ที่ประชุมรัฐสภา มีมติผ่านหนังสือสัญญากู้เงินไทย-ญี่ปุ่น ตามที่ ครม.เสนอ ฝ่ายค้านติงตั้งวงเงินสร้างรถไฟฟ้าสูง ทั้งที่ราคาน้ำมันลดลงแล้ว “โสภณ” แจงตั้งงบเผื่อชดเชยชาวบ้านที่อพยพออกนอกพื้นที่ พร้อมผ่านกรอบเจรจามาตรการริเริ่มเชียงใหม่ หวังตั้งกองทุน CMIM “กรณ์” เผยไทยทุ่ม 5 พันล้านเหรียญเข้ากองทุน หวังผลช่วงวิกฤตเข้าถึงวงเงินกู้ที่สูงขึ้น เล็งเข้าหารือที่ประชุมอาเซียน +3 เม.ย.นี้
วันนี้ (25 มี.ค.) ที่รัฐสภา ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภาเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบกรอบการเจรจาและร่างสัญญาการกู้เงิน 2 ฉบับ และบันทึกข้อตกลงระหว่างประเทศ จำนวน 4 ฉบับ ในวันที่ 2 โดยมีนายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภาทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม โดยที่ประชุมได้มีการพิจารณาร่างหนังสือแลกเปลี่ยนว่าด้วยความร่วมมือทางการเงินระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลญี่ปุ่นและร่างสัญญาเงินกู้ที่ ครม.เป็นผู้เสนอ
ทั้งนี้ ส.ส.ฝ่ายค้าน รัฐบาล และ ส.ว.ต่างอภิปรายตั้งข้อสังเกตในร่างหนังสือดังกล่าวหลายประเด็น อาทิ นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า โครงการนี้รัฐบาลที่แล้วเป็นคนทำ ซึ่งแปลกใจที่เลือกกู้เงินจากไจก้า แทนเจบิค เพราะแม้ว่าดอกเบี้ยจะถูก แต่ดูจริงๆ จะพบว่า การกู้จากไจก้า มีอัตรา 1.4% ต่อปี ขณะที่ตอนที่กู้ทำรถไฟฟ้ากับเจบิค เสียดอกเบี้ย 0.75% ต่อปีเท่านั้น
ส่วน ส.ส.จากฝ่ายค้าน เห็นว่า ก่อนจะดำเนินการเพื่อทำหนังสือสัญญากับนานาประเทศ หรือองค์การระหว่างประเทศ ครม.ต้องให้ข้อมูลและจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและต้องชี้แจงต่อรัฐสภา ไม่เช่นนั้นจะถือว่าเป็นการขัดรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้ ยังเห็นว่า ควรจะมีการขอปรับลดกรอบวงเงินโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีแดงและสีม่วงลง เพราะปัจจุบันราคาน้ำมันได้ปรับลดลงอย่างมาก ก่อนตั้งงบประมาณก่อสร้าง ราคาน้ำมันอยู่ที่ 54 เหรียญต่อบาร์เรล จึงทำให้กำหนดกรอบวงเงินการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วง ไว้ที่ 1.6 หมื่นล้านบาท แต่ขณะนี้ราคาน้ำมันลดลงมาเหลือแค่ 40 เหรียญต่อบาร์เรลแล้วราคา จึงควรกลับไปอยู่ไม่เกิน 1.1-1.2 หมื่นล้านบาทเท่านั้น แต่ยังมีการยื่นซองราคา 1.6 หมื่นล้านบาทอยู่
ด้าน นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง ชี้แจงว่า รัฐบาลได้ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 190 ทุกอย่าง และยึดตามระเบียบทุกขั้นตอน ส่วนการจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นนั้น รัฐบาลที่ผ่านมาได้ดำเนินเรียบร้อยแล้ว ซึ่งจะมีประสิทธิภาพประสิทธิผลแค่ไหนเพียงใดคงต้องถามจากอดีตรัฐมนตรี
ขณะที่ นายโสภณ ซารัมย์ รมว.คมนาคม ชี้แจงว่า โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าไม่ได้เกิดขึ้นในรัฐบาลชุดนี้ แต่มีดำริมาตั้งแต่ปี 2548 และจบเมื่อปี 2550 และโครงการนี้ก็เป็นเพียงการอนุมัติกรอบวงเงินไว้ 59,988 ล้าน แต่แบบยังไม่แล้วเสร็จ ซึ่งเมื่อทำแบบเรียบร้อย ในปี 2551 เกิดภาวะน้ำมันแพง เหล็กราคาเพิ่มสูงขึ้น ทำให้มีการขยายวงเงินไปที่ 65,148 ล้านบาท ส่วนที่มีการตั้งข้อสังเกตว่า เหตุใดราคาน้ำมันลดลงแล้วจึงไม่มีการลดวงเงินกู้นั้น เนื่องจากได้มีการนำเงินไปซื้อรถไฟฟ้า และนำเงินไปเพิ่มค่าชดเชยให้กับผู้อพยพที่ได้รับความเดือดร้อน โดยได้ใช้เงิน 6,560 ล้าน ซื้อรถไฟสายสีแดงจากบางซื่อ-รังสิต และใช้เงิน 3,840 ล้าน ในการซื้อรถไฟสายสีแดงบางซื่อ-ตลิ่งชัน
ทั้งนี้ นายโสภณยืนยันว่าโครงการที่รัฐบาลกู้จะไม่กระทบต่อเงินที่จะนำไปพัฒนาในชนบท ส่วนเรื่องรางรถไฟรางคู่รางเดียว ซึ่งอาจทำให้มีปัญหานั้น ขณะนี้ประเทศไทยกำลังยากจน จึงไม่สามารถทำการเปลี่ยนระบบรางใหม่ทั้งหมดได้ ซึ่งเรื่องนี้ได้ทำการศึกษาไว้แล้ว โดยจะไม่เกิดปัญหาในระบบขนส่งแน่นอน และตนในฐานะที่รับผิดชอบงานนี้ ยืนยันว่า จะให้เกิดความโปร่งใส และตรวจสอบได้
นอกจากนี้ ที่ประชุมสภายังมีมติเห็นชอบผ่านกรอบการเจรจามาตรการริเริ่มเชียงใหม่ไปสู่การเป็นพหุภาคี ซึ่งจะดำเนินการจัดตั้งกองทุน CMIM เพื่อเป็นกลไกทางการเงินเสริมสภาพคล่องระยะสั้นให้แก่ประเทศสมาชิกอาเซียน +3 (จีน ญี่ปุ่น เกาหลี) ที่ประสบปัญหาสภาพคล่องระยะสั้น
ทั้งนี้ ในที่ประชุมสภาสมาชิกได้สอบถามรายละเอียดความชัดเจนของกองทุน ว่า มีประโยชน์กับประเทศไทยอย่างไร จะเริ่มขึ้นเมื่อใด และสามารถนำเงินจากกองทุนมาใช้ได้เมื่อไหร่ รวมทั้งตั้งข้อสังเกตถึงการนำเงินทุนสำรองระหว่างประเทศมาใช้จะกระทบกับสถานะการเงินของไทยหรือไม่
โดยนายกรณ์ชี้แจงว่า กองทุนดังกล่าวขยายวงเงินเริ่มต้นเป็น 1.2 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ แบ่งสัดส่วนการลงทุน เป็นเอเชียต่อประเทศ จีน ญี่ปุ่น เกาหลี เป็น 20:80 ในส่วนของไทยจะนำเงินเข้ากองทุนประมาณ 5 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งจะทำให้ไทยสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนประมาณ 1-1.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หากประสบปัญหา โดยในช่วงที่ไม่เกิดวิกฤต หรือประสบปัญหา กองทุนดังกล่าวจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับภูมิภาค ในการลงทุน และป้องกันไม่ให้ผู้เก็งกำไรอัตราแลกเปลี่ยนประเทศสมาชิก เพราะมีกองทุนหนุนหลังซึ่งถือเป็นกองทุนที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยขั้นตอนหลังจากนี้จะนำเรื่องนี้เข้าไปสู่การหารือในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน +3 ที่ พัทยา จ.ชลบุรี
ทั้งนี้ กองทุนดังกล่าวมีที่มาเริ่มจากมาตรการริเริ่มเชียงใหม่ เมื่อปี 2543 เพื่อสร้างความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและการเงินระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน +3 เพื่อเสริมสภาพคล่องระหว่างกันในกรณีประสบปัญหาดุลการชำระเงินหรือขาดภาพคล่องระยะสั้น ไม่จำเป็นต้องไปพึ่งกลไกองค์กรการเงินระหว่างประเทศ