ” แล้ว พ.ต.ท.ทักษิณ เองยังเคยขอให้ตนปลด น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ ออกจากการเป็นคอลัมนิสต์ด้วย เมื่อตนไม่สนอง จึงถูก พ.ต.ท.ทักษิณ เล่นงานด้วยการฟ้องเป็นพันๆ ล้าน แต่ตนก็ชนะทุกคดี

“ผมเป็น 1 ในสื่อที่ถูกเล่นงาน ซึ่งถ้ามีข้อมูลจริงนะว่าพวกเราฟอกเงิน โกงหรืออะไรต่างๆ เราก็ไม่ว่า แต่เราเป็นนักธุรกิจ ตรงไปตรงมา ไม่มีประวัติแม้แต่นิดเดียว แม้แต่อยู่ในหัวความคิดที่จะโกงกิน ไม่มี ไม่เหมือนพวกนักการเมืองทั้งหลาย ซึ่งผมรู้จักเยอะเลย ผมเข้าไปวันนั้นน่ะ คุณรู้อะไรมั้ย พอผมเดินเข้าไปในสภา เขาเรียกตัวไปให้การที่สภา ผมเดินเข้าไปในห้องใช่มั้ย ไอ้พวกบ้านักการเมืองทั้งหลายมันตะโกนว่าไงรู้มั้ย? “ศัตรูหมายเลข 1 ของทักษิณมาแล้ว” ดูสิ (ถาม-แล้วคุณวารินทร์ว่ายังไง?) ไม่ว่า จะไปว่าอะไรได้ล่ะ ผมจำไม่ได้ แต่รู้สึกผมพูดตรงไปตรงมา อัดพวกนักการเมืองอะไรต่างๆ เยอะแยะเลย ผมเตือนข้าราชการอย่าไปรับใช้พวกนักการเมืองที่โกง อย่าไปรับใช้พวกโจรการเมือง ผมยังพูดอย่างนั้นเลย ผมไม่กลัว เพราะเราในชีวิตไม่เคยโกงใคร ตั้งแต่เด็กมาแล้ว ไม่เคยโกงแม้แต่บาทเดียว”

“(ถาม-ตอนนั้นคุณวารินทร์เขียนบทความวิพากษ์วิจารณ์หรือยังไง?) เราทำหนังสือพิมพ์ไง แล้วพวกนักการเมืองมาขอผมอยู่เรื่อยเลย บอก นี่วารินทร์! อย่าเขียนนั่นได้มั้ย อย่าอย่างโน้นได้มั้ย อย่าอย่างนี้ได้มั้ย ที่เขาโกงเขากินเนี่ยอย่าลงได้มั้ย ...แล้วทักษิณนี่ขอให้ผมปลดพี่ประสงค์ สุ่นศิริ ผมบอกผมปลดไม่ได้ มาหาผมตั้ง 2 ครั้ง ที่สนามกอล์ฟน่ะ (ถาม-เขาบอกว่ายังไง ทำไมต้องปลดคุณประสงค์?) เพราะคุณประสงค์เขียนวิพากษ์วิจารณ์ว่าทักษิณมันกะล่อนแค่ไหน โกงยังไง เป็นยังไง ในหนังสือพิมพ์แนวหน้าไง (ถาม-พอคุณวารินทร์บอกว่าไม่ได้ คุณทักษิณว่ายังไง?) โอ้โห! ฟ้องแนวหน้าตั้ง 30 กว่าคดี ฟ้องผม ฟ้องแนวหน้า ผมในฐานะเจ้าของและกรรมการผู้จัดการ ประธานกรรมการ ฟ้องผมในฐานะส่วนตัวอีก นึกดูสิ”


นายวารินทร์ ยังพูดถึงกรณีที่ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดได้เฉพาะ พล.ต.ต.พีระพันธุ์ และ พ.ต.อ.สีหนาท แต่สาวไม่ถึง พ.ต.ท.ทักษิณ ว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ทำอะไรไว้เยอะ ตอนนี้ก็รับทุกข์ไป เหมือนตกนรกทั้งเป็น ร่อนไปร่อนมา ไม่มีที่อยู่ที่สบาย

ด้านนายบรรจง นะแส 1 ในภาคประชาชนที่ถูก ปปง.ยุครัฐบาลทักษิณตรวจสอบธุรกรรมทางการเงิน เมื่อครั้งเป็นอดีตแกนนำภาคประชาชนที่เคลื่อนไหวคัดค้านโครงการท่อก๊าซไทย-มาเลเซีย เพราะมีความไม่ชอบมาพากล เผยว่า สมัย พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นนายกฯ เมื่อปี 2545 ภาคประชาชนและองค์กรพัฒนาเอกชน (เอ็นจีโอ) ทั่วทุกภาค ถูกรัฐบาลทักษิณเล่นงานและดิสเครดิตตลอด หาว่าเอ็นจีโอรับเงินต่างชาติมาเคลื่อนไหวคัดค้านโครงการของรัฐบาล นายบรรจง ยังเชื่อด้วยว่า การที่ ปปง.สั่งธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ตรวจสอบธุรกรรมทางการเงินของแกนนำม็อบท่อก๊าซ-หินกรูด-สมัชชาคนจนจำนวน 64 คนนั้น ไม่ได้เกิดจากข้าราชการ ปปง.คิดเองทำเอง แต่มีนักการเมืองอีกหลายคนที่อยู่ในวอร์รูมของรัฐบาลทักษิณเป็นผู้วางแผนจัดการ

“ตอนนั้น 2545 พวกผมโดนจับที่หน้าโรงแรมเจบี หาดใหญ่ ตอนนั้นมันมีความไม่ชอบธรรมเรื่องโครงการจะนะ ที่วันนี้ก็ชัดเจนแล้ว เพราะเรียกร้องให้เปิดเผยสัญญาใช่มั้ย เราไปได้สัญญามาว่ามันให้มาเลเซียใช้ (ท่อก๊าซ) ก่อน 5 ปี แล้วต่อได้อีก 5 ปีใช่มั้ย แล้วก็ใช้วิธีต้องการจะฮุบผลประโยชน์จาก ปตท.หลังจากแปรรูปที่เครือข่ายของครอบครัวท่านนายกฯ น่ะ ทั้งคุณชัยสิทธิ์ (ชินวัตร) ทั้งอะไรตอนนั้น ไปดูรายชื่อผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ทั้งคุณอะไรนะ ปลั่งศรีสกุลอะไร มีหุ้นเยอะแยะเลย เราเห็นข้อมูลตรงนี้ เราไม่เห็นด้วย ก็ออกมาสู้กัน พอสู้กัน เขาก็ใช้วิธีนี้ คือเล่นทุกที่ เหนือ อีสาน ใต้ ทุกกลุ่มน่ะ วนิดา (ตันติวิทยาพิทักษ์-เสียชีวิตแล้ว) ก็โดน ที่ปากมูนใช่มั้ย คือ ทุกจุดที่มีการเคลื่อนไหวคัดค้านโครงการของรัฐ ตอนนั้นท่านนายกฯ ทักษิณท่านเล่นหมดเลย ก็ถูกพาดหัวหนังสือพิมพ์ ก็ดิสเครดิตไปว่า พวกเอ็นจีโอนี่รับเงินต่างชาติมาขัดขวางการพัฒนา และร่ำรวยผิดปกติ แต่พอผลการสอบสวนปรากฏว่า ตอนนั้นที่ปักษ์ใต้ก็มี เจริญ วัดอักษร (เสียชีวิตแล้ว) ด้วย เขาก็ไม่มีอะไร มีทรัพย์สินก็เป็นร้านอาหารที่เขาทำ คือสรุปแล้ว แจ้ง ปปง.ให้สอบทรัพย์สิน ก็แค่ดิสเครดิต พอหลังจากนั้นเรื่องนี้ก็เงียบหมดเลย เพราะส่งคนมาตรวจแล้ว ปรากฏว่า ไม่มีใครร่ำรวยผิดปกติสักคนหนึ่ง แต่มันทำลายความชอบธรรมของเอ็นจีโอ คนทำงานกับชุมชนไปหมดเลย ชาวบ้านก็ระแวง เพราะทีวีก็ออก หนังสือพิมพ์ก็ลง”

“(ถาม-คิดว่าการสั่งการให้ตรวจสอบธุรกรรมทางการเงินน่าจะอยู่แค่ในชั้น ปปง.คือคุณพีระพันธุ์ หรือคิดว่า นายกฯ ทักษิณในขณะนั้นน่าจะต้องรับผิดชอบด้วย?) ผมไม่เชื่อว่าเป็นแค่คุณพีรพันธุ์นะ เพราะตอนนั้นคุณทักษิณไม่ได้แทรกแซงเฉพาะ ปปง.อย่างเดียว เพราะเขามีทีมวอร์รูม ซึ่งมีพี่อ้วน ภูมิธรรม (เวชยชัย-ขณะนั้นเป็นเลขานุการรัฐมนตรีมหาดไทย) และมีหลายคนเกรียงกมล (เลาหะไพโรจน์) อยู่เบื้องหลังทั้งนั้นเลย อันนี้เป็นเรื่องภายในที่พวกผมรู้กันทีหลังนะ เป็นวิธีดิสเครดิตพวกผม ผมคิดว่าจริงๆ แล้วมันมีฝ่ายการเมืองอยู่ด้วย อาจจะถึงขั้นคุณอะไรล่ะ เลขาฯ ท่านนายกฯ ที่ผมขาวๆ น่ะ คุณผดุง อะไรสักอย่าง (ผดุง ลิ้มเจริญรัตน์) นั่นแหละ หัวหน้าวอร์รูมใหญ่ที่วางแผนจัดการกับเอ็นจีโอยุคนั้นน่ะ”


นายบรรจง ยังพูดถึงกรณีที่ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดได้เฉพาะข้าราชการผู้บริหาร ปปง.แต่สาวไม่ถึง พ.ต.ท.ทักษิณว่า เพราะนักการเมืองพยายามตัดตอนความผิดให้อยู่กับข้าราชการประจำเท่านั้น ข้าราชการประจำก็รับบาปไป เพราะอยากไปทำตามฝ่ายการเมืองโดยไม่ยึดมั่นในความถูกต้อง ก็ช่วยไม่ได้ รับกรรมกันไปก็แล้วกัน!!
พ.ต.อ.สีหนาท ประยูรรัตน์ อดีต ผอ.ศูนย์สารสนเทศและติดตามประเมินผล สำนักงาน ปปง.ยุคทักษิณ ถูก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดทางวินัยร้ายแรง
ดร.วิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช.เผยเหตุที่ชี้มูลความผิดได้แค่บิ๊ก ขรก.ของ ปปง.สาวไม่ถึง พ.ต.ท.ทักษิณ เพราะไม่มีใบเสร็จ และ ขรก.ไม่ซัดทอด
สุทธิชัย หยุ่น ผู้บริหารสื่อเครือเนชั่น เป็น 1 ในผู้ที่ถูก ปปง.ยุคทักษิณตรวจสอบธุรกรรมทางการเงิน จึงได้ฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อสั่งให้ ปปง.ยุติการกระทำดังกล่าว
โรจน์ งามแม้น เจ้าของคอลัมน์ เปลว สีเงิน-คนปลายซอย แห่ง นสพ.ไทยโพสต์ ก็ถูก ปปง.ยุคทักษิณตรวจสอบเช่นกัน
วารินทร์ พูนศิริวงศ์ ผู้บริหารหนังสือพิมพ์แนวหน้า เป็นอีก 1 สื่อมวลชนที่ถูก ปปง.ยุคทักษิณตรวจสอบธุรกรรมทางการเงิน
บรรจง นะแส ก็ถูก ปปง.ยุคทักษิณตรวจสอบ หลังเป็นแกนนำภาคประชาชนที่คัดค้านโครงการท่อก๊าซไทย-มาเลเซีย
กำลังโหลดความคิดเห็น