กมธ.พิทักษ์พระมหากษัตริย์ วุฒิฯ เสนอแก้ไข กม.ความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ม.26 ให้รู้ตัวคนโพสต์ข้อความหมิ่นได้ แนะรัฐเพิ่ม จนท.ดูแลเว็บหมิ่น เผยทั่วปท.มีแค่ 35 คน ด้าน “คำนูณ” เผย กม.มีข้อบกพร่องไม่สามารถระบุชื่อคนโพสต์ได้ ยันปิดเว็บประชาไท ไม่ผิด กม.จนท.ไม่ได้กลั่นแกล้ง ทำตามกระบวนการถูกต้อง
วันนี้ (10 มี.ค.) ที่รัฐสภา คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญศึกษาติดตามการบังคับใช้กฎหมายและมาตรการเกี่ยวกับการพิทักษ์สถาบันพระมหากษัตริย์ วุฒิสภา ที่มี พล.อ.อ.ณพฤษภ์ มัณฑะจิตร ส.ว.สรรหา เป็นประธาน ซึ่งพิจารณาหามาตรการป้องกันเว็บไซต์หมิ่นสถาบันเบื้องสูง และ พ.ร.บ.ความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ โดยเชิญตัวแทนจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) และ นางสุรางคณา วายุภาพ ผอ.ฝ่ายศึกษาวิจัยประเด็นด้านจริยธรรม กฎหมายและผลกระทบทางสังคมของเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือ เนคเทค มาให้ข้อมูลกฎหมายว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์
โดย นางสุรางคณา ชี้แจงว่า ข้อความที่แสดงความเห็นในเว็บไซต์ประชาไท ส่วนใหญ่มีการชี้นำและหมิ่นเหม่ต่อการละเมิดสถาบัน ซึ่งผู้ดูแลเว็บไซต์ต้องใช้วิจารณญาณ ว่า การแสดงความเห็นของบุคคลที่ 3 ซึ่งใช้นามแฝงในกระทู้ถามบนเว็บไซต์ ส่งผลกระทบต่อสถาบันเบื้องสูงหรือไม่ เพราะถือว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงอย่างหนึ่ง และหากไม่มีการลบข้อความที่มีหมิ่น เจ้าหน้าที่ก็สามารถดำเนินคดีตามกฎหมายได้ แต่วิธีการปฏิบัติควรมีการตักเตือนล่วงหน้าก่อนดำเนินการจับกุม หากเร่งดำเนินการทางกฎหมายด้วยการบุกจับจะส่งผลให้เกิดการต่อต้าน และข้อโต้แย้งที่อาจนำไปสู่ความแตกแยกในสังคม
ด้าน นายโคทม อารียา ผอ.ศูนย์สันติวิธีมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า เว็บไซต์ประชาไท ถือเป็นเว็บไซต์คุณภาพที่สะท้อนความเห็นทางการเมืองที่หลากหลาย แต่หากมีการแสดงความเห็นที่ไม่บังควร ผู้ดูแลเว็บไซต์ควรดำเนินการลบข้อความที่ไม่เหมาะสม เพื่อไม่ให้มีการเผยแพร่ต่อสาธารณะ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสถาบัน ซึ่งในหลายประเทศมีการบังคับใช้กฎหมายที่ดำเนินการเอาผิดกับผู้ที่ดูหมิ่นต่อสถาบันเบื้องสูง แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ดำเนินการตามกฎหมายต้องใช้ความรอบคอบ โดยคำนึงถึงเจตนารมณ์ของกฎหมาย ว่า ผู้ดูแลเว็บไซต์มีเจตนาละเมิดต่อสถาบันเบื้องสูงหรือไม่ เพื่อไม่ให้ละเมิดต่อสิทธิการแสดงความเห็นที่เป็นประโยชน์ แต่หากมีการใช้สถาบันเบื้องสูงเพื่อหวังประโยชน์ทางการเมืองก็ต้องดำเนินการตามกฎหมาย
ด้าน นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา หนึ่งในกรรมาธิการ กล่าวว่า เบื้องต้นที่ประชุมเห็นว่า พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ถือว่ามีความครอบคลุมแล้ว แต่ที่มีปัญหา คือ ผู้ใช้ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย และกฎหมายฉบับนี้ยังมีข้อบกพร่องบางประการ เช่น ไม่สามารถระบุตัวผู้โพสต์ข้อความหมิ่น ทำให้เกิดปัญหาตามจับไม่ได้ รวมถึงเรื่องคดีความมั่นคงและคดีหมิ่นต่างๆ ดังนั้น ที่ประชุม จึงอยากให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด และอาจมีการแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 26 ให้ผู้ดูแลสามารถรู้ได้ว่ามีใครเป็นผู้โพสต์ข้อความบ้าง นอกจากนี้ เห็นว่า ควรมีการเพิ่มเจ้าหน้าที่ดูและเกี่ยวกับเว็บไซต์หมิ่น เพราะปัจจุบันทั้งประเทศมีเจ้าหน้าที่ดูแลเพียง 35 คน
นายคำนูณ ยังกล่าวถึงเว็บไซต์ประชาไท ที่ถูกปิดและมีผู้เรียกร้องให้ทบทวนการปิดเว็บดังกล่าว เนื่องจากไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น ว่า ตนเห็นว่า การปิดเว็บประชาไท ไม่ขัดต่อกฎหมาย เป็นไปตามพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ซึ่ง พ.ร.บ.ฉบับนี้ มีการคานอำนาจไว้เรียบร้อยแล้ว ดังนั้น เจ้าหน้าที่ไม่มีทางที่จะเข้าไปกลั่นแกล้งได้ เพราะต้องมีการขออำนาจศาลในการจับกุมก่อน รวมทั้งผู้ถูกดำเนินคดี สามารถสู้คดีในชั้นศาลได้ อย่างไรก็ตาม กมธ.ยังไม่ได้พิจารณาเว็บไซต์อื่นๆ