อมรรัตน์ ล้อถิรธร.......รายงาน
หลัง “ป.ป.ช.” มีมติ (18 ก.พ.) ฟันผู้เกี่ยวข้องกรณีกลุ่มคนรักอุดรบุกทำร้ายพันธมิตรฯ ที่อุดรธานีเมื่อปีที่แล้ว โดยผู้ที่ต้องรับผิดมี 7 คนด้วยกัน ไล่ตั้งแต่ “ผู้การฯ อุดรฯ-รองผู้การฯ อีก 2-ผู้ว่าฯ อุดรฯ-ปลัดจังหวัด” ซึ่งมีทั้งผิดวินัยร้ายแรงและไม่ร้ายแรง รวมถึงอีก 2 หัวโจก “ขวัญชัย ไพรพนา-อุทัย แสนแก้ว” ที่ปั่นหัวปลุกระดมกลุ่มคนรักอุดรให้ทำร้ายพันธมิตรฯ อย่างบ้าคลั่ง โดยถูก ป.ป.ช.ชี้มูลว่า ผิดอาญา ม.157 ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เนื่องจากนายขวัญชัยมีตำแหน่งเป็น ขรก.การเมือง ...ดูเผินๆ การชี้มูลของ ป.ป.ช.ก็น่าจะเป็นที่พอใจ แต่ในสายตาของ “เจริญ หมู่ขจรพันธ์” แกนนำพันธมิตรอุดรฯ และ “นิติธร ล้ำเหลือ” ทนายความที่ส่งเรื่องนี้ให้ ป.ป.ช.ไต่สวน กลับมีมุมมองที่เห็นต่างอย่างน่าสนใจ
คลิกที่นี่ เพื่อฟังรายงานพิเศษ
ในที่สุด กรรมก็เริ่มตามทันนายขวัญชัย สาราคำ หรือ ขวัญชัย ไพรพนา ประธานชมรมคนรักอุดร และนายอุทัย แสนแก้ว น้องชายนายธีระชัย แสนแก้ว อดีตรัฐมนตรีช่วยเกษตรฯ สมัยรัฐบาลนายสมัคร ที่ปลุกระดมให้คนรักอุดรยกพวกบุกไปทำร้ายพันธมิตรฯ อุดรที่กำลังจัดเตรียมเวทีปราศรัยต่อต้านรัฐบาลนายสมัครที่บริเวณสวนสาธารณะหนองประจักษ์ศิลปาคม จ.อุดรธานี จนมีผู้บาดเจ็บและบาดเจ็บสาหัสเกือบ 20 ราย เมื่อวันที่ 24 ก.ค.2551 โดยที่ประชุม ป.ป.ช.มีมติเมื่อวานนี้ (18 ก.พ.) ว่า นายขวัญชัย ซึ่งขณะนั้นมีตำแหน่งเป็นข้าราชการการเมืองประจำสำนักเลขาธิการนายกฯ (แต่งตั้งโดย นายสมัคร สุนทรเวช นายกฯ) มีมูลความผิดทางอาญา ฐานเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 จากกรณีที่ยุงยงส่งเสริมกลุ่มชมรมคนรักอุดรให้ใช้กำลังอาวุธบุกเข้าไปทำร้ายร่างกายและทำลายทรัพย์สินของกลุ่มพันธมิตรฯ เป็นเหตุให้มีประชาชนได้รับบาดเจ็บถึงบาดเจ็บสาหัสจำนวนมาก
ส่วน นายอุทัย แสนแก้ว ก็ถูก ป.ป.ช.ชี้มูลว่า มีความผิดเช่นกันตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ประกอบมาตรา 86 ฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดของ นายขวัญชัย ไพรพนา ป.ป.ช.จึงมีมติส่งเรื่องไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินการฟ้องนายขวัญชัยและนายอุทัย ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ.2542 มาตรา 92 และ 70
ทั้งนี้ โทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 นั้น มีตั้งแต่จำคุก 1-10 ปี ปรับ 2,000-20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
นอกจาก นายขวัญชัย และ นายอุทัยแล้ว ยังมีข้าราชการระดับสูงของกระทรวงมหาดไทย และตำรวจชั้นผู้ใหญ่ ถูก ป.ป.ช.ชี้มูลว่ามีความผิดทางวินัยด้วยจากกรณีปล่อยปละละเลยให้เกิดเหตุการณ์ทำร้ายประชาชนขึ้น โดย ป.ป.ช.ระบุว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 20 ก.ค.2551 กลุ่มชมรมคนรักอุดรได้กระจายข่าวว่า จะจัดชุมนุมในวันที่ 24-25 ก.ค.ที่บริเวณทุ่งศรีเมือง ขณะที่กลุ่มพันธมิตรฯ จ.อุดรธานี ได้แถลงข่าวว่าจะจัดชุมนุมเช่นกัน โดยทำหนังสือถึงจังหวัดอุดรฯ ขอใช้สวนสาธารณะหนองประจักษ์เป็นสถานที่จัดชุมนุมเมื่อวันที่ 24 ก.ค.
ด้านนายสุพจน์ เลาวัณย์ศิริผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี ได้ประชุมส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยการชุมนุมของทั้ง 2 กลุ่มโดยมอบหมายให้ พล.ต.ต.เพิ่มศักดิ์ ภราดรศักดิ์ ในฐานะผู้บังคับการตำรวจภูธร จ.อุดรธานี เป็นผู้ควบคุมบังคับบัญชาการปฏิบัติการทั้งหมด และให้ นายยุทธนา วิริยะกิตติ ปลัดจังหวัดอุดรธานี และนายอำเภอเมืองอุดรธานี เป็นผู้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งจัดกำลังสมาชิก อส.และ อปพร.สนับสนุนเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดย นายสุพจน์ ให้นโยบายเด็ดขาดว่า ป้องกันมิให้กลุ่มผู้ชุมนุมแต่ละกลุ่มทำร้ายกัน ด้าน พล.ต.ต.เพิ่มศักดิ์ ได้ประชุมเจ้าหน้าที่ตำรวจ และมอบหมายให้ พ.ต.อ.ภัทราวุธ เอื้อมศศิธร และ พ.ต.อ.บุญลือ กอบางยาง รองผู้บังคับการตำรวจภูธร จ.อุดรธานี เป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ส่วนหน้าในการรักษาความสงบเรียบร้อยของการชุมนุม
เมื่อถึงวันที่ทั้ง 2 กลุ่มชุมนุม 24 ก.ค.กลุ่มชมรมคนรักอุดร โดยการนำของ นายขวัญชัย ไพรพนา ได้จัดเวทีปราศรัยที่ทุ่งศรีเมือง พร้อมถ่ายทอดออกอากาศผ่านวิทยุชุมชนของชมรมฯ ด้วย โดย นายขวัญชัย ได้ปลุกระดมให้ประชาชนคนรักอุดรมารวมกันที่ทุ่งศรีเมือง เพื่อขับไล่กลุ่มพันธมิตรฯ จากนั้นเวลาประมาณ 15.00 น.นายขวัญชัย และ นายอุทัย แสนแก้ว แกนนำคนรักอุดรฯ ก็ได้ปลุกระดมให้กลุ่มคนรักอุดรเคลื่อนขบวนจากทุ่งศรีเมือง ไปยังสวนสาธารณะหนองประจักษ์ เพื่อขับไล่และขัดขวางการเปิดเวทีของกลุ่มพันธมิตรฯ โดยกลุ่มคนรักอุดรพร้อมอาวุธ เช่น ท่อนไม้ ฯลฯ ได้ฝ่าแนวป้องกันของตำรวจและเจ้าหน้าที่จังหวัด เข้าไปทำร้ายกลุ่มพันธมิตรฯ ภายในบริเวณสวนสาธารณะหนองประจักษ์ จนมีผู้บาดเจ็บถึงบาดเจ็บสาหัสจำนวนมาก ไม่เท่านั้นกลุ่มคนรักอุดรยังทำลายเวทีและทรัพย์สินของกลุ่มพันธมิตรฯ ด้วย ก่อนที่จะเคลื่อนกลับไปที่ทุ่งศรีเมืองเหมือนเดิม
ทั้งนี้ จากการไต่สวนของ ป.ป.ช.พบว่า ระหว่างเกิดเหตุกลุ่มคนรักอุดรบุกทำร้ายกลุ่มพันธมิตรฯ นั้น นายสุพจน์ เลาวัณย์ศิริ ผู้ว่าฯ อุดรธานี และ นายยุทธนา วิริยะกิตติ ปลัด จ.อุดรฯ ได้รับรายงานเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยตลอด แต่ไม่ได้เดินทางไปยังสถานที่เกิดเหตุเพื่อควบคุมดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยในการชุมนุม หรือดำเนินการใดใดเพื่อป้องกันและระงับเหตุการณ์ดังกล่าว
ขณะที่ พ.ต.อ.ภัทราวุธ เอื้อมศศิธร รองผู้การฯ อุดรธานี ไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเข้มแข็ง จริงจัง ปล่อยให้กลุ่มคนรักอุดรบุกเข้าไปภายในสวนสาธารณะหนองประจักษ์อย่างง่ายดาย ส่วน พ.ต.อ.บุญลือ กอบางยาง รองผู้การฯ อุดรธานี ก็อ้างว่า ไปปฏิบัติหน้าที่ที่อื่นที่ได้รับมอบหมายก่อนหน้านี้ ทั้งๆ ที่ควรจะทราบดีว่าสถานการณ์การชุมนุมของประชาชนกรณีนี้มีความสำคัญยิ่งกว่า แต่ก็มิได้ดำเนินการหรือสั่งการใดใดเพื่อป้องกันขัดขวางมิให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้น ป.ป.ช.จึงมีมติชี้มูลว่า นายสุพจน์ ในฐานะผู้ว่าฯ อุดรธานี ,นายยุทธนา ปลัดจังหวัดฯ รวมทั้ง พ.ต.อ.ภัทราวุธ และ พ.ต.อ.บุญลือ มีความผิดวินัยไม่ร้ายแรง ฐานไม่ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ราชการ และประมาทเลินเล่อในหน้าที่ราชการ
ส่วน พล.ต.ต.เพิ่มศักดิ์ ภราดรศักดิ์ ผู้บังคับการตำรวจภูธร จ.อุดรธานี นั้น ป.ป.ช.ชี้มูลว่ามีความผิดวินัยอย่างร้ายแรง เนื่องจากได้รับมอบหมายจากผู้ว่าฯ อุดรธานี ให้เป็นผู้ควบคุมบังคับบัญชาการปฏิบัติการทั้งหมด แต่กลับไม่ได้ใส่ใจที่จะติดตามดูแลควบคุมการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ และกลุ่มคนรักอุดร เป็นเหตุให้เกิดเหตุการณ์ทำร้ายประชาชนจนได้รับอันตรายแก่กายและบาดเจ็บสาหัส รวมทั้งทรัพย์สินได้รับความเสียหาย ป.ป.ช.พิจารณาแล้วเห็นว่า การกระทำของ พล.ต.ต.เพิ่มศักดิ์ มีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ฐานละทิ้ง หรือทอดทิ้งหน้าที่ราชการ และกระทำหรือละเว้นการกระทำใดใด อันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง จึงมีมติให้ส่งรายงาน เอกสาร และความเห็นไปยังผู้บังคับบัญชา เพื่อพิจารณาโทษทางวินัยแก่บุคคลทั้ง 5 ต่อไป คือ พล.ต.ต.เพิ่มศักดิ์, นายสุพจน์, นายยุทธนา, พ.ต.อ.ภัทราวุธ และ พ.ต.อ.บุญลือ
ได้ทราบผลการชี้มูลความผิดของ ป.ป.ช.ต่อผู้ที่เกี่ยวข้องกับกรณีกลุ่มคนรักอุดรบุกทำร้ายกลุ่มพันธมิตรฯ ที่อุดรธานี เมื่อวันที่ 24 ก.ค.2551 แล้ว ลองไปฟังความรู้สึกของแกนนำพันธมิตรฯ อุดรธานี ว่า จะพอใจการชี้มูลของ ป.ป.ช.หรือไม่ รวมถึงมุมมองของทนายความที่ช่วยเหลือพันธมิตรฯ อุดรฯ ในแง่คดีต่างๆ รวมทั้งเป็นผู้ที่ยื่นเรื่องให้ ป.ป.ช.ไต่สวนเหตุการณ์ทำร้ายพันธมิตรฯ ที่อุดรฯ เพื่อเอาผิดผู้เกี่ยวข้อง ว่าจะรู้สึกอย่างไรกับผลการชี้มูลของ ป.ป.ช.
นายนิติธร ล้ำเหลือ กรรมการสิทธิมนุษยชน สภาทนายความ ซึ่งเป็นผู้ยื่นเรื่องให้ ป.ป.ช.ไต่สวนกรณีกลุ่มคนรักอุดรบุกทำร้ายกลุ่มพันธมิตรฯ ที่อุดรธานี ให้สัมภาษณ์วิทยุ ASTVผู้จัดการ ถึงผลการชี้มูลของ ป.ป.ช.ว่า โดยรวมแล้วถือว่า ป.ป.ช.ได้ทำหน้าที่อย่างเต็มที่ และอยู่ในความคาดหมายว่าจะมีการชี้มูลความผิด แต่ในฐานะที่ตนเป็นผู้ยื่นเรื่องนี้ให้ ป.ป.ช.ไต่สวน และได้เห็นพยานหลักฐานต่างๆ คิดว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสะท้อนว่า ผู้ว่าฯ อุดรธานีเพิกเฉย ไม่นำพาต่อการแก้ไขสถานการณ์ จึงควรเข้าข่ายผิดวินัยร้ายแรงเช่นเดียวกับผู้การฯ อุดรธานี
“ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น มันเป็นปรากฏการณ์ที่รับรู้รับทราบกันโดยตลอด ในขณะเดียวกันก็มีกลุ่มบุคคล ซึ่งแสดงออกซึ่งความรุนแรง ที่จะใช้ความรุนแรงด้วยการสื่อสาร ด้วยภาษา โดยการกระทำ โดยลักษณะของการเคลื่อนตัวอะไรต่างๆ มันชัดเจนอยู่แล้ว ในจังหวัดก็ถือว่าผู้ว่าฯ เป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุด ฉะนั้น การสั่งการ การกำกับดูแล การไปดูสถานการณ์ด้วยตนเอง การใช้ดุลพินิจในการอะไรต่างๆ ผมคิดว่าผู้ว่าฯ เนี่ยเป็นกลไกที่สำคัญ ดังนั้น ผู้ว่าฯ เองก็มีหน้าที่เฉกเช่นเดียวกับตำรวจ แม้จะไม่ใช่หน้าที่โดยตรงนะ แต่ก็มีหน้าที่เฉกเช่นเดียวกัน ในขณะเดียวกันผู้ว่าฯ ก็ถือเป็นผู้บังคับบัญชาของผู้การฯ จังหวัด ฉะนั้น การที่ไม่ผิดร้ายแรง ผมไม่แน่ใจ เพราะเท่าที่ทราบตอนนั้น (ผู้ว่าฯ) ก็อยู่ในพื้นที่นะ ในขณะเดียวกัน ผู้ว่าฯ เองจะต้องพิจารณาลึกลงไปถึงว่าความรู้สึกอคติต่อเหตุการณ์นี้หรือเปล่า มันมีตัวบ่งชี้หรือเปล่า ฉะนั้นถ้าบอกไม่ร้ายแรง ผมเองยังไม่เห็นเหตุผลของ ป.ป.ช.แต่ผมรู้สึกว่าน่าจะต้องร้ายแรงเหมือนกัน”
“คือ เหตุการณ์ดังกล่าวมันเป็นเหตุการณ์ที่ทุกคนที่มีหน้าที่รับผิดชอบกำกับดูแลควบคุมเล็งเห็นผลได้ คือเล็งเห็นผลได้อยู่แล้วว่า จะเกิดอะไรขึ้น ...มันเล็งเห็นผลได้จากปฏิกิริยาของกลุ่มของ คุณขวัญชัย ที่เคลื่อนตัว ลักษณะการเคลื่อนตัว การไฮด์ปาร์ก การป่าวประกาศทั้งวิทยุ ทั้งรถที่วิ่ง ลักษณะอารมณ์ของผู้คน ถ้าบอกว่า ได้รับรายงานตลอดแล้วยังเพิกเฉยหรือนั่งอยู่อย่างนั้นเนี่ย ผมคิดว่ามันไม่นำพาต่อการแก้ไขเหตุการณ์น่ะ และผมคิดว่าถ้าคนระดับนี้เนี่ยมาอยู่ในเหตุการณ์เสียเอง ผมคิดว่าการแก้ไขสถานการณ์น่าจะดีขึ้น การปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการชั้นผู้น้อยก็น่าจะเข้มแข็งขึ้น ปัญหาก็คือมันมีตัวอย่างไง ถ้าสั่งการแบบเข้มเข็ง ลูกน้องก็ปฏิบัติอย่างเข้มแข็ง ถ้าสั่งการแบบอ่อนแอ ก็ปฏิบัติการแบบละเลย เทียบกับเหตุการณ์ 7 ต.ค.นะ 7 ต.ค.เนี่ยที่เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าใช้วิธีการรุนแรง ก็คือ อนุมานได้เลยว่ามีการสั่งการแบบเข้มแข็ง อาจเป็นผลร้ายกับประชาชน อันนี้ก็คือคุณสั่งการแบบอ่อนแอและเกิดผลร้ายกับประชาชน”
ส่วนกรณีที่ นายขวัญชัย ไพรพนา ประธานชมรมคนรักอุดร (ซึ่งปลุกระดมให้คนรักอุดรเคลื่อนจากทุ่งศรีเมืองบุกไปทำร้ายกลุ่มพันธมิตรฯ ที่สวนสาธารณะหนองประจักษ์) ไม่พอใจที่ตนถูก ป.ป.ช.ชี้มูลว่าเข้าข่ายผิดอาญามาตรา 157 โดยยืนยันว่า วันนั้นตนไม่ได้ไปหนองประจักษ์ฯ และว่า ตนเชื่อว่า การชี้มูลของ ป.ป.ช.เป็นการดำเนินการตามที่ คมช.สั่งการไว้ พร้อมสงสัยว่า การชี้มูลแบบนี้อาจเกี่ยวข้องกับการที่ตนเปลี่ยนใจจะนำคนรักอุดรฯ มาชุมนุมกับ นปช.ที่ กทม.ในวันที่ 24 ก.พ.นี้นั้น นายนิติธร มองคำพูดของนายขวัญชัย ดังกล่าวว่า แม้ นายขวัญชัย จะมีสิทธิ์โต้แย้งหรือเห็นต่างกับ ป.ป.ช.เกี่ยวกับการชี้มูล แต่คำพูดของ นายขวัญชัย อาจเข้าข่ายใส่ร้าย หรือทำลายความน่าเชื่อถือของ ป.ป.ช.ได้ ป.ป.ช.จึงน่าจะดำเนินคดีนายขวัญชัยให้เป็นกรณีตัวอย่าง
“ผมคิดว่า ป.ป.ช.เขาจะต้องทำงานบนพื้นฐานของความรับผิดชอบ บนภาระหน้าที่ ยึดถือหลักการหลักกฎหมายเป็นตัวบ่งชี้ ในขณะเดียวกัน หากไม่มีพยานหลักฐาน ป.ป.ช.ไม่มีทางชี้ได้ และพยานหลักฐานที่เกิดขึ้นนั้น ก็เป็นพยานหลักฐานที่ฝ่ายผู้กระทำหรือผู้ถูกกระทำล้วนแล้วแต่มีส่วนในพยานหลักฐานทั้งนั้น ฉะนั้น สิ่งที่คุณขวัญชัยพูดนั้น จะต้องไปจัดการกับพยานหลักฐานของตัวเองก่อนเบื้องต้น จะต้องกลับไปดูก่อนว่าคุณมีพยานหลักฐานหรือเปล่า ในขณะเดียวกันการพูดแบบนี้เนี่ย ป.ป.ช.ก็ต้องติดตามดำเนินการต่อว่า การพูดแบบนี้มันเข้าลักษณะของเชิงหมิ่นประมาทหรือเปล่า เป็นการดูหมิ่นหรือเปล่า เป็นการให้ร้ายกับองค์กรที่ทำหน้าที่ตรวจสอบหรือเปล่า มีผลกระทบต่อกระบวนการยุติธรรมหรือเปล่า อันนี้ต้องดำเนินคดีอย่างต่อเนื่อง คือ ส่วนหนึ่งเป็นสิทธิของเขาที่เขาจะโต้แย้ง แต่มันก็มีกรอบของมันอยู่ เช่น ถ้าจะบอกว่าไม่ยุติธรรม อันนี้โอเคพอฟังได้ อาจจะรู้สึกว่าความเห็นไม่ตรงกัน แต่ถ้าบอกว่า มีส่วนโยงใยกับองค์กรนั้นองค์กรนี้ ไปโยงใยกับส่วนต่างๆ อันนั้นต้องรับผิดชอบ เพราะฉะนั้น ป.ป.ช.ผมคิดว่าลักษณะแบบนี้ ก็ต้องดำเนินคดีกันให้เป็นตัวอย่าง”
ด้านนายเจริญ หมู่ขจรพันธ์ แกนนำพันธมิตรฯ จ.อุดรธานี เผยว่า ส่วนตัวแล้วรู้สึกพอใจผลการชี้มูลของ ป.ป.ช.ในระดับหนึ่ง คือ พอใจที่ชี้มูลว่า ผู้การฯ อุดรธานี ผิดวินัยร้ายแรง ส่วนผู้ว่าฯ อุดรธานี ผิดวินัยไม่ร้ายแรง แต่ส่วนที่ยังไม่ค่อยพอใจ คือ การชี้มูล นายขวัญชัย ไพรพนา และ นายอุทัย แสนแก้ว ที่ต้องส่งไปศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพราะไม่ค่อยแน่ใจว่า การดำเนินคดีนายขวัญชัย และ นายอุทัย ในฐานะข้าราชการการเมือง จะทำให้ทั้งสองคนนี้ได้รับโทษอย่างสาสมกับความผิดที่ได้กระทำไว้หรือไม่ เพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 24 ก.ค.2551 ชัดเจนว่า นายขวัญชัย และ นายอุทัย กับพวกพยายามฆ่าพันธมิตรฯ ไม่ใช่ปฏิบัติหน้าที่ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157
“จริงๆ แล้ว เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมันชัดเจนเลยว่า 2 คนนี้เป็นคนที่บงการให้ พยายามที่จะในลักษณะเข่นฆ่าพวกเราเลย ไม่ใช่แค่ทำร้ายร่างกาย ทำลายทรัพย์สิน เพราะจากพยานหลายๆ อย่าง ที่เขาพูดทางวิทยุบ้าง ที่เขาปลุกระดมที่เวทีบ้าง มันชัดเจนน่ะว่า เขาเสี้ยมให้ลูกน้องเขาเนี่ยเกิดอารมณ์ร่วมในการที่จะต้องทำลายล้างในลักษณะเข่นฆ่ากัน (ถาม-จนถึงวันนี้ คุณขวัญชัย ยังบอกว่า วันนั้นไม่ได้ไปหนองประจักษ์เลย เพราะฉะนั้นการดำเนินการของ ป.ป.ช.ต้องเป็นไปตามความต้องการของ คมช.แน่เลย และอาจจะเป็นเพราะว่าตัวเองกำลังจะนำคนรักอุดรฯ ไปร่วมชุมนุมกับ นปช.ในวันที่ 24 ก.พ.นี้ ตรงนี้ฟังแล้วรู้สึกยังไง?) อันนั้นก็แล้วแต่แกจะพูด คนๆ นี้พูดขาวเป็นดำ ดำเป็นขาวได้หน้าตาเฉยมาก คนอุดรจะรู้จักเขาดี คนๆ นี้เป็นคนที่เรียกว่า พูดจาอะไรเชื่อถือไม่ได้เลย ในเรื่องที่เขาจะปฏิเสธหรืออะไรก็แล้วแต่เนี่ย เขาคงจะต้องปฏิเสธอยู่แล้วว่าเขาไม่ได้ไปที่หนองประจักษ์ แต่ไปหรือไม่ไปมันไม่ใช่ประเด็น ประเด็นมันอยู่ที่ว่าประจักษ์พยานและอะไรต่างๆ ที่มันปรากฏในวันนั้นมันชัดเจนว่าเขาอยู่ที่ทุ่งศรีเมืองเนี่ย การปลุกระดมของเขา หรือพฤติกรรมของเขาที่ผ่านมาตลอดเวลาทั้งหมดที่เขากระทำต่อผมและพันธมิตรฯ ที่อุดรฯ เนี่ย มันเป็นสิ่งที่คนอุดรฯ ที่เขาได้รับรู้ข้อมูลเหล่านี้มา เขารู้ข้อมูลกันหมดน่ะว่า ตัวการจริงๆ ก็คือไอ้ขวัญชัยนี่แหละ”
แม้ นายเจริญ ในฐานะแกนนำพันธมิตรฯ อุดรธานี จะไม่แน่ใจและไม่อยากหวังว่า การชี้มูลของ ป.ป.ช.ที่จะส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดส่งฟ้องนายขวัญชัยและนายอุทัยให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จะสามารถทำให้บุคคลทั้งสองได้รับโทษอย่างสาสมหรือไม่ แต่นายเจริญ ก็ยังหวังว่า การที่ตนและพันธมิตรฯ อุดรฯ ที่ถูกกลุ่มคนรักอุดรฯ ทำร้าย ได้ฟ้องต่อศาล จ.อุดรฯ ให้ดำเนินคดีนายขวัญชัยและนายอุทัยกับพวก ฐานพยายามฆ่านั้น น่าจะทำให้หัวโจกที่ปลุกระดมให้คนทำร้ายพันธมิตรฯ ที่อุดรทั้งสองคนนี้ ต้องได้รับโทษอย่างสาสม
ส่วนกรณีที่ตนเห็นด้วยกับที่ ป.ป.ช.ชี้มูลว่า นายสุพจน์ เลาวัณย์ศิริ ผู้ว่าฯ อุดรธานี ผิดวินัยไม่ร้ายแรงนั้น นายเจริญ ให้เหตุผลว่า เพราะตนค่อนข้างเห็นใจ นายสุพจน์ เนื่องจากได้รับทราบมาว่า ก่อนเกิดเหตุการณ์กลุ่มคนรักอุดรบุกทำร้ายพันธมิตรฯ อุดรฯ 1 วัน (23 ก.ค.2551) มีรัฐมนตรีคนหนึ่งในรัฐบาลนายสมัคร โทรศัพท์ข่มขู่ไปยังนายสุพจน์ ว่า “อยู่เฉยๆ อย่ายุ่ง วันที่ 24 ก.ค.ถ้ามีอะไรเกิดขึ้น อย่ายุ่ง” ดังนั้น คำขู่ดังกล่าวน่าจะเป็นสาเหตุว่า ทำไมนายสุพจน์ ถึงไม่ออกมาที่สวนสาธารณะหนองประจักษ์ ทั้งๆ ที่รู้ว่ากำลังเกิดเหตุกลุ่มคนรักอุดร บุกทำร้ายพันธมิตรฯ ซึ่งหากต้องการสกัดหรือป้องกันเหตุการณ์ดังกล่าว ก็สามารถทำได้ เนื่องจากการเดินเท้าจากทุ่งศรีเมือง มายังสวนสาธารณะหนองประจักษ์ฯ นั้น อย่างน้อยต้องใช้เวลาเป็นชั่วโมง ดังนั้น ถ้าไม่มีคำขู่ของรัฐมนตรีไปยังผู้ว่าฯ พันธมิตรฯ อุดรฯ ก็คงไม่ถูกกลุ่มคนรักอุดรทำร้ายขนาดนี้!!