คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี
ที่ 98 / 2552
เรื่อง การจัดตั้งกองอำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน
ตามที่ได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรี อำเภอเมืองสมุทรปราการ อำเภอบางพลี อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ อำเภอธัญบุรี อำเภอลาดหลุมแก้ว อำเภอสามโคก อำเภอลำลูกกา อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม และอำเภอวังน้อย อำเภอบางปะอิน อำเภอบางไทร อำเภอลาดบัวหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2552 แล้วนั้น
เพื่อให้การดำเนินการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นไปอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ อาศัยอำนาจตามมาตรา 7 วรรคสาม วรรคห้า วรรคหก มาตรา 8 มาตรา 9 มาตรา 11 และมาตรา 15 แห่งพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรีจึงมีคำสั่งจัดตั้งกองอำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (กอฉ.) โดยมีองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ของผู้ปฏิบัติงาน ดังนี้
ข้อ 1 ให้กองอำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (กอฉ.) เป็นหน่วยงานพิเศษตามมาตรา 7 วรรรห้า แห่งพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 โดยมีผู้ปฏิบัติงาน ดังนี้ 1.1 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นที่ปรึกษา 1.2 ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นผู้อำนวยการ 1.3 ผู้บัญชาการทหารบก 1.4 ผู้บัญชาการทหารเรือ 1.5 ผู้บัญชาการทหารอากาศ 1.6 ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ 1.7 ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ 1.8 ปลัดกระทรวงมหาดไทย 1.9 ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ 1.10 ปลัดกระทรวงยุติธรรม 1.11 ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร 1.12 เสนาธิการทหาร 1.13 เสนาธิการทหารบก 1.14 เสนาธิการทหารเรือ 1.15 เสนาธิการทหารอากาศ 1.16 ข้าราชการทหาร ข้าราชการตำรวจ และข้าราชการพลเรือน ที่ได้รับคำสั่งจากผู้อำนวยการให้ปฏิบัติหน้าที่ใน กอฉ.
ข้อ 2. ให้ผู้ปฏิบัติงานในกองอำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (กอฉ.) เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548
ข้อ 3. ให้กองอำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (กอฉ.) มีอำนาจดังต่อไปนี้
3.1 ปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 กฎหมายที่โอนมาเป็นอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี หรือกฎหมายที่นายกรัฐมนตรีรักษาการ และประกาศของนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้เท่าที่จำเป็นในการปฏิบัติงานให้สถานการณ์ฉุกเฉินยุติลง
3.2 จัดโครงสร้างขององค์กรให้เหมาะสมแก่การปฏิบัติหน้าที่ และจัดให้มีหน่วยงานหรือศูนย์ปฏิบัติการ เพื่อเป็นองค์กรปฏิบัติการได้ตามที่เห็นสมควร
3.3 ดำเนินการด้านการข่าวและต่อต้านข่าวกรองที่เกี่ยวกับสถานการณ์การก่อความไม่สงบและที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐหรือการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
3.4 ดำเนินการประชาสัมพันธ์เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องตรงตามความเป็นจริง เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างรัฐบาล ประชาชน และกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบรวมทั้งปฏิบัติการจิตวิทยาที่เกี่ยวข้อง
3.5 จัดกำลังพลเรือน ตำรวจ และทหาร ดำเนินการตามแผนรักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญและสถานที่สำคัญต่างๆ รวมทั้งประสานให้ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นเจ้าของสถานที่นั้นๆ ดำเนินการป้องกันตนเองตามความสามารถเป็นอันดับแรก
3.6 จัดชุดปฏิบัติการจากตำรวจ ทหาร และฝ่ายพลเรือนเข้าระงับการก่อความไม่สงบและช่วยเหลือบรรเทาความเดือนร้อนของประชาชนที่เกี่ยวกับสถานการณ์ฉุกเฉิน
3.7 มอบหมายให้ส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง สนับสนุนกำลังพล งบประมาณ วัสดุครุภัณฑ์ ยานพาหนะ และเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ เพื่อดำเนินการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน
3.8 เรียกให้ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐ ข้าราชการ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม ชี้แจง ให้ข้อมูลข่าวสาร จัดส่งเอกสาร หรือดำเนินการอื่นใดตามที่เห็นสมควร
3.9 แต่งตั้งคณะที่ปรึกษาหรือเจ้าหน้าที่เพื่อดำเนินการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินได้ตามความจำเป็น
3.10 ดำเนินการอื่นๆ ตามที่นายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีมอบหมาย
ข้อ 4 ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจเช่นเดียวกับพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เว้นแต่การใช้อำนาจสอบสวนต้องเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ ซึ่งเป็นข้าราชการฝ่ายพลเรือนซึ่งดำรงตำแหน่งตั้งแต่ระดับ 3 เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารซึ่งมียศตั้งแต่ร้อยตรี เรือตรี และเรืออากาศตรี หรือเจ้าหน้าที่ฝ่ายตำรวจซึ่งมียศตั้งแต่ร้อยตำรวจตรีขึ้นไป
ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
สั่ง ณ วันที่ 13 เมษายน พ.ศ.2552
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
นายกรัฐมนตรี