xs
xsm
sm
md
lg

เปิดร่าง พ.ร.บ.นิรโทษซากศพ เด็ก พท.อ้างให้โอกาสมือดีมาช่วยแก้ ศก.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายนิคม เชาว์กิตติโสภณ ทีมทนายความของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
“เพื่อแม้ว” อ้างเพื่อความสามัคคี และให้มีมือดีมาแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ต้องออก กม.นิรโทษกรรมให้ อดีต กก.บห.พรรคการเมืองที่ถูกยุบที่มีฝีมือดีมาช่วยแก้ รีบออกตัวนายใหญ่ไม่ได้ประโยชน์ เหตุยังติดโทษคดีที่ดินรัชดาฯ เผยชื่อ พ.ร.บ.ยาวเหยียดให้อดีตกรรมการบริหารพรรคการเมืองที่ถูกยุบ ที่ไม่ได้เป็นตัวการทำผิดพ้นโทษตัดสิทธิทางการเมือง

นายนิคม เชาว์กิตติโสภณ ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย และทีมทนายความ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นักโทษหนีคดี ให้สัมภาษณ์ถึงความพยายามของพรรคเพื่อไทยที่จะออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมให้แก่ผู้ที่ถูกดำเนินคดีตั้งแต่หลังการรัฐประหาร 19 ก.ย.49 ว่า เป็นเพราะปัญหาของประเทศที่ประสบในปัจจุบันทั้งปัญหาด้านการเงิน ปัญหาคนในชาติเกิดความแตกแยกทางการเมืองอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน มีการแบ่งสีแบ่งฝ่ายทางการเมืองชัดเจน รวมทั้งปัญหาทางเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากต่างประเทศและมีแนวโน้มจะรุนแรงมากขึ้น ในช่วงกลางเดือน พ.ค.นี้ ซึ่งปัญหาเหล่านี้เป็นปัญหาของประเทศที่แก้ไม่ตก จำเป็นต้องให้เกิดความสามัคคีของคนในประเทศ จึงจำเป็นต้องมีร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว

นายนิคม กล่าวอีกว่า แม้จะมีร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวออกมาแล้ว แต่เราก็ยังเคารพคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ แต่ไม่เห็นด้วยที่ศาลวินิจฉัยให้กรรมการบริหารพรรคคนอื่นที่ไม่ได้กระทำความผิดโดยตรงต้องมารับผิดชอบถูกลงโทษด้วยหลังศาลตัดสินให้ยุบพรรค เพราะศาลใช้คำว่า “เชื่อว่าเขารู้เห็น” เพราะโดยข้อเท็จจริงแล้วกรรมการบริหารพรรคไม่ได้มีส่วนรู้เห็น

“บุคคลที่ถูกเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้งเป็นบุคคลที่มีความสามารถ เป็นมนุษย์พันธุ์พิเศษแต่ถูกกำจัดไป คนเหล่านี้สามารถสร้างความสามัคคีคนในชาติได้ มีความสามารถกอบกู้เศรษฐกิจได้ เพราะมี Connection (สายสัมพันธ์) กับต่างประเทศ ดึงนักลงทุนมาได้ ช่วยประเทศได้ในภาวะที่ประเทศเกิดวิกฤต เพราะฉะนั้นคนเหล่านี้ควรได้รับสิทธิกลับคืนมาทั้งหมด” นายนิคม กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า มีการมองว่าคนที่ได้ประโยชน์จาก พ.ร.บ.ดังกล่าวมากที่สุดคือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี นายนิคม กล่าวว่า ประโยชน์ที่ท่านได้ถือว่าเล็กน้อย ตรงนี้ไม่ใช่เรื่องสำคัญ เพราะท่านโดนหนักกว่านี้ และถึงได้รับสิทธิ์นี้ท่านก็ยังเข้าประเทศไม่ได้เพราะมีคดีที่ดินรัชดา ที่ศาลตัดสินจำคุก 2 ปีไปแล้ว แต่ท่านไม่ยอมรับเพราะเป็นกระบวนการยุติธรรมที่ถูกตัดสินในภาวะไม่ปกติ

เปิด ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับรายละเอียดของ “ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่บุคคลที่เชื่อได้ว่ามีส่วนร่วมรู้เห็นหรือปล่อยปละละเลยหรือมิได้ยับยั้งแก้ไขการกระทำอันเป็นความผิดต่อการให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครอง โดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปในทางวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญและเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐเป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบประชาธิปไตย และความสงบสุขเรียบร้อยของประชาชนเป็นการขัดต่อการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ….” ซึ่งนายนิคมมีส่วนร่วมในการร่างขึ้นมาด้วยนั้น มีทั้งหมด 5 มาตรา โดยมีหลักการว่า ให้กฎหมายดังกล่าวนิรโทษกรรมแก่บุคคลที่เชื่อได้ว่ามีส่วนร่วมรู้เห็นหรือปล่อยปละละเลยหรือมิได้ยับยั้งแก้ไขการกระทำอันเป็นความผิดต่อการให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครอง โดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปในทางวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญและเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐเป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบประชาธิปไตย และความสงบสุขเรียบร้อยของประชาชนเป็นการขัดต่อการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง

เหตุผลในการเสนอนั้น เนื่องจากมีกลุ่มบุคคลซึ่งเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมืองได้เป็นผู้กระทำความผิดตามคำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญ โดยเชื่อว่าได้รู้เห็นปล่อยปละละเลยมิได้ยับยั้งกระทำความผิด และศาลพิพากษาให้ยุบพรรคการเมือง ประกอบด้วย พรรคไทยรักไทย พรรคพัฒนาชาติไทย พรรคแผ่นดินไทย และต่อมายังมีการพิพากษาให้ยุบพรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย และพรรคมัชฌิมาธิปไตย แต่เมื่อได้คำนึงถึงการบริหารพรรคการเมืองในประเทศไทยทั้งหลายแล้ว ต่างมีพื้นฐานการบริหารที่ส่งเสริมการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ประกอบกับเพื่อให้เหตุการณ์ทางการเมืองในประเทศเกิดความสงบและก่อให้เกิดความสามัคคีของคนในชาติโดยเร็ว จึงสมควรให้มีการนิรโทษกรรมแก่บุคคลที่ไม่เป็นผู้กระทำความผิดโดยตรงในฐานะตัวการ

สำหรับมาตราที่สำคัญนั้น มีการบัญญัติไว้ในมาตรา 3 ว่า บรรดาการกระทำของบุคคลใดที่เป็นกรรมการบริหารพรรคการเมืองซึ่งได้กระทำก่อนวันที่ 2 ธ.ค.51 หากการกระทำมิได้กระทำในฐานะตัวการแต่อาจถูกเชื่อหรือเชื่อได้ว่าได้รู้เห็น ละเลย ไม่ได้ยับยั้งแก้ไข ให้การกระทำนั้นไม่มีความผิด และให้ผู้ที่กระทำการนั้นพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิด และถ้าได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษแล้วก็ให้ถือว่าผู้นั้นไม่ได้ต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิด ถ้าผู้นั้นรับโทษอยู่ก็ให้การลงโทษนั้นสิ้นสุดลง
กำลังโหลดความคิดเห็น