ผบ.สส.ตั้งข้อสงสัยผู้อพยพ “โรฮิงยา” มีแต่ชายฉกรรจ์ แถมเดินทางล่องเรือมาไกลถึง 700 กม. และไม่มีประเทศใดกล้ารับ ยืนยันกองทัพไทยส่งกลับตามกฎกติกา ไม่เคยใช้วิธีโหดร้ายทารุณ จนเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ และถูกเชิญไปปฏิบัติหน้าที่ในประเทศต่างๆ ด้านโฆษก ทบ.เผยเบื้องต้นยังพบเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ป่วนใต้ ส่วนใหญ่มาหางานทำมากกว่า
วันที่ 18 ม.ค. พล.อ.ทรงกิตติ จักกาบาตร์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีสำนักข่าวบีบีซีรายงานข่าวทหารเรือไทยกระทำการทารุณโหดร้ายกับผู้ลักลอบหลบหนีเข้าเมืองชาวโรฮิงยา ด้วยการปล่อยเรือลอยกลางทะเลจนเสียชีวิตว่า กองทัพไทยดำเนินตามนโยบายของรัฐบาล ส่วนการปฏิบัติก็มีขั้นตอนการดำเนินการ ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่พยายามหลบหนีเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายและ ด้านอื่นๆ เช่น อาชญากรข้ามชาติ ในกรณีผู้หลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย เรามีมาตรการแนวทางในการปฏิบัติ นโยบาย บนพื้นฐานของมนุษยธรรม
“เมื่อวาน (17 ม.ค.) ผมไปเปิดดูข่าวในซีเอ็นเอ็น เขาตั้งข้อสังเกตผู้ที่พยามยามหลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายมีแต่คนหนุ่มๆ ไม่มีผู้หญิง เด็ก คนแก่ คือไม่มีคนที่อายุสูงกว่าผม ทุกอย่างมีเหตุผลกลไกการไปการมา อยากให้สื่อมวลชนลองวิเคราะห์ ดูภาพว่า คนพวกนี้เข้ามาทำอะไร อยู่ในวัยไหน จำนวนเท่าไหร่ และไม่ใช่ภาพของคนที่อพยพเข้าเมืองมาอย่างผิดกฎหมาย เขามาเพื่อความมุ่งหมายใด ประเทศที่เขารับ คนพวกนี้ก็ไม่ไป ทำไมเขาพยายามเข้ามาประเทศไทย เรือที่สามารถวิ่งได้ 700 กิโลเมตร เรือเล็กทำได้หรือไม่ มีขบวนนำพาหรือเปล่า ซึ่งเจ้าหน้าที่ทุกส่วนกำลังดำเนินการ” พล.อ.ทรงกิตติ กล่าว
พล.อ.ทรงกิตติ กล่าวต่อว่า ประเทศไทยยอมรับให้เขาเข้ามาไม่ได้ ไม่มีประเทศใดที่จะยอมรับคนเหล่านี้เข้ามา เขาพยายามไปแล้วไม่ว่าจะเป็นประเทศเพื่อนบ้านรอบๆ ประเทศไทย ส่วนขั้นตอนการปฏิบัติตามกฎหมาย คือการส่งกลับออกไป มีกฎกติกาอยู่แล้ว ขอยืนยันว่ากองทัพไทยไม่เคยปฏิบัติการอันไร้มนุษยธรรม เป็นที่ยอมรับในเวทีนานาประชาติ ว่ากองทัพไทยปฏิบัติการเพื่อรักษาสันติภาพได้อย่างดีเยี่ยม จึงถูกเชิญไปปฏิบัติการทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นที่ แอฟริกา เอเชีย เป็นพื้นฐานการทำงานของกองทัพ จึงยืนยันได้ว่าไม่มีเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นแน่นอน
เมื่อถามว่า จำเป็นต้องชี้แจงให้สังคมโลกได้รับทราบหรือไม่ พล.อ.ทรงกิตติ กล่าวว่า สังคมโลกต้องคิดเองได้ ถ้ามิเช่นนั้น กองทัพไทยจะยืนอยู่ที่ไหนในโลกไม่ได้
เมื่อถามว่าจะเชื่อมโยงกับการก่อเหตุในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้หรือไม่ พล.อ.ทรงกิตติ กล่าวว่า เราไม่ต้องการให้ใครเข้าไปเกี่ยวข้อง พี่น้อง ประชาชน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้กำลังได้รับการดูแลให้มีความสุข มีการพัฒนา ความเป็นอยู่ทีดีขึ้น จึงเป็นสาเหตุทำให้ทุกคนอยากจะเข้ามาด้วยจุดประสงค์หลายๆ อย่าง บางครั้งเราไม่สามารถระบุได้
เมื่อถามว่า เป็นไปได้หรือไม่ว่าจะเป็นการโจมตีประเทศไทยในเรื่องสิทธิมนุษยชน เพื่อต้องการให้ต่างชาติเข้ามาดูแล พล.อ.ทรงกิตติ กล่าวว่า คนไทยทราบอยู่แล้ว่าอะไรเป็นอะไรตั้งแต่ตอนใต้จนถึงตอนเหนือของประเทศ อยากให้ทุกคนช่วยกันและสิ่งเหล่านี้จะกลายเป็นพลังที่จะช่วยกันรักษาพื้นที่ประเทศไทย และวัฒนธรรม อารยธรรม ประเพณีให้ลูกหลาน
เมื่อถามว่า นายกรัฐมนตรี มีแนวทางจะพยายามแก้ไขปัญหาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพากำลังพลของกองทัพ และกฎหมายพิเศษ พล.อ.ทรงกิตติ กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหญ่ เรื่องใดที่จะทำให้ประเทศชาติ และงานด้านความมั่นคงเดินต่อไปได้ อะไรที่ดีก็คงอยู่ สิ่งไหนที่ไม่ดีก็ต้องปรับ เรามีองค์กร รัฐบาล กองทัพ มีกระทรวงต่างๆ ต้องคุยหารือกัน แต่ละเรื่องที่จะดำเนินการไม่ใช่นึกจะทำก็ทำ แต่ผู้ใหญ่ได้พูดคุยหารือกันแล้ว บางเรื่องจะเป็นต้องเปลี่ยนก็เปลี่ยน บางเรื่องไม่เปลี่ยนดีกว่าก็ไม่เปลี่ยน ได้หารือกันแล้ว
พล.อ.ทรงกิตติ กล่าวถึงกระแสข่าวผู้นำประเทศพม่าไม่พอใจผู้นำของไทยจนเป็นสาเหตุให้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก ต้องยกเลิกการไปเยือนประเทศพม่า ในวันที่ 28 มกราคม นี้ ว่า ไม่มีตนยังไม่ทราบข่าว ขณะนี้ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับพม่ายังเป็นปกติ ยังมีอะไรเปลี่ยนแปลง ตนคิดว่าไม่น่าจะมีอะไร
ด้าน พ.อ.ธนาธิป สว่างแสง โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.)กล่าวถึงกรณีที่สื่อต่างประเทศเผยแพร่ข่าวกรณีทหารเรือไทยกระทำทารุณกรรมกับผู้อพยพชาวโรงฮิงยาว่า เรื่องนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เสธ.ทบ.ในฐานะเลขาธิการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) มีความเป็นห่วงมากเพราะความรับผิดชอบหลักเป็นหน้าที่ของกอ.รมน. ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวเจ้าหน้าที่ต้องดำเนินการตามกรอบตามขั้นตอนและมาตรการการปฏิบัติโดยขึ้นอยู่กับหลักสิทธิมนุษยชน
ส่วนที่นักท่องเที่ยวเห็นว่ากลุ่มมุสลิมพม่าถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวด้วยวิธีการนอนคว่ำกับพื้นดินนั้น เพราะมีความจำเป็นเนื่องจากผู้อพยพมีกว่า 200 คนเจ้าหน้าที่มีเพียง 10 กว่าคน ดังนั้นจึงจำเป็นต้องปฏิบัติตามขั้นตอนของการตรวจค้น เพราะเจ้าหน้าที่กังวลเรื่องความปลอดภัยในภาพรวม หากกลุ่มผู้อพยพลุกฮือขึ้นมาทำร้ายเจ้าหน้าที่ก็จะยากต่อการควบคุม จึงจำเป็นต้องให้นอนคว่ำเพื่อทำการเช็คยอดและทำการควบคุม
“ทุกๆ คนก็คือมนุษย์ เราคำนึงถึงเรื่องของสิทธิต่างๆ เป็นอันดับแรกและไปตามกรอบการปฏิบัติที่ต้องดำเนินการอย่างละมุ่นละม่อม ซึ่งจุดตรวจต่างๆ ที่ตรวจจับจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมายและผลักดันออกไปนอกประเทศโดยจะคำนึงถึงช่องทางที่ปลอดภัยมากที่สุด บางครั้งได้มอบอาหารและยารักษาโรคให้ติดตัวกลับไปด้วย เพราะเรากังวลในเรื่องต่างๆ โดยเฉพาะความไม่ปลอดภัย” พ.อ.ธนาธิป กล่าว
เมื่อถามว่าในฐานะที่ กอ.รมน.รับผิดชอบทางกองทัพบกดูแลเรื่องนี้อย่างไร พ.อ.ธนาธิป กล่าวว่า เลขาธิการ กอ.รมน.มีความเป็นห่วงเรื่องนี้มาก โดยเฉพาะมาตรการควบคุมการดูแลของกลุ่มผู้อพยพเข้าเมืองผิดกฎหมาย ซึ่งมีนโยบายอย่างเด่นชัดฝากให้เจ้าหน้าที่ทุกคนทำงานอย่างเต็มที่ คำนึงถึงหลักมนุษยชนเป็นหลัก ซึ่งอาจจะต้องเชิญสื่อต่างประเทศมาชี้แจงให้เกิดความเข้าใจถึงขั้นตอนต่างๆ ในการปฏิบัติเพราะทุกอย่างเป็นไปด้วยหลักการและเรื่องจริง ซึ่งเราไม่ได้มุ่งหวังที่จะทำให้เกิดความรุนแรงเหมือนภาพที่เผยแพร่ออกไป เราอยากให้ทุกคนเข้าใจถึงการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่เนื่องจากบริเวณที่เกิดเหตุมีกลุ่มมุสลิมชาวพม่าจำนวนมาก
เมื่อถามว่ากลุ่มผู้อพยพมีความพยายามจะเข้าไปร่วมกับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้หรือไม่ พ.อ.ธนาธิป กล่าวว่า จากการตรวจสอบด้านการข่าว กลุ่มมุสลิมที่เข้ามาไม่เกี่ยวข้องกับขบวนการผู้ก่อความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้แต่อย่างใด เป็นกลุ่มที่เข้ามาหางานทำ ซึ่งต่อไปการปฏิบัติจะต้องรัดกุมมากกว่านี้ทั้งหน่วยงานของ กอ.รมน. เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองและทุกส่วนราชการในพื้นที่ต้องประสานงานกัน โดยจะเน้นย้ำไปที่กลุ่มขบวนนำพา หากมมีกลุ่มดังกล่าวการจะหลบหนีเข้ามาจึงเป็นเรื่องยาก ซึ่งจากสถิติในการหลบหนีเข้าเมืองของชาวโรงฮิงยามีประมาณ 1,000 กว่าคนในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา และทางสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.)มีนโยบายเรื่องความปลอดภัย เพราะกลุ่มดังกล่าวเมื่อเข้ามาอาจจะเป็นภัยด้านความมั่นคง จึงจำเป็นต้องรีบผลักดันตั้งแต่เนิ่นๆ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้เลขาธิการ กอ.รมน.ได้สั่งให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงและดำเนินการตามกฎหมาย