ประชาธิปัตย์ กักขา “วิทยา” ยัดวาระพิจารณากรณี “ไอ้ตู่” ขอใช้เอกสิทธิ์ ส.ส.คุ้มหัวเข้าที่ประชุมสภาก่อน เชื่อ เป็นเกมการเมือง หวังวัดใจรัฐบาลกล้ายอมอ่อนข้อปล่อยผ่านหรือไม่ ยันขอดูท่าที “ตุ๊ดตู่” ก่อนจะกล้าเข้าสภาใช้เอกสิทธิ์หรือไม่
วันนี้ (28 เม.ย.) ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายบุญยอด สุขถิ่นไทย รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการประชุม ส.ส.พรรค ว่า ในที่ประชุมมีการหารือถึงญัตติที่จะนำเข้าสู่การประชุมสภาในวันที่ 29-30 เม.ย.นี้ คือ การพิจารณาขออนุญาตจากสภาในการดำเนินคดีกับ นายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย และแกนนำ นปช.ที่ทำความผิดในช่วงที่มีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินในช่วงที่มีการก่อการจลาจลที่ผ่านมา ซึ่งทางตำรวจได้ส่งเรื่องขออนุญาตดำเนินคดีเรียบร้อยแล้ว โดยประธานรัฐสภาได้บรรจุเข้าสู่วาระการประชุมแล้ว โดย นายวิทยา บุรณะศิริ ประธานวิปฝ่ายค้าน ขอเลื่อนวาระนี้ขึ้นมาพิจารณาก่อน โดย ส.ส.ของพรรคหลายคนได้กล่าวถึงธรรมเนียมปฏิบัติ ว่า เรื่องของสภาก็เป็นเรื่องของสภาที่จะต้องพิจารณา และไม่เกี่ยวข้องกับการทำงานของรัฐบาล
นายบุญยอด กล่าวต่อว่า ขณะที่ นายสมกียรติ พงษ์ไพบูลย์ ส.ส.สัดส่วน พรรคประชาธิปัตย์ และแกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ ได้กล่าวอธิบายในที่ประชุมพรรค ว่า ในส่วนของตัวเองถูกแจ้งข้อหาเพื่อดำเนินคดีรวม 5 คดี โดยคดีแรกทางตำรวจมาขออนุญาตดำเนินคดี ซึ่ง นายสมเกียรติเองก็ขออนุญาตไม่ใช้เอกสิทธิ์ โดยขอให้ทางตำรวจนำตัวไปดำเนินคดีได้ ส่วนคดีต่อๆ มาอีก 4 คดี นายชัย ชิดชอบ ประธานสภา ก็ไม่ได้นำเข้าสู่ที่ประชุมสภา โดย นายสมเกียรติ เอง ก็ไม่ขอใช้เอกสิทธิ์จากสภาเลย โดยเดินไปสู่กระบวนการพิจารณาคดีเอง ซึ่งทางตำรวจเองก็ได้จัดทำแบบฟอร์มออกมาชัดเจนว่า หากคดีที่เป็น ส.ส.ก็จะมีการกรอกแบบฟอร์มว่า จะไม่ขอใช้เอกสิทธิ์คุ้มครองจากสภาในภายหลัง ซึ่งกรณีนี้ นายสมเกียรติ กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับ นายจตุพรเองว่าจะทำอย่างไร ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์เองก็จะขอดูว่า นายจตุพร จะทำอย่างไร และจะมาในที่ประชุมสภาหรือไม่ และจะขอใช้เอกสิทธิ์คุ้มครองจากสภาหรือไม่ ทางพรรคประชาธิปัตย์ จึงจะค่อยมีท่าทีออกมา เพราะถ้าหาก นายจตุพร ไม่เดินทางมาที่สภา ก็อาจจะขอให้ยุติการพิจารณาเรื่องนี้ออกไปก่อน จนกว่าเจ้าตัวจะมาและให้ข้อมูลที่ชัดเจนต่อที่ประชุมสภาก่อนว่าจะใช้เอกสิทธิ์หรือไม่
แหล่งข่าวกล่าวว่า ที่ประชุมพรรคได้ตั้งข้อสังเกตว่า ทำไม นายวิทยา บูรณะศิริ ประธานวิปฝ่ายค้าน ถึงจะเสนอให้นำวาระของ นายจตุพร ขึ้นมาพิจารณาในสภาเป็นเรื่องแรก น่าจะมีจุดประสงค์บางอย่างทางการเมือง โดยอ่านเกมว่า พรรคเพื่อไทยต้องการบีบรัฐบาลในเรื่องนี้ เพราะไม่ว่าจะตัดสินใจทำอย่างไร ก็จะถูกโยงให้เป็นประเด็นทางการเมือง หากมีมติไม่ให้เอกสิทธิ์กับ นายจตุพร ก็จะเข้าทางพรรคเพื่อไทย นำไปโจมตีว่า รัฐบาลไม่จริงใจต่อการสมานฉันท์และใช้เป็นข้ออ้างป่วนในสภา เพราะเวลานี้หลายฝ่ายเรียกร้องให้ถอยกันคนละก้าวลดทิฐิมานะ แต่ถ้ามีมติให้เอกสิทธิ์ไป รัฐบาลอาจจะถูกสังคมตั้งคำถามได้เช่นกัน ดังนั้น พรรคจึงจะรอดูท่าทีของนายจตุพร ว่า จะมาร่วมประชุมสภา และขอเอกสิทธิ์จากที่ประชุมหรือไม่ หากไม่ขอก็ถือว่าจบไป แต่ถ้าขอก็ต้องพิจารณากันอีกที โดยพรรคจะเปิดโอกาสให้อภิปรายกันเต็มที่ ก่อนมีมติอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่เรื่องนี้ไม่เกี่ยวข้องกับรัฐบาล เพราะเป็นเรื่องในที่ประชุมสภา