xs
xsm
sm
md
lg

กอ.รมน.แจงเพิ่มทหารลงใต้ มุ่งเอาชนะระดับหมู่บ้าน-ปี 53 เพิ่มบทบาท ศอ.บต.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โฆษก กอ.รมน.แจง “มาร์ค” สั่งเพิ่มกำลังทหาร 4 พันนายลงใต้ ตามที่รัฐบาลก่อนอนุมัติหลักการไว้ วางเป้าร่วมมือตำรวจ-พลเรือนลงปฏิบัติการเอาชนะในระดับหมู่บ้าน เผยสถิติก่อเหตุป่วนใต้ลดลงกว่าครึ่ง วางยุทธศาสตร์ปี 53-54 มุ่งพัฒนา เน้นบทบาท ศอ.บต.

วันที่ 12 มี.ค. พ.อ.ธนาธิป สว่างแสง โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) เปิดเผยถึงการประชุมคณะกรรมการอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในวันเดียวกันว่า เป็นไปตามพระราชบัญญัติความมั่นคง มาตรา 17 ที่ให้นายกรัฐมนตรี ในฐานะ ผอ.รมน. เป็นประธานคณะกรรมการฯ และให้ประชุมเห็นชอบ หรืออนุมัติโครงการ หรือ แผนงานของ กอ.รมน. ซึ่งการที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ว่าจะมีการเพิ่มกำลังทหารในพื้นที่ภาคใต้ 4,000 นายนั้น เป็นกำลังทหารพรานจำนวน 28 กองร้อย ที่รัฐบาลชุดก่อนได้อนุมัติหลักการไว้ในช่วงปี 2551 แต่เมื่อ พ.ร.บ.ความมั่นคงภายในมีผลบังคับใช้ และมีคณะกรรมการชุดนี้ขึ้นมา ก็ต้องนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาเพื่อให้ถูกต้องตามกฎหมาย

พ.อ.ธนาธิป กล่าวว่า กำลังที่อนุมัตินี้จะเป็นชุดเจ้าหน้าที่ ซึ่ง 1 ชุดประกอบด้วย ทหาร 25 นาย ตำรวจ 2 นาย อาสาสมัครรักษาหมู่บ้าน (อรบ.) ผสมกับชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) หมู่บ้านละ 4 นาย ลงไปปฏิบัติหน้าที่ในหมู่บ้านพัฒนาสันติ หรือ หมู่บ้าน 3 ส. ที่ กอ.รมน.ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2550-2551 และประสบความสำเร็จในหมู่บ้านสีแดงจำนวน 50 หมู่บ้าน และ ในกรอบงบประมาณปี 2551-2552 จะดำเนินการต่อใน 217 หมู่บ้าน ทั้งนี้ กอ.รมน. เห็นว่าการจะแก้ไขปัญหาได้เราต้องเอาชนะในระดับหมู่บ้านก่อน ซึ่งแนวทางการให้เจ้าหน้าที่ลงไปในหมู่บ้านถือว่าได้ผลเป็นอย่างดี

“รัฐบาลเข้าใจในสิ่งที่ฝ่ายความมั่นคงได้อธิบาย โดยเฉพาะกำลังในพื้นที่ที่ประกอบเป็น กอ.รมน. นั้นไม่ได้มีแค่ทหาร แต่มีทั้ง ตำรวจและพลเรือน และกำลังทหารขณะนี้ที่มีอยู่ก็ยังมีความจำเป็น การปิดล้อม ตรวจค้น ชุดคุ้มครองต่างๆ ยังต้องมี การจะลดกำลังลงหรือไม่ทางกองทัพจะพิจารณาดูความเหมาะสมไปตามสถานการณ์ ทั้งนี้กองทัพได้อธิบายโครงสร้างการจัดกำลัง ภารหน้าที่ต่างๆ ว่าทหารทำอะไรบ้าง เรามี ฉก.ยะลา นราธิวาส และ ปัตตานี ที่จะประสานกับทางจังหวัดได้โดยตรง ซึ่งที่ผ่านมาจากการปฏิบัติหน้าที่ในการรักษาความสงบในพื้นที่ชายแดนใต้ถือได้ว่าสถิติการก่อเหตุลดลงไปกว่าครึ่ง ซึ่งรัฐบาลเข้าใจดี” พ.อ.ธนาธิป กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในขณะนี้พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีกำลังทหารพรานทั้งหมด 76 กองร้อย ประจำ 5 กรมทหารพรานใน 5 จ.ชายแดนภาคใต้ รวมแล้ว ประมาณ 8,000 นาย โดย 2550-2551 บรรจุทั้งหมด 48 กองร้อยและ ในงบประมาณปี 52 นี้อนุมัติเพิ่มเติมอีก 28 กองร้อย ทั้งนี้ กองทัพได้อธิบายถึงกำลังพลที่ปฏิบัติหน้าที่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตามโครงสร้างของ กอ.รมน.ในปี 52 นี้เพิ่มเป็น 6.6 หมื่นราย นั้น ไม่ได้เป็นทหารทั้งหมด โดยแบ่งเป็นทหาร 3.8 หมื่นราย ตำรวจ 1.3 หมื่นราย และ พลเรือน 1.5 หมื่นคน ซึ่งการลดกำลังพลของทหารลงจะเริ่มขึ้นในปีหน้าตามแผนยุทธศาสตร์ในการรักษาความสงบในพื้นที่ระยะเวลา 5 ปี โดยปี 50-52 ยังอยู่ในช่วงที่ยังใช้กำลังทหาร ผ่าน พตท.43 ในการสร้างความเข้มแข็งให้พื้นที่ และ ทำให้การก่อเหตุลดลดลงให้ได้ โดยในปี 53-54 จะมุ่งไปที่การพัฒนาพื้นที่ซึ่งบทบาทหลักจะอยู่ที่ ศอ.บต.เป็นหลัก

ด้าน พ.อ.ปริญญา ฉายดิลก โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า) กล่าวถึงการเดินทางลงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของ พล.อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก ในวันที่ 13 มีนาคมนี้ว่า เป็นการเดินทางมารับฟังบรรยายสรุปสถานการณ์ปัจจุบันของ กอ.รมน.ภาค 4 ตามปกติ และช่วงบ่ายเป็นการเดินทางลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมกำลังพล เพื่อรับทราบปัญหาและสร้างขวัญกำลังใจ ทั้งนี้ ผู้บัญชาการทหารบกคงไม่มีการปรับแผนหรือปรับแนวทางการปฏิบัติ เพราะขณะนี้สถานการณ์ภาพรวมดีขึ้น ซึ่ง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาเหตุการณ์เงียบลง แต่หน่วยข่าวและเจ้าหน้าที่กำลังวิเคราะห์อยู่ว่าสถานการณ์เงียบลงเพราะอะไร ซึ่งสถานการณ์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ดีขึ้นมาก ซึ่งเจ้าหน้าที่ทำหน้าที่เต็มที่ แต่ขณะนี้เรายังไม่รู้ฝ่ายเขาว่าทำอะไรอยู่

พ.อ.ปริญญา กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีรายงานความเคลื่อนไหวที่จะก่อเหตุร้ายในพื้นที่ ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ฝ่ายยุทธการ กอ.รมน.ภาค 4 กำลังเปิดยุทธการมากขึ้น ด้วยการสร้างให้หน่วยพัฒนาสันติเข้าไปทำงานในพื้นที่ได้มากขึ้น ขณะนี้หน่วยพัฒนาสันติสามารถเข้าไปอยู่ในทุกหมู่บ้านได้ โดยเฉพาะ 217 หมู่บ้านที่เราเฝ้าระวัง เราส่งคนเข้าไปอยู่ในหมู่บ้านแล้วนำการพัฒนาเข้าไป ซึ่งหน่วยพัฒนาสันติก็จะเก็บข้อมูลป้อนให้กับศูนย์บัญชาการรวบรวมข้อมูล ส่วนโรงเรียนสอนศาสนาที่มีปัญหา เราให้ชุดพัฒนาสันติเข้าไปทำความเข้าใจว่าสิ่งที่ทำไม่ดี

“เราเปิดยุทธการเข้าไปทั้งในชุมชุน และพื้นที่เชิงป่าเขากำลังเจ้าหน้าที่ก็เข้าไปฝังตัว เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุร้ายในพื้นที่ให้ได้ ขณะนี้ประชาชนในพื้นที่ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่อย่างดี และข้อมูลก็เป็นประโยชน์นำมาสู่การจับกุมในหลายกรณี ทั้งนี้ เพราะประชาชนในพื้นที่เห็นความเอาจริงเอาจังของเจ้าหน้าที่ ทำให้เขารู้สึกปลอดภัย ทำให้สถานการณ์ในพื้นที่ขณะนี้ดีขึ้น แต่ดีขึ้นยั่งยืนหรือไม่นั้นยังไม่ใช่ แต่ถือเป็นก้าวหนึ่งที่จะนำไปสู่จุดนั้นได้” โฆษก ก.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น