คณะทำงานภาคประชาชนติดตามร่าง พ.ร.บ.สภาเกษตรกร ได้เข้ายื่นหนังสือต่อนายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎร เรียกร้องให้ระงับการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.สภาเกษตรกรแห่งชาติ เนื่องจากร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวยังไม่ได้เปิดให้มีการรับฟังปัญหาของเกษตรกรอย่างจริงจัง
วันนี้ (7 พ.ค.) ที่รัฐสภา คณะทำงานภาคประชาชนติดตามร่าง พ.ร.บ.สภาเกษตรกร เดินทางเข้ายื่นหนังสือต่อ นายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อเรียกร้องให้มีการระงับการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.สภาเกษตรกรแห่งชาติ เนื่องจากยังไม่ได้เปิดรับฟังปัญหาของเกษตรกรอย่างจริงจัง จึงต้องการให้มีการเปิดรับฟังปัญหาก่อน
สำหรับเนื้อหาของหนังสือที่เดินทางมายื่นต่อนายชัยนั้น ระบุถึงสาเหตุ 6 ข้อ ดังนี้ 1.ร่างพ.ร.บ.สภาเกษตรกรแห่งชาติ ที่กำลังอยู่ในวาระการพิจารณารัฐสภาขณะนี้ ไม่ได้เป็นไปตามเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญมาตรา 84 (วรรค 8 ) โดยแนวทางการจัดตั้งสภาเกษตรกรไม่เอื้อต่อการแก้ปัญหาของเกษตรกรด้วยตัวเกษตรกรเอง แต่เอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มธุรกิจเกษตร 2.กระบวนการรับฟังความคิดเห็นของรัฐบาล ที่ผ่านมาในระดับพื้นที่ไม่ได้เป็นไปตามหลักการมีส่วนร่วมของประชาชน ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ปี 2550 โดยขาดการมีส่วนร่วมของภาคเกษตรกรายย่อย และเกษตรกรไร้ที่ดินทำกิน 3.เนื้อหาสาระร่างพระราชบัญญัติสภาเกษตรของรัฐบาล อำนาจหน้าที่ยังอยู่ภายใต้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งจากประสบการณ์ที่ผ่านมา ผลการดำเนินการแก้ไขปัญหาเกษตรกรภายใต้อำนาจของกระทรวงดังกล่าวล้มเหลว และเอื้อต่อกลุ่มอุตสาหกรรมเกษตร
4.พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวไม่ได้กำหนดคุณสมบัติของตัวแทนเกษตรกร แต่เป็นการเปิดพื้นที่ให้กลุ่มผลประโยชน์เข้ามาแสวงหาประโยชน์ รวมทั้งสภาเกษตรกรไม่สามารถตอบสนองปัญหาและเสริมสร้างความเข้มแข็งเกษตรกรรายย่อยได้ 5.บทบาทหน้าที่สภาเกษตรกรแห่งชาติเสนอแผนสร้างสวัสดิการเกษตรกร ( มาตรา 10 วรรค 6) อย่างไม่กำหนดเป้าหมาย ไม่ได้กล่าวถึงสิทธิที่เกษตรกรจะได้รับอย่างชัดเจน รวมทั้งไม่ได้ระบุว่า สวัสดิการของเกษตรกรมีอะไรบ้าง และ 6.การบูรณาการ การบริหารจัดการองค์กรแผนแม่บทเกษตรกรรมของพระราชบัญญัติสภาเกษตรแห่งชาติยังไม่มีความชัดเจน
ด้านนายชัย หลังจากรับหนังสือได้กล่าวว่า ตนทราบมาก่อนหน้านี้แล้วว่าคณะทำงานภาคประชาชนฯ จะเดินทางมายื่นหนังสือดังกล่าว จึงได้มีการสั่งเลื่อนการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ออกไปก่อน
“ผมขอให้ตัวแทนเกษตรกร นำข้อเรียกร้อง ปัญหาต่างๆ รวมถึงหลักฐานมายื่นต่อทางสภา เนื่องจากสภานั้นไม่มีเวลาเพียงพอที่ไปสำรวจปัญหาของเกษตรกร เพราะยังติดงานจำนวนมาก โดยหากเกษตรกรต้องการเสนอกฎหมาย ขอให้ตัวแทนเกษตรกรเสนอกฎหมายที่ต้องการมา ตามช่องทางของรัฐธรรมนูญ ด้วยการเข้าชื่อประชาชน 20,000 รายชื่อ” นายชัย กล่าว