xs
xsm
sm
md
lg

“เพื่อแม้ว” ไล่บี้ “บุญจง” ยื่น กกต.สอบแจกเงิน พ่วงระดมสมาชิกพรรค

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บุญจง วงศ์ไตรรัตน์
มท.2 เจอรุกหนัก เพื่อไทยยื่น กกต.สอบเพิ่มประเด็นแจกเงินจูงใจแนบในสมัครระดมสมาชิกพรรคภูมิใจไทย ด้าน “ประพันธ์” เผยหากตั้งอนุฯ สอบแล้วน่าจะใช้เวลา 30 วัน ขณะที่ “สมชัย” อ้างไม่ใช่อำนาจ กกต. แถมมองการกระทำไม่ผิด กม. แค่ขัดจริยธรรม

วันนี้ ( 29 ม.ค.) นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย และนายคารม พลทะกลาง คณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย เข้ายื่นหนังสือร้องต่อ กกต.เพื่อให้ตรวจสอบการทำหน้าที่ของนายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ รมช.มหาดไทย เข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 266 รวมทั้ง พ.ร.บ.พรรคการเมือง มาตรา 22 และพ.ร.บ.เลือกตั้ง ส.ส.และ การได้มาซึ่ง ส.ว. พ.ศ.2550 หรือไม่ โดยนำหลักฐานเป็นสำเนาภาพถ่ายหนังสือพิมพ์การแจกเงินสงเคราะห์คนยากไร้และนามบัตร รวมทั้งเป็นซีดีการปราศรัยเป็นมามอบให้

นายพร้อมพงศ์ กล่าวว่า การกระทำดังกล่าวของนายบุญจงถือเป็นการแจกเงินตามประชานิยมแบบอภิสิทธิ์ที่เริ่มเป็นครั้งแรก โดยมีการนำงบหลวงแนบนามบัตรไปแจกจ่ายให้กับประชาชนถึงบ้าน อย่างไรก็ตาม หากกรณีดังกล่าวไม่ถือเป็นการกระทำผิดก็จะเป็นบรรทัดฐานให้นักการเมืองสามารถแจกเงินให้กับประชาชนได้ในภายหลัง

“ผมมั่นใจว่าหลักฐานที่มีอยู่สามารถเอาผิดนายบุญจงได้ เพราะมีหลักฐานเป็นภาพถ่ายที่บันทึกขั้นตอนไว้ทั้งหมด ซึ่งการกระทำดังกล่าวดูที่เจตนาก็พอแล้วว่านโยบายประชานิยมแบบอภิสิทธิ์เป็นเช่นไร ซึ่งทางนักการกฎหมายต้องพิจารณาตรงไปตรงมา อย่าอ้างว่าเป็นศรีธนญชัย และในวันที่ 30 ม.ค.นี้ ผมจะนำหลักฐานมามอบเพิ่มเติมให้กับ กกต.และป.ป.ช. หลังจากได้ลงพื้นที่ใน จ.นครราชสีมา โดยหลังจากนี้จะมีการนำพยานบุคคลที่เป็นชาวบ้านในพื้นที่ที่ได้รับในสมัครเป็นสมาชิกพรรค การให้ปากคำเพิ่มเติม” นายพร้อมพงศ์กล่าว

ด้าน นายคารม กล่าวว่า การยื่นเรื่องต่อ กกต.นั้นมีประเด็นเพิ่มเติมจากที่ทางพรรคเพื่อไทยเคยยื่นต่อ ป.ป.ช. คือให้มีการตรวจสอบตามมาตรา 22 ของ พ.ร.บ.พรรคการเมือง เพราะทราบจากชาวบ้านว่าขณะที่นายบุญจงแจกเบี้ยยังชีพแนบนามบัตรนั้น ได้มีการแนบใบสมัครพรรคภูมิใจไทยไปด้วย ดังนั้นจึงต้องการให้ กกต.ตรวจสอบว่าพฤติกรรมของนายบุญจงเป็นการกระทำเข้าข่ายกฎหมายมาตราดังกล่าวหรือไม่ ที่ห้ามไม่ให้พรรคการเมืองหรือผู้ใดเสนอให้หรือสัญญาว่าจะให้เงิน ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้ ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม เพื่อจูงใจให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดสมัครเข้ามาเป็นสมาชิกของพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง ซึ่งหากฝ่าฝืนจะมีโทษตามมาตรา 109 ที่มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

“พรรคภูมิใจไทยเพิ่งถูกจัดตั้งขึ้นในเดือน พ.ย. และเปิดตัวในเดือน ม.ค. ซึ่งตาม พ.ร.บ.พรรคการเมือง มาตรา 26 ระบุว่า ภายในระยะเวลา 1 ปี พรรคการเมืองนั้นต้องสมัครสมาชิกให้ได้ 5,000 คน การกระทำของนายบุญจงที่ให้ทรัพย์สินจูงใจให้สมัครเป็นสมาชิกนั้น ถือว่าอยู่ในลักษณะการระดมสมาชิกพรรค ซึ่งผิดตามกฎหมายมาตรา 22 และ พ.ร.บ.เลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว.อย่างชัดเจน และการแจกเงินในช่วงยังไม่มีพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้ง ผมถึงผมไม่รู้ว่าทำได้หรือไม่ แต่ถ้าทำได้ทุกพรรคก็อาจจะทำตาม จึงอยากให้ กกต.พิจารณาตาม พ.ร.บ.พรรคการเมืองและพ.ร.บ.เลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว.ว่านโยบายประชานิยมดังกล่าวสามารถกระทำได้หรือไม่” นายคารมกล่าว

ส่วนที่ทางกลุ่มเพื่อนเนวินยกรัฐธรรมนูญมาตรา 268 ที่ระบุว่า เป็นหน้าที่ของรัฐมนตรีที่สามารถทำได้ ขึ้นต่อสู้ นายคารม กล่าวว่า เพราะรู้ว่านายบุญจงต้องยกมาตรา 268 ของรัฐธรรมนูญขึ้นมาสู้ จึงต้องยื่นเรื่องให้ กกต.ตรวจสอบมาตรา 22 เพิ่มเติม เพราะถ้าการกระทำผิดจริงก็ถูกจำคุกและนายบุญจงก็ต้องหลุดจากการเป็น ส.ส.และรัฐมนตรี อีกทั้งนายเรืองไกรก็ไม่ได้ยื่นเรื่องในมาตรานี้เข้ามาประกอบการพิจารณาด้วย

ด้าน นายประพันธ์ นัยโกวิท กกต.ด้านบริหารงานเลือกตั้ง กล่าวถึงการตรวจสอบกรณีนี้ว่า เมื่อวันที่ 28 ม.ค.ทางสำนักเลขานุการ กกต.ได้รับหนังสือร้องเรียนจากนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ส.ว.สรรหา ซึ่ง กกต.อาจมีการนำเรื่องนี้ และเรื่องที่นายพร้อมพงศ์ร้องมาพิจารณารวมกัน โดยหลังจากนี้ต้องมีการตรวจสอบว่าการกระทำดังกล่าวจะเข้าข่ายความผิดกฎหมายและหน้าที่ของ กกต.หรือไม่

“กกต.ไม่รู้สึกหนักใจกับการเข้ามาดำเนินการในเรื่องนี้ ซึ่งจากนี้ไปก็ต้องตรวจสอบว่า ข้อเท็จจริงเรื่องการแจกเงินเป็นเช่นไร ตอนนี้ยังไม่สามารถบอกได้ว่าถูกหรือผิด เพราะทราบข้อเท็จจริงจากข่าวที่ออกมาเท่านั้น และยังบอกไม่ได้ว่าจะมีการนำเรื่องดังกล่าวเข้าพิจารณาในการประชุม กกต.วันนี้ (29) เลยหรือไม่ และต้องมีการตั้งอนุกรรมการขึ้นมาตรวจสอบ ซึ่งต้องเชิญผู้ถูกกล่าวมาชี้แจง แต่ระยะเวลาพิจารณาก็จะขึ้นอยู่กับความยากง่ายของเรื่อง ซึ่งอาจจะใช้เวลาสอบสวนประมาณ 30 วัน” นายประพันธ์กล่าว

ส่วนที่ กกต.ถูกมองว่า ถ้าเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับพรรคประชาธิปัตย์พิจารณาช้า แต่ถ้าเป็นฝ่ายตรงข้ามกลับพิจารณาเร็ว นายประพันธ์ยืนยันว่าไม่มีเรื่องนี้เกิดขึ้น กกต.อยากดำเนินการให้เร็วทุกเรื่อง แต่ต้องขึ้นกับพยานหลักฐานที่มีอยู่ อีกทั้ง กกต.ไม่ได้ดูว่าเป็นพรรคการเมืองใดแต่พิจารณาตามขั้นตอน

ส่วนที่คำร้องของนายพร้อมพงศ์ มีการยื่นร้องเพิ่มเติมว่าการกระทำของนายบุญจงอาจเข้าข่ายความผิดตามมาตรา 22 ของ พ.ร.บ.พรรคการเมืองนั้นก็ต้องดูข้อเท็จจริง เพราะยังไม่ทราบในรายละเอียด อีกทั้งการพิจารณาต้องดูข้อกฎหมายเป็นหลัก เพราะเรื่องนี้ยังมีข้อถกเถียงอีกว่า นามบัตรที่แจกนั้นเป็นของนายบุญจง หรือภรรยา

ด้าน นายสมชัย จึงประเสริฐ กกต.ด้านสืบสวนสอบสวนและวินิจฉัย กล่าวว่า เมื่อมีการร้องเรียนเข้ามาก็ต้องตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาตรวจสอบตามระเบียบ ขั้นตอน เพราะการแจกเงินก็คือมีมูลแล้ว แต่ปัญหาของเรื่องนี้คือการแจกนั้นลึกๆเป็นอย่างไร แต่เมื่อดูจากพฤติกรรมนี้ช่วงนี้ยังไม่มีการเลือกตั้ง กฎหมายของ กกต.จึงยังไม่เข้าไปควบคุม และที่ว่าเข้าข่ายซื้อเสียงล่วงหน้านั้น ตามกฎหมายก็บัญญัติใช้เฉพาะกับการเลือกตั้งท้องถิ่นเท่านั้น แต่สำหรับ กรณีของ ส.ส. ส.ว. เท่าที่ดูยังไม่ได้เขียนเอาไว้

นายสมชัยกล่าวต่อว่า กรณีนี้น่าจะเป็นหน้าที่ของ ป.ป.ช.หรือสภาที่สังกัดเป็นผู้ตรวจสอบ เพราะขณะนี้ไม่ได้อยู่ในช่วงการเลือกตั้ง หากเห็นว่าเข้าข่ายความผิดตามมาตรา 266 ความหมายคือเป็นเรื่องที่รัฐมนตรีทำผิดไม่ใช่ผู้สมัครรับเลือกตั้ง และส่วนตัวก็มองว่า ขณะนี้นายบุญจงไม่ได้ประโยชน์อะไรจากการทำเช่นนี้ เพราะหลังจากที่ข่าวออกไปทำให้นายบุญจงเกิดความเสียหายแก่ตัวเองแล้ว

“ผมมองว่าการกระทำของนายบุญจงไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นความผิด แต่อาจจะเป็นเรื่องจริยธรรม และความเหมาะสม ทั้งนี้หากดูตามกฎหมายก็น่าจะเป็น ป.ป.ช.ที่มีหน้าที่ดำเนินการ อีกทั้งส่วนตัวมองเรื่อง มาตรา 266 ต่างจากผู้อื่นที่เห็นว่การตรวจสอบฝ่ายบริหารเป็นเรื่องของ กกต. แต่หากใครกลัวว่าแมลงวันย่อมไม่ตอมแมลงวันด้วยกัน ยื่นต่อประธานสภาแล้วเขาไม่ดำเนินการและนิ่งเฉยก็สามารถยื่นต่อ กกต.เพื่อส่งเรื่องต่อไปยังศาลรัฐธรรมนูญได้ เราจะทำหน้าที่แทนเอง”

เมื่อถามว่าหากมีการยุบสภาจะต้องพิจารณากรณีนี้ว่าเป็นการหาเสียงล่วงหน้าหรือไม่ นายสมชัย กล่าวว่า หากยุบสภาก็ไม่มีใครรู้มาก่อนล่วงหน้า อย่างไรก็ตาม หากนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ส.ว.สรรหา ร้องเรื่องนี้เข้ามาประเด็นแรกที่เราต้องดูว่า กกต.มีอำนาจตรวจสอบเรื่องนี้หรือไม่ การตรวจสอบ กกต.จะยึดหลักกฎหมายไม่ทำเพื่อความสะใจ
กำลังโหลดความคิดเห็น