กกต.เสนอ ครม.ขอเบิกจ่ายงบเลือกตั้งซ่อมกว่า 300 ล้านบาท ขณะที่ 16 เขตเลือกตั้งซ่อมรอลุ้นศาลฎีกาชี้ขาดคุณสมบัติผู้สมัครเลือกตั้งพรรคชาติไทยพัฒนาที่อุทัยธานี
วันนี้ (6 ม.ค.) นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวก่อนประชุมคณะรัฐมนตรีถึงการเสนอ ครม.พิจารณาเบิกจ่ายงบประมาณเลือกตั้งซ่อม ส.ส.ว่า กกต.ได้เสนอ ครม.เบิกจ่ายงบประมาณเลือกตั้งซ่อม 342,670,021.49 บาท และจะมีงบที่ได้ทดลองจ่ายไปแล้วในการสำรองการเลือกตั้งเป็นกรณีของการเลือกตั้งซ่อม 2 เขตเลือกตั้งที่เกิดจาก ส.ส.ลาออกเนื่องจากปัญหาเรื่องสุขภาพ และที่ศาลฎีกามีคำสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ ซึ่งจะอยู่ในส่วน 34,283,987 บาท
ส่วนกรณีที่มีข่าวว่าคุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกตั้งซ่อมที่พบว่าคุณสมบัติมีปัญหาอยู่ประมาณ 16 คนนั้น นายสุทธิพล กล่าวว่า ต้องเรียนก่อนว่าดุลพินิจในการประกาศรับสมัครผู้ที่มีสิทธิสมัครเป็น ส.ส.เป็นดุลพินิจของผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขต ซึ่งเป็นไปตามกฎหมาย และตามที่ ผอ.กกต.ประจำเขตใช้ดุลพินิจประกาศไปแล้วพบว่า ไม่ได้ประกาศชื่อ 3 รายเท่านั้น ซึ่งในเรื่องนี้กฎหมายได้บัญญัติการเยียวยาไว้โดยให้สิทธิของผู้ที่ไม่ได้รับประกาศรายชื่อสามารถที่จะยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาก็ทราบว่า ผู้ที่ไม่ได้รับการประกาศให้มีรายชื่ออยู่ก็ได้ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกา เท่าที่ทราบมี 2 ราย และเมื่อวันที่ 5 ม.ค.มีการนัดเพื่อให้ศาลได้มีการไต่สวนในกรณีของผู้สมัครพรรคชาติไทยพัฒนาที่ จ.อุทัยธานี เข้าใจว่าศาลจะนัดฟังคำสั่งวันนี้ (6 ม.ค.) ก็ต้องรอฟังคำตัดสินของศาล ซึ่งจะเป็นหลักในการดำเนินการต่อไป
นายสุทธิพล กล่าวต่อว่า เรื่องของคุณสมบัติต้องขอเรียนว่าเป็นดุลพินิจของผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขต ปัญหาที่ จ.อุทัยธานี ก็จะเป็นปัญหาคล้ายๆ ที่อื่น แต่เนื่องจากการใช้ดุลพินิจ ซึ่งดุลของผู้อำนวยการประจำเขตเลือกตั้งส่วนใหญ่ได้พิจารณาแล้วและประกาศชื่อ เท่าที่ทราบพรรคการเมืองที่เกี่ยวข้องเขายืนยันมาก็ได้มีการประกาศชื่อไป แต่เนื่องจากที่อุทัยธานีเป็นดุลพินิจของผู้อำนวยการเขตเลือกตั้งซึ่งเป็นคนละคนกัน ทางนั้นใช้ดุลพินิจไม่ประกาศใช้ กฎหมายก็ได้เปิดช่องให้ผู้ที่ไม่ได้รับการประกาศชื่อสามารถที่จะยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาก็ต้องรอฟังว่าศาลฎีกาจะมีคำวินิจฉัยอย่างไร
เลขาฯ กกต.กล่าวต่อว่า ในส่วนของผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขต ตามกฎหมายถือว่าเป็นดุลพินิจของผู้อำนวยการฯ เนื่องจากว่าในส่วนนั้นผู้ที่ได้รับการพิจารณาเราประกาศชื่อไปก็ไม่ได้ไปร้องต่อศาลฎีกา มีแค่ที่อุทัยธานีที่ใช้ดุลพินิจแล้วไม่มีการประกาศชื่อ เมื่อได้รับผลกระทบก็ไปร้องขอความเป็นธรรมต่อศาลฎีกาว่า ในดุลพินิจตรงนี้ศาลฎีกาจะใช้ดุลพินิจมีคำตัดสินอย่างไร เมื่อตามกฎหมายเป็นดุลพินิจของผู้อำนวยการประจำเขต เมื่อเขาใช้ดุลพินิจตรงนี้ก็ต้องเคารพในดุลพินิจของเขา ในส่วนที่จังหวัดอุทัยธานีก็ต้องรอดูศาลใช้ดุลพินิจอย่างไร หากเห็นว่าเป็นผู้มีคุณสมบัติสังกัดพรรคครบ 90 วันก็ไม่มีปัญหา ก็แจ้งไปยังผู้อำนวยการประจำเขตเลือกตั้ง ก็จะต้องทำตามคำสั่งของศาล หากออกมาอีกทางเป็นเรื่องที่ผู้อำนวยการเลือกตั้งประจำเขตอื่นที่ได้ประกาศชื่อไปแล้วกรณีคล้ายๆ กัน ก็ต้องมาพิจารณาสืบสวนสอบสวนหากเป็นประเด็นข้อเท็จจริงคล้ายๆ กัน กระบวนการสืบสวนสอบสวนกฎหมายก็เปิดช่องให้ผอ.กกต.ประจำเขตยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาขอให้เพิกถอนที่ได้ประกาศไปแล้ว ที่อุทัยธานีก็เป็นบรรทัดฐานขอให้รอฟังศาลฎีกา