xs
xsm
sm
md
lg

“มาร์ค” เย้ยมติ ครม.ทบทวนลงนามเขาพระวิหารแก้เกี้ยว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคปชป.
“อภิสิทธิ์” มั่นใจ “หมัก-นพดล” ต้องได้รับความไม่ไว้วางใจ คดีลงนามยกเขาพระวิหารให้เขมร เย้ยชี้แจงไม่เคลียร์ สั่งทบทวนมติ ครม.แก้เกี้ยว ยื้อเวลาหุ่นเชิด ติงอย่ากังวลเสียงโหวต ชี้ต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ

วันนี้ (25 มิ.ย.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่าถึงการอภิปรายของฝ่ายค้านเมื่อวันที่ 23 มิ.ย.ที่ผ่านมาว่า ในประเด็นปราสาทพระวิหาร สมาชิกของพรรคก็ได้ทำหน้าที่อย่างเต็มที่ และคิดว่านายกฯ ไม่สามารถชี้แจงในเรื่องดังกล่าวได้เลย ส่วนรัฐมนตรีนั้นก็พยายามชี้แจงให้เกิดความคลาดเคลื่อน เช่น การไปหยิบยกหนังสือของ ครม.เมื่อ พ.ศ.2505 โดยไม่ยอมเอามติ ซึ่งได้มีการเปลี่ยนแปลงถ้อยคำที่สำคัญ เพื่อที่จะชี้ให้เห็นว่าแนวมติ ครม.2505 ไม่ได้มีการความตั้งใจที่จะกำหนดให้เป็นเขตแดน ซึ่งหมายความว่าการไปให้ประเทศกัมพูชาไปขี้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเพียงฝ่ายเดียว เท่ากับเป็นการสูญเสียเพิ่มเติมและเป็นการสละสิทธิ์ ตนเข้าใจว่าขณะนี้ทาง ครม.คงเห็นความผิดพลาดจึงมีความพยายามทบทวนสิ่งที่อยู่ท้ายแถลงการณ์ร่วม เป็นแผนผังหรือแผนที่

นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ตนไม่เข้าใจในสิ่งที่ ครม.กำลังจะเปลี่ยนแปลงมติ รมต.เปลี่ยนแปลง ถ้อยคำในมติ จากแผนที่เป็นแผนผัง จะช่วยได้มากน้อยแค่ไหน เพราะคำในแถลงการณ์ร่วมก็ใช้ว่า แมป(แผนที่) และทั้งนี้ตนขอยืนยันในความเห็นของฝ่ายค้านว่า หนทางที่ดีที่สุดขณะนี้คือ ต้องหาทางปฏิเสธยับยั้งไม่ยอมรับการกระทำของนายกฯ และ รมต. ซึ่งการไว้วางใจก็เป็นอีกวิธีหนึ่ง

“ผมยังมองไม่เห็นว่าการแก้ไขมติ ครม.จะไปแก้ไขอะไรที่เป็นแถลงการณ์ร่วมที่ได้ลงนามไปได้ เพราะแถลงการณ์ร่วมก็เป็นภาษาอังกฤษ และถ้อยคำที่เป็นปัญหาก็ใช้คำว่าแมป และตัวภาพที่ส่งไปจะเรียกแผนที่หรือแผนผัง ก็จะมีเกณฑ์การพิจารณาอยู่ไม่ว่ามติ ครม.ไทยจะเขียนว่าอย่างไร”

เมื่อถามว่า มีข้อเสนอว่าจะให้ รมต.ที่ถูกอภิปรายได้มีการลงคะแนนด้วย นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ในรัฐธรรมนูญจะเขียนไว้ว่า รมต.ที่มีส่วนได้เสียกับการลงมติ หรือลงคะแนนได้ ข้อเท็จจริงมีอยู่ว่าหากนายกฯ ไม่ได้รับความไว้วางใจ หรือถูกไม่ไว้วางใจ รมต.ต้องพ้นจากตำแหน่งด้วย ทั้งนี้ก็ไม่ได้เป็นปัญหาสำหรับรัฐบาล เพราะรัฐธรรมนูจะยึดถือเสียงไม่ไว้วางใจเป็นหลัก ไม่ใช่จะยึดว่าเสียงไว้วางใจจะมากหรือน้อย และการลงมติไม่ไว้วางใจ รมต.แต่ละคนจะแยกเป็นแต่ละประเด็น กล่าวคือ ถ้าหากมีการลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีเรื่องก็จบ แต่หากนายกฯ ได้รับความไว้วางใจก็ต้องมาโหวตรัฐมนตรีแต่ละคน

“จะตัดสินด้วยวิธีใดในนี้ก็ไปฝืนหลักกฎหมายไม่ได้ และจะทำอะไรที่ผิดกับรัฐธรรมนูญก็จะเป็นปัญหา ผมว่ารัฐบาลไม่น่าจะมีความกังวลอะไร เพราะหากหักเสียงรัฐมนตรีออกไปก็มีเสียงโหวตเกินครึ่งอยู่แล้ว” นายอภิสิทธิ์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น