เพื่อไทยโหมโรงศึกอภิปราย “มาร์ค-กษิต” เป้าใหญ่ สัปดาห์หน้าเปิดโฉมหน้าขุนพลฝีปากกล้าซีกฝ่ายค้าน เฉไฉเงินบริจาคพรรค ปชป.-กิ๊ก รมต.-ครอบครัวเวชชาชีวะล้วนเป้าลวง คุยโวมีหมัดเด็ดรออยู่ จ่อยื่นศาล รธน.วินิจฉัย “ปู่ชัย” เอียงร่าง พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ
วันนี้ (27 ก.พ.) นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล กล่าวถึงการอภิปรายไม่ไว้วางใจว่า หลังประชุมพรรคเพื่อไทย เมื่อวันที่ 26 ก.พ.ที่ผ่านมา มีความชัดเจนว่าจะมีการเสนอชื่อผู้ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ 4 คน ประกอบด้วย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี นายกษิต ภิรมย์ รมว.การต่างประเทศ นายกรณ์ จาติกวานิช รมว.การคลัง และนายอิสสระ สมชัย รมว.การพัฒนาสังคมฯ และอีก 3 กระทรวง ประกอบด้วย กระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงคมนาคม นอกจากนี้ อาจมีการเสนออภิปรายไม่ไว้วางใจเพิ่มเติมอีก 2 กระทรวง คือ กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงแรงงาน โดยวันที่ 3 มี.ค.นี้ ทางพรรคเพื่อไทยจะเปิดโอกาสให้ ส.ส.ของพรรคที่มีข้อมูลในการอภิปรายรัฐมนตรีคนใด ก็ขอให้ส่งรายละเอียดมาที่ตนได้ และในวันที่ 4 มี.ค.จะมีการแถลงถึงรายชื่อผู้ที่จะทำหน้าที่อภิปรายไม่ไว้วางใจ
ส่วนประเด็นเงินบริจาคพรรคประชาธิปัตย์ 250 ล้าน คิดว่าเป็นเพียงประเด็นที่มีคนเอามาพูดกันเท่านั้น คงไม่ใช่ประเด็นหลักในการอภิปรายฯ เพราะมีประเด็นที่ลึกกว่านั้น ถึงความไม่เป็นธรรมที่พรรคประชาธิปัตย์ได้ทำไว้ สำหรับที่มีข่าวว่าจะมีการนำประเด็นเกี่ยวกับภรรยาและมารดาของนายอภิสิทธิ์มาอภิปรายก็เป็นเรื่องที่มีคนเอาไปพูดกันเองเพื่อต้องการดิสเครดิตพรรคเพื่อไทยเท่านั้น เช่นเดียวประเด็นเรื่องกิ๊กของรัฐมนตรี แต่ถ้ากิ๊กของรัฐมนตรีเข้ามาเกี่ยวข้องกับการทุจริตก็คงนำเข้าสู่การอภิปราย หากเป็นเรื่องส่วนตัวคงไม่นำมาเป็นประเด็นแต่อย่างใด
นอกจากนี้ นายสุรพงษ์ยังกล่าวด้วยว่า ในวันที่ 2 มี.ค.นี้จะเดินทางไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อยื่นคำร้องกรณีที่ตนถูกนายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภา ละเมิดสิทธิการทำหน้าที่ในสภา เรื่องของร่าง พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ ที่นายชัยเป็นผู้เห็นด้วยว่าร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวเป็นกฎหมายการเงินที่ต้องส่งให้นายกฯ ดำเนินการต่อ ทั้งที่ ส.ส.ส่วนใหญ่ในสภาก็ไม่เห็นด้วย ดังนั้นจึงเห็นว่าควรมีการตั้งกรรมาธิการขึ้นมาพิจารณาก่อนส่งให้นายกฯ โดยตนจะนำการตีความของคณะกรรมการกฤษฎีการที่ตีความไว้ว่านายชัยไม่มีอำนาจในการดำเนินการเรื่องนี้ไปยื่นเป็นหลักฐานประกอบคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา
“กรณีดังกล่าวผมเห็นว่าเป็นความขัดแย้งของรัฐธรรมนูญ ซึ่งผมจะอาศัยมาตรา 212 บุคคลที่ถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพ ที่รัฐธรรมนูญนี้รับรองไว้ มีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อมีคำวินิจฉัยว่า บทบัญญัติแห่งกฎหมายขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญได้ ประกอบกับมาตรา 214 กรณีที่มีความขัดแย้งกับอำนาจหน้าที่ระหว่างรัฐสภา คณะรัฐมนตรีหรือองค์การตารมรัฐมนตรี ที่ไม่ใช่ศาลตั้งแต่ 2 องค์กรขึ้น ให้ประธานรัฐสภา นายกฯ หรือองค์กรนั้น เสนอเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย”