“มาร์ค” เจรจา เขาพระวิหาร อยู่ในขั้นกรรมการ ยังไม่ถึงระดับผู้นำ เผย ยังคงจุดยืนตอนเป้นฝ่ายค้าน เคารพคำนัดสินศาลโลก แต่ยังขอ “สงวนสิทธิ์” อยากให้จดทะเบียนปราสาท-อุทยานเป็นมรดกโลกร่วมกัน 2 ประเทศ เพื่อประโยชน์การพัฒนาพื้นที่ ลดการกระทบกระทั่ง ชี้เอ็มโอยูยุครัฐบาล ปชป.ปี 43 ไม่มีเขตแดนเป็นทางการ
วันที่ 8 ม.ค.นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีกระแสข่าวว่าจะมีการเจรจาสมเด็จฮุนเซน นายกกัมพูชาเรื่องเขาพระวิหาร ว่า เรื่องการเจรจาขณะนี้มีกลไกอยู่ กรอบการเจรจาที่ทางสภามอบให้ ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนคณะกรรมการเข้าไปเจรจา ซึ่งยังดำเนินการอยู่ในกรอบนั้น ไม่ถึงขั้นในระดับรัฐบาลหรือ ผู้นำ
เมื่อถามว่า นายกฯ ไม่ได้เป็นคนนัดเจรจาใช่หรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวยอมรับว่า ไม่ได้เป็นคนนัดเจรจา ส่วนจุดยืนของรัฐบาลในเรื่องเขาพระวิหาร เราเคารพคำพิพากษาของศาลโลก ที่ตัดสินให้ปราสาทเป็นของกัมพูชา โดยเราขอให้ใช้คำว่า “สงวนสิทธิ์” ไว้ในบันทึกของอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ขณะเดียวกัน มีความเห็นที่แตกต่างเกี่ยวกับเรื่องเขตแดน ซึ่งมีบันทึกข้อตกลงในปี 2543 มีกลไกที่ทำงานในเรื่องนี้ จะเจรจาต่อไป ส่วนการขึ้นทะเบียนมรดกโลก ตนเห็นว่า จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับสองประเทศ ที่จะขึ้นทะเบียนทั้งตัวปราสาทและรอบอุทยาน โดยการขึ้นทะเบียนร่วมกัน จะเป็นวิธีการที่สองประเทศกระทบกระทั่งกันน้อยที่สุดและได้ประโยชน์จาการพัฒนาพื้นที่ ยืนยันว่า นี่คือ จุดยืนตั้งแต่สมัยเป็นฝ่ายค้านและปัจจุบันยังยืนยันอย่างนั้น
กรณีเขาพระวิหารมีรัฐมนตรีหลายคนกำลังจะถูก ป.ป.ช.ชี้มูลที่กระทำผิดรัฐธรรมนูญมาตรา 190 สมัยร่วมรัฐบาล นายสมัคร สุนทรเวช นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า จุดยืนตนเหมือนเดิม ตอนที่เป็นฝ่ายค้านได้ยื่นถอดถอน นายนพดล ปัทมะ รมว.ต่างประเทศ ตอนนั้นยังมีการสอบถามว่าจะยื่นทั้งคณะหรือไม่ ตนพิจารณาแล้วเห็นว่ากรณีนายนพดลเข้าข่าย ส่วน รมต.อื่นไม่เข้าข่าย เนื่องจากมีคนอื่นยื่นเรื่องต่อ ป.ป.ช.ต้องขึ้นอยู่กับการตัดสินของ ป.ป.ช.กับรัฐมนตรีคนนั้นๆที่ถูกชี้มูล
เมื่อถามว่า สมัยที่พรรคประชาธิปัตย์ เป็นรัฐบาลในปี 2543 ได้เสนอกรอบเจรจาเรื่องเขตแดน โดยยึดแผนที่ของฝรั่งเศส และลงบันทึกความเข้าใจในปีดังกล่าว นายอภิสิทธิ์ ปฏิเสธว่า ไม่มี ไม่ใช่ ในเอ็มโอยู ใช้คำว่าแผนที่ที่เป็นของคณะกรรมการปักปันเขตแดนระหว่างสยามกับอินโดจีน ที่จัดตั้งขึ้นตามอนุสัญญาฉบับปี ค.ศ.1904 และ สนธิสัญญาฉบับปี ค.ศ.1907 ขณะนี้ยังเป็นประเด็นที่โต้แย้งกันอยู่ว่า แผนที่ฉบับไหนบ้างที่มีปัญหา ส่วนตัวเอ็มโอยู นั้น ไม่มีปัญหาขอให้กลับไปอ่านข้อความ ไม่ได้หมายถึงแผนที่ฉบับไหน แต่เป็นแผนที่ซึ่งเป็นผลงานของคณะกรรมการร่วม ประเด็นนี้เป็นข้อโต้แย้งตั้งแต่ขึ้นศาลโลก ศาลได้วินิจฉัยว่าไม่ใช่ผลงาน ฉะนั้นตนไม่เข้าใจว่าเหตุใด จึงไปเขียน ระบุว่าเอ็มโอยูมีแผนที่ ซึ่งเป็นที่ยอมรับใช้ในการปฏิบัติการโดยมีหมายเหตุกำกับท้ายแผนที่ชัดเจนว่า “ไม่ถือเป็นเขตแดนที่เป็นทางการ” ความคิดเห็นเหมือนเดิมทุกอย่าง
การันตีเดินหน้าประชุมอาเซียน ไม่ห่วงเสื้อแดงตามรังควาน
เมื่อถามว่า นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียน ระบุว่า 6 ประเทศคู่เจรจาอาเซียนในเวที อาเซียน+6 พร้อมจะมาร่วมการประชุมแล้ว จะรวมการประชุมในกรอบนี้เข้าในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนในช่วงวันที่ 27 ก.พ.-1 มี.ค.เลยหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า เข้าใจว่าประเทศจีนจะต้องเตรียมการประชุมพรรคคอมมิวนิสต์ช่วงเดือนมี.ค. แต่ต้องเตรียมความพร้อมตั้งแต่ครึ่งเดือนหลังของเดือน ก.พ.ส่วนที่เลขาธิการอาเซียนระบุนั้นเป็นข้อมูลใหม่
เมื่อถามย้ำว่า หาก 6 ประเทศนั้นพร้อมจะรวมมาเป็นช่วงเดียวกันหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ก็ต้องมาพิจารณากันในวันพุธที่ 14 ม.ค. เพราะไม่ยาก เป็นเพียงการเพิ่มวาระเข้าไปเป็นการประชุมอาเซียน +3 หรืออาเซียน +6 หรือคู่เจรจาอื่น
เมื่อถามอีกว่า มีกระแสข่าวว่ามีบางประเทศอาจจะถอนตัว นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ไม่มี ไม่เคยได้ยิน และย้อนถามว่าแหล่งข่าวจากที่ไหน
เมื่อถามว่า จะทำอย่างไรที่กลุ่มเสื้อแดงจะตามที่หัวหิน นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ฝ่ายดูแลเรื่องความปลอดภัยยืนยันว่าดูแลได้ เมื่อถามต่อว่าจะดูแลอย่างไร เพราะหากจะไปต้องฝ่ายเขตพระราชฐาน จะมีปัญหาหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า เขาคงมีแผนแล้ว แต่คงไม่เกี่ยวข้องกับตรงนั้น แต่ว่าผู้ดูแลมั่นใจเรื่องมาตรการความปลอดภัย