xs
xsm
sm
md
lg

“เพื่อแม้ว” โต้ “ปู่ชัย” ยันยื่นอภิปราย รบ.ชอบด้วย กม.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พร้อมพงษ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย
“พร้อมพงศ์” โต้ “ปู่ชัย” ทันควัน ยันยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯ พร้อมเปิดอภิปราย 5 รมต.พร้อมลงมติไม่ไว้วางใจชอบด้วยกฎหมายรัฐธรรมนูญ สวนกลับสมัย ปชป.เป็น “ฝ่ายค้าน” ก็เคยทำ สมัยรัฐบาล “สมัคร”

ที่พรรคเพื่อไทย นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย แถลงถึงกรณี นายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนฯที่ให้สัมภาษณ์ ระบุว่า การยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจทั่วไปเพื่อลงไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลว่าอาจมีปัญหาข้อกฎหมายเพราะ ส.ส.ได้ลงชื่อทั้ง 2 ญัตตินั้น ว่า ขอยืนยันว่า พรรคเพื่อไทยได้ดำเนินการทุกอย่างถูกต้องตามรัฐธรรมนูญโดยรัฐธรรมนูญ มาตรา 158 ได้บัญญัติไว้เรื่องการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี ส่วนมาตรา 159 เป็นเรื่องการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล รัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดห้ามว่า เมื่อได้ลงชื่อยื่นขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีแล้ว จะลงชื่อยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลไม่ได้ อีกทั้งในท้ายญัตติก็ได้ระบุไว้ชัดเจนว่า ให้สภาผู้แทนราษฎร บรรจุญัตติทั้งสองรวมกันเพื่อพิจารณาในคราวเดียวกัน

“ในกรณีเช่นกันกันนี้ในสมัยพรรคประชาธิปัตย์ เป็นพรรคฝ่ายค้านก็เคยดำเนินการมาแล้วเมื่อครั้งยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีอื่นๆอีก 7 คน เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2551 ซึ่งมีนายชัย ชิดชอบ เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรด้วย” นายพร้อมพงศ์ ย้ำ

โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวอีกว่า ในกรณีการยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ และการยื่นถอดถอนนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี โดยมีชื่อ ส.ส.ลงชื่อทั้ง 2 ญัตตินั้น เป็นคนละเรื่องกัน เพราการยื่นถอดถอน เป้นเรื่องการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ อันเป็นการใช้สิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 271 ส่วนการยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ เป็นเรื่องการตรวจสอบการบริหารราชการแผ่นดินซึ่งใช้สิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา158และมาตรา 159 แล้วแต่กรณี โดยตามมาตรา 158 วรรคสองและมาตรา 159 วรรคแรกบัญญัติไว้ แต่เพียงว่าในการยื่นญัตติเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนั้น หากเป็นการเรื่องเกี่ยวกับพฤติกรมของนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ที่มีพฤติกรรมร่ำรวย ผิดปกติ ส่อไปในทางทุจริตต่อหน้าที่ราชการ หรือจงใจฝ่าฝืน บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมาย จะเสนอโดยไม่มีการยื่นคำร้องขอถอดถอนออกจากตำแหน่งก่อนมิได้เท่านั้น ดังนั้นเมื่อญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯ และรัฐมนตรีที่จะพิจารณารวมกันมีเสียง ส.ส.ตามจำนวนที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ ย่อมถือเป็นญัตติที่ชอบด้วยกฎหมาย
กำลังโหลดความคิดเห็น