ทีมประเมินผล “ไข่แม้ว” สรุปเสนอผู้บริหารพรรครุมอัด “สุนัย” ยับ ชี้ทำตัวไม่เหมาะสม ก่อนอ้อมแอ้มไม่มีมติขับพ้นพรรค แย้มเตรียมชง 3 มาตรการบอยคอต “ส.ส.งูเห่า” เหตุเพราะทำให้ต้องเลื่อนปรับโครงสร้างพรรคใหม่ ก่อนส่งผลประเมินฟ้อง “นช.แม้ว” โวย “วิปฝ่ายค้าน” ทำซักฟอกเสียเปรียบ
วานนี้ (23 มี.ค.) รายงานข่าวแจ้งว่า คณะทำงานติดตามประเมินผลการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ซึ่งมีนายปลอดประสพ สุรัสวดี รองหัวหน้าพรรค และผู้อำนวยการพรรคเพื่อไทย เป็นประธาน ได้มีการประชุมเพื่อประเมินถึงผลการอภิปรายในครั้งที่ผ่านมา โดยใช้เวลาหารือนานประมาณ 2 ชั่วโมง ซึ่งนางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ ได้เข้าร่วมหารือในการประชุมครั้งนี้ด้วย จากนั้นที่ประชุมได้สรุปว่า ภาพรวมการอภิปรายครั้งนี้ถือว่าประสบผลสำเร็จ โดยเฉพาะ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ประธาน ส.ส.พรรค ถือว่าทำหน้าที่ในอภิปรายดีกว่าที่คาดไว้
แต่ถ้ารัฐบาลชุดนี้อยู่บริหารครบ 1 ปี พรรคเพื่อไทยมั่นใจว่าการอภิปรายครั้งต่อไปจะสมบูรณ์กว่านี้ เพราะก่อนหน้านี้ได้ถูกปรามาสว่าทำหน้าที่ฝ่ายค้านไม่ได้ แต่จากข้อมูล เนื้อหาในการอภิปรายได้พิสูจน์ข้อเท็จจริงให้เห็นชัดเจน ซึ่งจะทำให้เกิดพลวัตจากการอภิปรายให้เดินไปข้างหน้า ซึ่งจะต้องปรับการนำเสนอ ไม่ใช้เวลายาวเกินไป และไม่นำเสนอซับซ้อน เนื่องจากจะไม่เกิดประโยชน์ เพราะคนจะเบื่อ รวมทั้งจะต้องใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย ไม่ใช้ภาษาแบบทนายความ ซึ่งผลสรุปจะนำเสนอคณะกรรมการอำนวยการบริหารพรรคเพื่อไทย เพื่อดำเนินการต่อไป
นอกจากนี้ ที่ประชุมคณะทำงานติดตามประเมินผลการอภิปรายไม่ไว้วางใจของพรรคเพื่อไทย ได้หารือถึงกรณีที่มี ส.ส.พรรคโหวตแตกต่างจากการลงมติของพรรค โดยเฉพาะนายสุนัย จุลพงศธร ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย ที่เป็นผู้อภิปรายไม่ไว้วางใจ ซึ่งได้ลงมติงดออกเสียงในส่วนของการอภิปรายนายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รมว.มหาดไทย ซึ่งมีการตำหนินายสุนัย เป็นอย่างมากว่าทำไม่เหมาะสม เนื่องจากเป็นผู้ร่วมงานวางการอภิปราย และเป็นหนึ่งในทีมงานยุทธศาสตร์ แต่กลับลำมาทำอย่างนี้เสียเอง ทำให้ถูกมองว่าพรรคเพื่อไทยถูกซื้อได้
ในส่วน ส.ส.คนอื่นที่ไม่ได้อยู่ร่วมทีมยุทธศาสตร์ของพรรคนั้น เหตุผลบางคนก็พอฟังได้ ซึ่งจะต้องแสดงความบริสุทธิ์ใจเข้ามาชี้แจงอีกครั้ง โดยพรรคจะไม่มีมติไปขับพ้นพรรคอย่างแน่นอน แม้จะมีใครอ้างอย่างไรก็ตาม เพราะเป็นเรื่องจริยธรรมในการทำหน้าที่ เนื่องจากเมื่อพรรคฝ่ายค้านยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าจะต้องลงมติไม่ไว้วางใจ เพราะถือเป็นมารยาท และสามัญสำนึกว่า จะต้องโหวตไม่ไว้วางใจอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องมีมติพรรคไปบังคับสมาชิก
อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นที่ประชุมยังได้เสนอ 3 มาตรการในการดำเนินการต่อ ส.ส.ที่มีพฤติกรรมดังกล่าว คือ 1.บอยคอต ไม่ให้ร่วมกิจกรรมทางการเมือง 2.ไม่ให้รับรู้ข้อมูลบางส่วนของพรรค และ 3.ไม่สนับสนุนทางการเงินต่อไป
รายงานข่าวแจ้งกรณีที่มีงูเห่าเกิดขึ้นในพรรคเพื่อไทยว่า จากกรณีดังกล่าว ส่งผลให้การประชุมใหญ่สามัญของพรรคในวันที่ 24 มี.ค.นี้ ต้องปรับเปลี่ยนไป เนื่องจากเดิมพรรคเพื่อไทย จะมีการปรับโครงสร้างผู้บริหารพรรคใหม่ โดยจะตั้งบุคคลที่เป็น ส.ส.สัดส่วน และ ส.ส.เขตเลือกตั้ง เข้ามาเป็นผู้บริหาร แต่จากเหตุการณ์ดังกล่าวได้มีบางคนที่อยู่ในข่ายได้รับการเสนอชื่อในการปรับโครงสร้างพรรคใหม่ อย่างกรณีนายสุนัย ที่เตรียมนั่งเป็นรองเลขาธิการพรรคฯ และ เป็นผู้อำนวยการสถาบันอบรมของพรรค แต่พอเจอกับเหตุการณ์เช่นนี้ รวมทั้งบางคนที่มีรายชื่อ จึงทำให้ต้องพักเรื่องไว้ก่อนโดยพรรคจะไม่นำเรื่องการปรับโครงการฯ เข้ามาเป็นวาระในการประชุมใหญ่ของพรรคในครั้งนี้
นอกจากนี้ ที่ประชุมพรรคเพื่อไทยยังเห็นว่า การลงมติครั้งนี้ถือเป็นบทเรียนที่พรรคจะต้องมาทบทวนปรับกระบวนการทำงานของพรรคใหม่ จะได้ส่งผลสรุปการประเมินไปให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้รับทราบข้อมูล เพื่อให้ตัดสินใจจัดการอย่างไรกับ ส.ส.เหล่านั้นในการโฟนอิน หรือวีดิโอลิงค์พูดคุยกับประชาชนเวทีของกลุ่มคนเสื้อแดงต่อไป
ที่สำคัญที่ประชุมพรรคเพื่อไทยยังเห็นว่า ในช่วงนี้จะลดบทบทบาทการทำงานในสภาลง แต่จะมีมาตรการการขับเคลื่อนในการติดตามผลจากการอภิปรายต่อไป พร้อมกันนี้ จะให้ ส.ส.และว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.ลงไปทำงานมวลชนในพื้นที่ เพื่อสนับสนุนกลุ่มคนเสื้อแดงในการเคลื่อนไหวต่อสู้ ขณะเดียวกันพรรคเพื่อไทย จะนำข้อมูลหลักฐานเกี่ยวกับเงินบริจาคและการใช้เงินอุดหนุนพรรคการเมืองจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง ไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ไปยื่นต่อ กกต. และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อดำเนินการตามกฎหมายกับพรรคประชาธิปัตย์ต่อไป
นอกจากนี้ ยังมีการตั้งข้อสังเกตในการทำหน้าที่ของวิปฝ่ายค้านในการอภิปรายที่ผ่านมา ในส่วนของนายวิทยา บุรณศิริ ประธานวิปฝ่ายค้าน ถือว่าการทำงานไม่ได้มีการเจรจาต่อรอง แต่กลับไปรับแต่ข้อเสนอ ไม่มีการผลักดันข้อเสนอ ทำให้การทำงานฝ่ายค้านเสียเปรียบมาโดยตลอด