นิด้าออกแถลงการณ์ “แก้มหาวิกฤตสังคมไทย” ระบุ มีแนวโน้มรุนแรงถึงขั้นนองเลือด และเกิดการต่อสู้ของคนไทยด้วยกันเอง แนะแก้ปัญหาเร่งด่วน ทุกฝ่ายยุติการชุมนุม-อย่าใช้ความรุนแรง
วันนี้ (7 เม.ย.) ที่สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กลุ่มนักศึกษาพัฒนาสังคมฯ ได้ออกแถลงการณ์ “แก้มหาวิกฤตสังคมไทย” โดยระบุว่า วิกฤตสังคมไทยขณะนี้ เรียกได้ว่าเป็นมหาวิกฤต เนื่องด้วยองค์ประกอบของสังคมที่เป็นอยู่ คือ “วิกฤตซ้อนวิกฤต” โดย วิกฤตแรก คือ วิกฤตความขัดแย้งในสังคม ซึ่งเป็นเหตุมาจากความขัดแย้งทางด้านการเมือง กำลังเข้มข้น ดุเดือด เกิดความแตกแยก ขัดแย้งกันอย่างรุนแรง กระจายไปทุกหน่วยของสังคม และมีแนวโน้มของความรุนแรง การนองเลือด และเกิดการต่อสู้ของประชาชนชาวไทยด้วยกันเอง อันจะสร้างผลเสียหายแก่ประเทศชาติและสังคมไทยอย่างใหญ่หลวง ดังเช่น อดีตที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ 14 ต.ค.2516 และ เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ เหตุการณ์ 7 ตุลา 2551
ประกอบกับวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่เกิดขึ้น และรุนแรงที่สุดในรอบ 70 ปี และกำลังรุมเร้าประเทศไทยอย่างหนักหนาสาหัส รุนแรงกว่าวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งในปี 2540 ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของคนในสังคมเป็นอย่างมาก เป็นอยู่อย่างยากลำบาก เกิดความเครียด วุ่นวาย แร้นแค้น สับสน มีคนตกงาน ว่างงาน จำนวนมากและมีแนวโน้มพุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ เยาวชนมีพฤติกรรมใช้ความรุนแรง ปัญหาอาชญากรรมก็มีแนวโน้มสูงขึ้น ฯลฯ เป็นอยู่อย่างไม่ปกติสุข ซึ่งหากปล่อยให้สถานการณ์เป็นเช่นนี้ต่อไปจะทำให้สังคมไทยตกไปสู่ความหายนะในที่สุด
ดังนั้น ในนามนักศึกษาคณะพัฒนาสังคมฯ นิด้า ซึ่งเป็นผู้ที่ศึกษาการพัฒนาการการเมืองและสังคมไทยตลอดมา จึงมีข้อเรียกร้องเป็น 2 ระยะ ดังนี้
ระยะเร่งด่วน
1.ให้ทุกฝ่ายอย่าใช้ความรุนแรงในการแก้ไขปัญหา
2.ให้ทุกฝ่ายยุติการชุมนุม สร้างความแตกแยกในสังคมไทย
3.ให้รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาวิกฤตคนตกงาน ว่างงาน
4.รัฐบาล ซึ่งมีหน้าที่โดยตรงในการสร้างความปกติสุขให้เกิดขึ้นในสังคม ต้องเร่งนโยบายสมาฉันท์ สามัคคีให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมโดยเร็วที่สุด
5.กระบวนการยุติธรรม ต้องไม่ละเลยการปฏิบัติหน้าที่ ต้องมีการบังคับใช้กฎหมาย อย่างเคร่งครัด ด้วยความเป็นธรรม
ระยะยาว
6.นโยบายของรัฐ ต้องมุ่งตอบสนองความต้องการและแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนอย่างแท้จริง นักการเมืองและพรรคการเมืองต้องมีจริยธรรมและปฏิบัติหน้าที่ของตนอย่างสมบูรณ์และต่อเนื่อง
7.ฟื้นฟูจริยธรรม และ คุณธรรมให้เกิดขึ้นในจิตใจทุกคน สร้างความรู้ สร้างคน เน้นมีความรู้คู่คุณธรรม เพื่อให้คนเป็นคนเก่งและดี โดยสถาบันสังคมทุกภาคส่วนต้องเข้ามาร่วมคิด ตัดสินใจ
8.สื่อต้องเป็นเครื่องมือในการทำลายความเสื่อมและสร้างความเข้มแข็งให้กับสังคม ชี้ให้เห็นความถูกผิด จริยธรรม คุณธรรมและกระตุ้นให้คนในสังคมมีสำนึกในสิ่งดีงาม ต่อต้านความเลวร้ายทุกรูปแบบ
9.สร้างเสริมระบบเศรษฐกิจด้วยเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อลดการแข่งขัน สร้างระบบจุนเจือช่วยเหลือในสังคม กระจายรายได้เพื่อสร้างเสถียรภาพและความเข้มแข็งให้กับสังคมไทย
10.สถาบันศาสนาต้องมีบทบาทมากขึ้นในการทำหน้าที่กล่อมเกลาให้ประชาชนยึดมั่นในหลักเหตุผล เป็นตัวอย่างที่ดีและเป็นหลักยึดมั่นของสังคม