xs
xsm
sm
md
lg

“มาร์ค” ซื้อใจ อปท.สั่งหาช่องดึงงบฯ ปี 53 จัดสวัสดิการชุมชน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี
“โอบามาร์ค” รับข้อเสนอ 9 ข้อผู้นำองค์กรชุมชนไปพิจารณา พร้อมตั้ง “สุพัตรา” ดูแลแทน ไอเดียกระฉูดผุดโครงการ-สวัสดิการชุมชนเพียบ “เพิ่มเงินคนสูงอายุ-ออกโฉนดชุมชน” สั่งกอร์ปศักดิ์หาช่องดึงงบฯ ปี 53

วันนี้ (15 ม.ค.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมและปาฐกถาในการประชุมระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบล ครั้งที่ 1/2552 ณ ตึกสันติไมตรีหลังนอก ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งจัดโดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่งคงของมนุษย์ ซึ่งผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย ผู้แทนสภาองค์กรชุมชนตำบล ผู้นำองค์กรชุมชน ผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประมาณ 800 คน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โอกาสนี้เครือข่ายองค์กรชุมชนได้ยื่นขอเสนอ 9 ข้อ ต่อนายอภิสิทธิ์ให้พิจารณา ประกอบด้วย 1.ส่งเสริมให้มีการจัดตั้งสภาองค์กรชุมชน 2.การแก้ปัญหาหนี้สินโดยชุมชน 3.ส่งเสริมการพัฒนากองทุนสวัสดิการชุมชนระดับเมืองและตำบล 4.การแก้ไขปัญหาและปฏิรูปที่ดินโดยประชาชน 5.การคุ้มครองแหล่งผลิตอาหารสำคัญของประเทศ 6.การจัดตั้งกองทุนกลางชดเชยราคาพืชผลการเกษตร 7.ส่งเสริมให้ขบวนองค์กรชุมชนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการน้ำ 8.ส่งเสริมพลังงานทางเลือก และ 9.การแก้ไขปัญหาความไม่มั่นคงในที่อยู่อาศัยและคุณภาพชีวิตของคนจนเมืองทั้งระบบ ซึ่งนายอภิสิทธิ์ได้รับข้อเสนอทั้งหมดไปพิจารณา

นายกฯ กล่าวถึงข้อเสนอ 9 ข้อว่า ข้อแรกที่ต้องการให้ผลักดันให้เกิดสภาองค์กรชุมชนหรือองค์กรชุมชนต่างๆ ให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ คิดว่าเป็นเป้าหมายที่ดี แต่อย่าตั้งเป้าเรื่องจำนวน เพราะความสำเร็จของตัวองค์กรจะเป็นตัวกระตุ้นที่ดีที่สุดเพื่อให้ชุมชนที่ยังไม่มีองค์กรเหล่านี้อยากมีองค์กรและสร้างความพร้อม แต่ถ้าเร่งรัดให้เต็มพื้นที่ แต่องค์กรชุมชนไม่พร้อมจะเป็นอันตรายของการพัฒนา

นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า การแก้ปัญหาหนี้สิน โครงการที่รัฐบาลใช้เป็นมาตรการการกระตุ้นเศรษฐกิจก็คือโครงการที่เกี่ยวข้องกับคนที่ว่างงาน อาทิ โครงการการฝึกอาชีพที่ไม่อยากทำเหมือนในอดีต ที่ฝึกอาชีพจากหน่วยงานสร็จแล้วก็หางานทำไม่ได้ จึงนำโครงการมาบริหารที่สำนักนายกรัฐมนตรี และเปิดโอกาสให้ทุกกระทรวง ทบวง กรม เสนอว่าต้องการจะฝึกอบรมและหางานให้คนเหล่านี้อย่างไร เช่น กระทรวงศึกษาธิการขอเด็กไปฝึกอบรม เสร็จแล้วจะนำไปทำธุรการในโรงเรียนเพื่อที่จะให้ครูสอนหนังสือและอยู่กับนักเรียนมากขึ้น ดังนั้นปัญหาหนี้สินก็เป็นอีกกระบวนการหนึ่งซึ่งอาจจะได้ประโยชน์จากโครงการนี้

นายกฯ กล่าวถึงข้อเสนอเรื่องสวัสดิการว่า มาตรการขณะนี้พยายามช่วยเหลือผู้ที่ด้อยโอกาสหรือมีปัญหาในสังคม เช่น กรณีผู้สูงอายุก็จะจัดเบี้ยยังชีพให้ทั่วถึงมากขึ้น รวมทั้งการเรียนฟรี รักษาฟรี เรียนว่าเป็นมาตรการเฉพาะหน้าที่ต้องการให้เกิดความตื่นตัว อย่างไรก็ตาม ถามว่ากรณีผู้สูงอายุเงิน 500 บาทพอไหม ตนเรียนว่าไม่พอ เพราะสิ่งที่ต้องการจะให้เกิดขึ้นก็คือระบบสวัสดิการ แต่ต้องเรียนรู้จากระบบสวัสดิการที่ล้มเหลวในหลายๆ ประเทศ เพราะในที่สุดไม่สามารถแบกรับได้ด้วยการเก็บภาษีอากร

“ได้บอกให้นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี ไปดูแล้วว่าเริ่มต้นปีงบประมาณ 2553 จะทำได้ไหมในเรื่องของการจัดระบบสวัสดิการชุมชน ชาวบ้านจ่ายวันละบาท รัฐบาลก็ใส่ให้ในส่วนของรัฐอาจจะวันละบาทเท่ากัน และไปดูสิว่าจะชวนท้องถิ่นใส่อีก 1 บาทด้วย เท่ากับว่าท่านใส่ 1 ได้ 2 กำลังให้ไปคำนวณตัวเลขทั้งหมดเพื่อที่จะดูต่อไปด้วยว่าเพื่อจะให้เกิดความยั่งยืนของระบบนั้น” นายกฯ กล่าว

นายอภิสิทธิ์ กล่าวอีกว่า การจัดวางเกณฑ์เกี่ยวกับเรื่องของการใช้เงินควรจะเป็นอย่างไร ทราบว่าจะมีความสำเร็จในกองทุนสวัสดิการในหลายชุมชน สิ่งหนึ่งที่ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนก็คือว่า เมื่อกองทุนนี้ต้องไปดูแลผู้สูงอายุจะมีความยั่งยืนมากน้อยแค่ไหน แน่นอนว่าทุกคนฝันเหมือนกัน ซึ่งวันหนึ่งข้างหน้าตนอยากเห็นประชาชนมีบำนาญ แต่จำนวนเงินที่จะรองรับตรงนี้ได้พอหรือไม่ ตรงนี้ที่กำลังเร่งให้มีการศึกษา แต่ตั้งใจว่าตั้งแต่ปีงบฯ 2553 จะพยายามหมุนในเรื่องของความช่วยเหลือเข้ามาสู่ระบบสวัสดิการอย่างนี้ ถ้าแต่ละชุมชนสามารถดำเนินการตรงนี้ได้ก็จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง

นายอภิสิทธิ์ กล่าวถึงข้อเสนอในเรื่องของที่ทำกินว่า แนวคิดธนาคารที่ดินและโฉนดชุมชนกำหนดไว้ในนโยบายรัฐบาลเรียบร้อยแล้ว ซึ่งเรื่องของโฉนดชุมชนรัฐบาลก่อนๆไม่เคยเขียน เพราะเป็นความเชื่อของนักการเมืองว่านักการเมืองไม่ต้องการโฉนดชุมชน แต่ตั้งแต่องค์กรชุมชนมีความเข้มแข็งมีหลายองค์กรที่ยืนยันกับแล้วว่าไม่ได้ยึดติดกับระบบเศรษฐกิจที่ยึดเรื่องของปัจเจกชน แต่ยอมรับการจัดการร่วมกันในลักษณะชุมชน

นายกฯ กล่าวถึงข้อเสนอในการคุ้มครองแหล่งผลิตอาหารสำคัญของประเทศว่า เชื่อมโยงกับปัญหาที่ทำกิน ซึ่งขณะเดียวกันต้องมีการดำเนินการเพื่อไม่ให้ความมั่นคงทางอาหารซึ่งเป็นจุดแข็งของประเทศไทยได้รับผลกระทบ เชื่อว่าเป็นเรื่องไม่ยาก เพราะเคยศึกษาตัวเลขว่าการใช้พื้นที่เพื่อปลูกพืชพลังงานจะเป็นการสร้างโอกาสที่สำคัญให้กับประเทศ แต่หลายคนก็กลัวว่าถ้าเราไปผลิตพืชเพื่อพลังงานแล้วจะทำให้กระทบกับความมั่นคงทางการอาหารหรือไม่ ซึ่งตนยืนยันว่าที่จริงแล้วเคยทำตัวเลข สมมติว่าวันนี้ทุกคนที่เติมน้ำมันเบนซินหรือแก๊สโซฮอล์ E10 อยู่ หันไปใช้ E20 หมดทันที ถามว่าพื้นที่ในประเทศพอรองรับที่จะผลิตเอทานอลโดยใช้มันสำปะหลัง โดยใช้อ้อยพอ โดยไม่ต้องไปเบียดเบียนที่ดินในเรื่องของการผลิตอาหาร ฉะนั้น ศักยภาพเรามี แต่หัวใจสำคัญก็คือว่ารัฐบาลต้องเดินหน้าต่อในเรื่องของการปรับปรุงประสิทธิภาพในการผลิต ถ้าเราสามารถทำให้ผลผลิตต่อไร่เพิ่มได้ปัญหาเรื่องนี้ก็สามารถแก้ไขได้ง่ายขึ้น

นายอภิสิทธิ์ กล่าวอีกว่า ในส่วนของการจัดตั้งกองทุนกลางชดเชยราคาพืชผลเกษตรนั้นรัฐบาลได้เขียนในเรื่องระบบประกันภัยพืชผลเป็นนโยบาย ตนได้ติดตามพบว่าได้มีการไปทดลองระบบประกันภัยพืชผลอยู่ที่ จ.เพชรบูรณ์ และนครราชสีมา ทั้ง 2 ส่วนนี้พยายามจะนำระบบเข้าไปในการจัดการ ส่วนใหญ่ขณะนี้จะเป็นเรื่องของประกันภัยแล้ง โดยใช้ปริมาณน้ำฝนเป็นเกณฑ์ ถ้าฝนไม่ตกตามเกณฑ์ก็รับเงินชดเชยไปเลยไม่ต้องมาสำรวจเพิ่มเติม ซึ่งลักษณะอย่างนี้ตนจะนำมาใช้

นายอภิสิทธิ์ กล่าวถึงความยากในเรื่องของระบบประกันภัยพืชผลก็มี 2 ส่วน คือ 1.ต้องทำให้ครอบคลุมมากที่สุด เพราะจะมีประชาชนจำนวนหนึ่งซึ่งไม่เข้าโครงการประกันภัย เมื่อเกิดภัยก็จะมีแรงกดดันและต้องไปจัดงบฯ กลางสำรองฉุกเฉินจ่ายให้ จะกระทบคนที่เสียเงินหรือเข้าไปอยู่ในระบบประกันภัยว่าได้รับความเป็นธรรมหรือไม่ 2.ภัยที่ยากกับการประกันภัยก็คือน้ำท่วม ด้วยเหตุผลที่ว่ารัฐบาลสามารถบริหารจัดการได้ระดับหนึ่งว่าจะให้น้ำไปท่วมที่ไหน เพราะฉะนั้นตรงนี้ยังเป็นปัญหาในเรื่องของระบบประกันภัยเล็กน้อย เพราะว่าคนที่จะมาทำหน้าที่ในการรับประกันก็มีความรู้สึกว่าเป็นเบี้ยล่างของรัฐบาล เนื่องจากอาจจะใช้หน่วยงานผันน้ำแล้วเขาก็รับความเสียหายไป อย่างไรก็ตาม เรื่องการประกันภัยพืชผลเป็นนโยบายและตนได้กำชับในการประชุม ครม.2 ครั้งที่ผ่านมา เนื่องจากเห็นได้ชัดว่าวิธีการแทรกแซงพืชผลในปัจจุบัน แม้จะจำเป็นในสถานการณ์ขณะนี้ไม่สามารถที่จะเป็นวิธีการที่ยั่งยืนได้ นอกจากนี้ ในเรื่องของราคาก็เช่นเดียวกันที่ขณะนี้ TDRI ก็ได้เสนอมาและตนก็ได้ให้เขาทำรายละเอียดเพิ่มเติมมาว่าระบบการประกันราคานั้นทำกันอย่างไร

นายกฯ กล่าวถึงข้อเสนอเรื่องการส่งเสริมให้ขบวนองกรค์ชุมชนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการน้ำว่า ตนจะพูดกว้างกว่าเรื่องน้ำ คือ การจัดการบริหารจัดการทรัพยากรทั้งหมดหัวใจสำคัญที่สุด คือ การแก้ปัญหาให้ตรงกับความต้องการของชุมชนคือข้อมูลที่ถูกต้อง ซึ่งความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในทุกพื้นที่ในปัจจุบันนั้นราชการถือข้อมูลชุดหนึ่ง ประชาชนถืออีกชุดหนึ่งแล้วก็พูดกันไม่รู้เรื่อง ซึ่งตนต้องการที่จะเห็นกระบวนการจัดทำข้อมูลที่ทำร่วมกันระหว่างชุมชนกับราชการ

ส่วนข้อเสนอเรื่องพลังงานทางเลือก นายกฯ กล่าวว่า ตนได้พูดไปแล้ว ซึ่งในวันพรุ่งนี้ (16 ม.ค.)จะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ก็ได้คุยกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานไว้ล่วงหน้าแล้วว่าต้องยืนยันในเรื่องของพลังงานทดแทน แม้ว่าวันนี้ราคาน้ำมันดิบจะลงไปเหลือ 30-40 เหรียญฯ แต่ตนไม่เชื่อว่านี่คือภาวะดำรงอยู่ได้นาน เพราะสุดท้ายราคาก็ต้องขึ้น ดังนั้น เราควรวางรากฐานของพลังงานทดแทน เพราะเราคิดอยู่แล้วว่านี่คือโอกาสสำคัญของเกษตรกร

และข้อเสนอสุดท้ายเรื่องการแก้ไขปัญหาความไม่มั่นคงในที่อยู่อาศัย และคุณภาพชีวิตของคนจนเมืองทั้งระบบนั้น นายกฯ กล่าวว่า ตนคงตอบไม่หมดเพราะมีหลายเรื่องที่เกี่ยวข้องกับชุมชนเมืองทั้งปัญหาในเรื่องของเงินกองทุน กฎหมายและเรื่องอื่นๆ

“ข้อเสนอทั้ง 9 ข้อ คิดว่าหัวใจของมัน คือ ถ้ามีคณะกรรมการร่วมเพื่อพิจารณาทั้ง 9 ข้อนี้ต่อไป หลายสิ่งหลายอย่างก็คงจะมีคำตอบ โดยในหลักการตนไม่ขัดข้องถือว่ารัฐบาลได้ประกาศไปแล้วว่าการแก้ปัญหาทุกปัญหาและการทำงานจะยึดถือเรื่องของการมีส่วนร่วม เพราะฉะนั้น เรื่องของกรรมการก็ให้เสนอรูปแบบมา ตนจะมอบหมายให้คุณหญิงสุพัตรา มาศดิตถ์ ที่ปรึกษานายกฯ ได้ช่วยดูในเริ่องนี้” นายอภิสิทธิ์ กล่าว

ในตอนท้าย นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ตนเชื่อว่าเมื่อองค์กรนี้เติบโตขึ้นเรามีองค์กรที่อยู่ในพื้นที่ขนาดนี้ทับซ้อนกันเยอะมาก ตั้งแต่การทำงานของเจ้าหน้าที่อยู่ในส่วนราชการของภูมิภาค เรามีคนที่ทำงานให้กับรัฐ คือ กำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน อปท. อบจ. อบต. และบางพื้นที่มีเทศบาลด้วย แล้วเราก็กำลังจะมีสภาองค์กรชุมชนที่เติบโตขึ้นมา ซึ่งตนฝันว่าจะเห็นองค์กรเหล่านี้รวมทั้งกลุ่มพลังอื่นๆทำงานกันอย่างมีเอกภาพ ไม่อยากเห็นความขัดแย้ง ความซ้ำซ้อนและความสิ้นเปลือง และที่สำคัญอย่ายึดถือในเรื่องของโครงสร้าง อำนาจขององค์กร ขอให้ยึดถือวัตถุประสงค์ขององค์กร ถ้าหน่วยงานอื่นเขาทำได้ดีกว่าให้เขาทำ งานใดเราทำได้ดีกว่าให้บอกเขา ให้เขายอมรับว่าเราทำได้ดีกว่าแล้วเราทำ และถ้างานใดไม่สำเร็จได้ถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งทำต้องทำงานร่วมกัน อย่าคิดถึงหน้าว่ามาร่วมกันแล้วใครจะเป็นประธาน ใครจะใหญ่กว่าใครถ้าเรามีความคิดอย่างนี้เมื่อไหร่สุดท้ายกระบวนการพัฒนา ที่ไม่เคยตอบสนองเรามันก็จะมีต่อไป และวันข้างหน้าต้องคิดสร้างขึ้นมาอีกองค์กรหรือไม่ เพื่ออุดช่องว่างสำหรับผลที่เกิดขึ้นในพื้นที่

นอกจากนั้น นายอภิสิทธิ์ ได้กล่าวด้วยว่า วันนี้เป็นโอกาสดีที่พบผู้นำชุมชนและขอรับข้อเสนอไว้พิจารณา และขอเป็นกำลังใจให้ทุกท่านในการปฏิบัติหน้าที่ที่สำคัญต่อไป สิ่งที่เป็นความมุ่งหมายตรงกันก็คือความปรารถนาที่จะเห็นคุณภาพชีวิตของคนที่ดีขึ้น ไม่ว่าจะอยู่แห่งไหนอย่างไร เป็นความจริงว่าการพัฒนาในอดีตการดำเนินการหลายอย่างก็เป็นการดำเนินการไปจากส่วนกลางและต่อไปคือผ่านกระบวนการของส่วนราชการส่วนภูมิภาค ที่นำความเจริญไปสู่พื้นที่ต่างๆมากมายแต่ต้องยอมรับว่ากระบวนการพัฒนานั้นก็ก่อให้เกิดปัญหากับชุมนุมกับท้องถิ่นไม่น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปประมาณ 6-7 ฉบับก็มีความตื่นตัวว่าการพัฒนาที่ไม่สมดุลนั้นก็จะนำมาซึ่งปัญหาด้านสังคม สิ่งแวดล้อม การเมือง และกระทบกับการพัฒนาด้านเศรษฐกิจในภาพรวม

นายกฯ กล่าวอีกว่า มีความพยายามในยุคต่อมาที่จะผลักดันให้การเมืองท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เข้าไปช่วยแก้ปัญหานี้ ซึ่งได้มีการดำเนินการอย่างจริงจังในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมาที่อปท.มีบทบาทมากขึ้นในการพัฒนา แต่ขณะที่ความสำเร็จของการทำงานของอปท.มีให้เห็นก็ต้องยอมรับว่ากระบวนการของ อปท.ก็ยังติดอยู่กับระบบการทำงานไม่ค่อยต่างกับการเมืองระดับชาติ หรือระบบราชการในส่วนกลาง และส่วนภูมิภาคเท่าที่ควร สุดท้ายต้องยอมรับว่ากระบวนการการแก้ปัญหาของประชาชนและการเมืองภาคประชาชนก็ยังมีปัญหาในการเข้าไปสู่เวทีที่มีอยู่ในเรื่องการเมืองและราชการทั้งส่วนกลาง ภูมิภาค และท้องถิ่น

นายกฯ กล่าวต่อไปว่า เชื่อว่าบนข้อเท็จจริงและข้อคิดตรงนี้รวมทั้งนโยบายของรัฐบาลในขณะนั้นจึงมีความพยายามที่จะสร้างกลไกขึ้นมาเพิ่มเติม จะเรียกว่าเป็นการสร้างจากศูนย์หรือจากที่ไม่มีอะไรเลยคงไม่ใช่ ที่จริงแล้วการทำงานขององค์กรชุมชนในอดีตมีอยู่แล้ว เพียงแต่อยู่ในรูปแบบที่แตกต่างหลากหลายกัน บางองค์กรก็เป็นเรื่องของการช่วยดูแลทรัพยากรในพื้นที่ บางองค์ก็มีความกังวลและพยายามที่จะใช้ทรัพยากรในพื้นที่ ดูว่าจะสามารถจัดระบบการผลิต หรือการออมหรือการจัดระบบสวัสดิการให้ชุมชนได้อย่างไร ฉะนั้น ในระยะหลังรัฐบาลที่มีแนวคิดเสริมความเข้มแข็งของการเมืองภาคประชาชน การเมืองในระดับชุมชนหรือองค์กรในระดับชุมชนก็มีความพยายามที่จะผลักดันให้เกิดความเป็นระบบและการองค์กรที่มีกฎหมายรองรับ ท่านทั้งหลายซึ่งได้เริ่มต้นมาเป็นตัวแทนขององค์กรเหล่านี้ก็ถือได้ว่าเป็นผู้นำสำคัญที่จะต้องช่วยให้เกิดการขยายผลตรงนี้ต่อไป

นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า รัฐบาลได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาและก็ได้ทำแผนบริหารราชการแผ่นดินเสร็จเรียบร้อยแล้ว แน่นอนถ้าท่านติดตามจากข่าวสารความสนใจในปัจจุบันก็อาจจะอยู่ในเรื่องของการแก้ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจเฉพาะหน้า ซึ่งก็จะทำให้ได้รับทราบถึงมาตรการของการกระตุ้นเศรษฐกิจในปัจจุบันและความกังวลที่เกี่ยวข้องกับปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง แต่ว่าอยากจะเรียนว่าในขณะที่รัฐบาลมีความจำเป็นที่จะต้องแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเหล่านี้ และวิธีการของการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้ารัฐบาลอาจจะไม่มีทางเลือกมากนัก โดยเฉพาะในเรื่องเศรษฐกิจที่จำเป็นต้องเร่งให้เงินไปถึงมือประชาชน เพื่อให้ระดับการใช้จ่ายในเศรษฐกิจไม่ถดถอยหรือตกลงไป ซึ่งจะเป็นปัญหาต่อไป

“แต่ว่าให้ความมั่นใจกับทุกท่านครับว่าการแก้ปัญหาในระยะกลาง ระยะยาว ซึ่งไม่ได้หมายความว่าไม่เริ่มต้นในขณะนี้หรือปีนี้ เพราะยังเป็นสิ่งที่รัฐบาลมีความมุ่งมั่นตั้งใจอย่างแท้จริงที่จะเข้าไปดำเนินการ ผมได้เห็นความก้าวหน้าของหลายองค์กร ทั้งจากนิทรรศการในวันนี้และการรับรู้ของผม ผมเชื่อว่าหลายปัญหาเป็นสิ่งที่จะสามารถมาช่วยทำให้นโยบายของรัฐบาลสัมฤทธิผลได้ และรัฐบาลก็จะมีบทบาทในการเสริมการทำงานขององค์กรชุมชนต่างๆ ได้” นายกรัฐมนตรี กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น