กกต. ตั้งทีมชี้แจงคณะกรรมการกลั่นกรองกฤษฎีกา กรณีใบแดง “สรชา” ระบุเข้าแจง 4 มี.ค.นี้ ด้าน ส.ส.ปากน้ำ โต้แย้ง 4 ประเด็น ระบุ กกต.ไม่มีอำนาจ ชี้หมดระยะเวลา 30 วันตามที่กฎหมายกำหนด ส่วนการสรรหาบุคคลแทน “สุเมธ” นั้น ประธาน กกต.เห็นควรมาจากการสรรหาของวุฒิสภา
วันนี้ (3 มี.ค.) ที่สำนักงาน กกต.ศูนย์ราชการ ถ.แจ้งวัฒนะ นายสมชาติ เจศรีชัย รองเลขาธิการ กกต.ด้านกิจการบริหารกลาง แถลงว่า ที่ประชุม กกต.มีมติแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ เพื่อไปชี้แจงต่อคณะกรรมการกลั่นกรองของกฤษฎีกากรณีที่ กกต.สั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง น.ส.สรชา วีรชาติวัฒนา ผู้สมัคร ส.ส.สมุทรปราการ พรรคประชาธิปัตย์ โดยจะเข้าชี้แจงในวันที่ 4 มี.ค.นี้ เวลา 09.30 น ซึ่งคณะกรรมการชุดดังกล่าวจะดูเรื่องความชอบด้วยกฎหมาย และดูว่าการพิจารณาของ กกต.เป็นไปด้วยความเที่ยงธรรมหรือไม่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับประเด็นที่ น.ส.สรชา จะยกขึ้นมาต่อสู้ในชั้นคณะกรรมการสอบสวนประกอบด้วย 1.ผู้ที่มาร้อง คือ นายพรชัย ก่อวัฒนะมงคล นั้น เป็นผู้ได้รับมอบ อำนาจในการร้องจาก นายอรุณ กิจเลิศไพโรจน์ ผู้สมัครหมายเลข 1 จึงไม่น่าจะชอบตามกฎหมายเลือกตั้งมาตรา 114 เพราะในกฎหมายถึงขนาดห้ามมิให้ยื่นคำร้องคัดค้านแทน ดังนั้น การมอบอำนาจให้ร้องคัดค้านจึงยิ่งไม่น่าชอบด้วยกฎหมาย
ประเด็นที่ 2 น.ส.สรชา เห็นว่าคือ การตั้งคณะกรรมการโดย กกต.จังหวัด แทนที่จะเป็น ตั้งโดย กกต.กลางไม่น่าจะชอบด้วยระเบียบ กกต.ว่าด้วยการสืบสวนสอบสวน
ประเด็นที่ 3.น.ส.สรชา แย้งว่า การแจ้งข้อกล่าวหาของ กกต.จังหวัดสมุทรปราการ ไม่ครบถ้วนทุกข้อกล่าวหา เพราะไม่ได้แจ้งเรื่องการแจกเงินพร้อมนามบัตร จึงทำให้ไม่สามารถชี้แจงได้อย่างเพียงพอ และประเด็นสุดท้าย น.ส.สรชา ชี้ว่า การยื่นเสนอต่อคณะกรรมการตรวจสอบครั้งนี้น่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากขณะนี้เกินกว่า 30 วัน นับจากวันเลือกตั้ง ซึ่งช่วงนี้เป็นเวลาที่ กกต.มีอำนาจเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง โดยหากพ้นช่วงเวลาดังกล่าวก็จะเป็นอำนาจของศาลฎีกาในการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ดังนั้น กกต.จึงไม่น่ามีอำนาจอีกต่อไป
เมื่อถามถึงกรณีการสรรหา กกต.ใหม่แทน นายสุเมธ อุปนิสากร ที่ยังมีปัญหาว่าจะเป็นหน้าที่ของกรรมการสรรหา หรือที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา นายสมชาติ กล่าวว่า ที่ประชุม กกต.ไม่ได้หารือเรื่องดังกล่าว แต่ นายอภิชาต สุขัคคานนท์ ประธาน กกต.เห็นว่า ที่มาของ นายสุเมธ นั้นมาจากการสรรหาของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาที่ทำหน้าที่แทนคณะกรรมการสรรหาตามรัฐธรรมนูญ 40 แต่ขณะนี้มีการใช้รัฐธรรมนูญ 50 แม้ไม่ได้มีการบัญญัติไว้ก็น่าจะอนุมานได้ว่า ผู้ที่จะมาแทนนั้นควรมาจากคณะกรรมการสรรหา เป็นผู้เสนอชื่อให้ประธานวุฒิสภาเห็นชอบ นอกจากนี้ทราบว่าจากการที่สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาได้เชิญ กกต.ไปหารือเกี่ยวกับการสรรหา กกต.คนใหม่ในสัปดาห์ที่ผ่านมา มีแนวโน้มว่าทางสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาจะรับเป็นเจ้าภาพในการดำเนินการสรรหา เพราะแม้รัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติไว้ชัดเจนแต่ก็เคยมีประเพณีปฏิบัติเช่นนี้มาแล้ว อีกทั้งทางสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาก็มีหน่วยที่รับผิดชอบการสรรหากรรมการองค์กรอิสระอยู่แล้ว