ส.ส.ทั้งฝ่ายค้าน-รัฐบาล เห็นตรงกัน ค้านกฎหมายภาษีที่ดิน-มรดก “พิเชษฐ” ปัดขวาง แต่ให้ศึกษาให้ดี หวั่นภาษีมรดกทำครอบครัวแตกแยก ลูกทอดทิ้งบุพการี เหตุเลี่ยงภาษีโอนก่อนตาย อ้างหลายประเทศกำลังยกเลิก ฝ่ายพรรครัฐบาลได้ทีตอกรัฐเหลวหาเงินเข้ารัฐไม่ได้ ชี้ อย่าซ้ำเติมประชาชน
วันนี้ (23 ม.ค.) ที่รัฐสภา นายพิเชษฐ พันธุ์วิชาติกุล ส.ส.กระบี่ พรรคประชาธิปัตย์ อดีต รมช.คลัง และเจ้าของธุรกิจโรงแรมและที่ดินในจังหวัดกระบี่ กล่าวถึงกรณี นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง ที่จะปัดฝุ่นภาษีที่ดินและภาษีมรดก ว่า ตนไม่ได้คัดค้านแนวทางดังกล่าว แต่อยากให้ศึกษาเรื่องนี้ให้ดี เพราะก่อนหน้านี้ สมัยที่ตนเป็น รมช.คลัง เคยให้กรมสรรพากร ศึกษาทั้ง 2 เรื่องนี้ ซึ่งมีปัญหาและไม่มีปัญหา และที่สำคัญ ในหลายประเทศอย่าง อังกฤษ และญี่ปุ่น พยายามจะยกเลิกภาษีดังกล่าวนี้ โดยเฉพาะภาษีมรดก ซึ่งเราจำเป็นจะต้องศึกษาให้ดี แม้สังคมจะเรียกร้องก็ตาม
อดีต รมช.คลัง กล่าวอีกว่า โดย 2 ประเทศที่ได้รับผลกระทบ ตนจะยกตัวอย่างในเชิงสังคมที่เห็นได้ชัด คือ จากเดิมเจ้าของทรัพย์สินจะไม่เสียภาษี เมื่อตัวเองตาย และมีการโอนไปให้ลูกหลาน แต่หลังจากมีกฎหมายดังกล่าวเจ้าของทรัพย์สินจะหลีกเลี่ยง โดยโอนให้ลูกหลานก่อนตาย เพื่อไม่ต้องเสียภาษี แต่ผลกระทบที่ตามมา คือ เมื่อไม่มีทรัพย์สินแล้ว ลูกหลานอาจจะหายหมด ไม่ดูแลเราในเวลาแก่เฒ่า อีกทั้งบางคนไม่พอใจเมื่อได้ทรัพย์สินน้อย อาจจะมาทำร้ายภายหลังให้เกิดปัญหาอีกได้
ขณะที่ นายวิทยา บุรณศิริ ส.ส.อยุธยา พรรคเพื่อไทย ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) กล่าวว่า นโยบายดังกล่าวสะท้อนให้เห็นระบบจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลของรัฐบาลมีปัญหาไม่เป็นตามเป้า โดยเฉพาะการเบิกจ่ายงบประมาณกลางปี 1.1 แสนล้าน ดังนั้น จึงเป็นเครื่องมือจับเก็บรายได้ โดยเฉพาะหันซ้าย หันขวาแล้ว ไม่รู้จะทำอย่างไรจึงใช้วิธีดังกล่าว อีกทั้งในช่วงสภาวะนี้ยังเป็นภาระเศรษฐกิจขาลงยิ่งไม่ควรซ้ำเติมประชาชน ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นการถอนขนห่าน
เมื่อถามว่า สาเหตุที่ ส.ส.และนักการเมืองส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย เป็นเพราะจะกระทบทรัพย์สินของตัวเอง นายวิทยา กล่าวว่า ไม่อยากให้มองเป็นประเด็นนี้ และ ส.ส.นักการเมืองก็ไม่มีทรัพย์สินมาก จนสามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้ ส่วนสาเหตุที่กฎหมายดังกล่าวไม่ผ่านสภาเป็นเพราะช่วงที่กฎหมายดังกล่าวเข้าพิจารณาอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านของแต่ละรัฐบาล