ASTV ผู้จัดการออนไลน์ - สภามหาวิทยาลัยรังสิต มีมติเอกฉันท์มอบปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ให้ ผู้ทรงคุณวุฒิ 12 ท่าน อดีต คตส.-เรืองไกร-วีระ ชี้เป็นพลเมืองผู้หาญกล้าตรวจสอบอำนาจรัฐเพื่อรักษาผลประโยชน์ของชาติ และเปลี่ยนแปลงสังคม “วีระ” ภูมิใจ เชื่อจะเป็นกำลังใจและแรงบันดาลใจให้คนที่ทำเพื่อสังคม
วันอาทิตย์ที่ 14 ธ.ค.นี้ มหาวิทยาลัยรังสิตจะจัดพิธีประสาทปริญญาบัตร ประจำปี 2551 ณ อาคารนันทนาการ โดยปีนี้กรรมการสภามหาวิทยาลัยรังสิตได้มีมติมอบปริญญาศิลปศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ และศิลปศาสตรมหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาผู้นำทางสังคม ธุรกิจและการเมืองแก่ผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 14 คน ในฐานะเป็นพลเมืองผู้กล้าหาญที่จะตรวจสอบอำนาจรัฐเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นให้แก่สังคม
“14 พลเมืองผู้กล้าหาญที่ตรวจสอบอำนาจรัฐ ต่อสู้ท่ามกลางปัญหาอุปสรรคนานัปการ แต่ด้วยอุดมการณ์ที่หนักแน่นในอันที่จะรักษาไว้ซึ่งผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนภายใต้กระบวนการตรวจสอบให้เกิดความยุติธรรมแก่ทุกฝ่าย พลเมืองผู้ยึดมั่นในความซื่อสัตย์สุจริตในการทำหน้าที่ของตนเอง สร้างบรรทัดฐานแห่งจริยธรรมและบรรทัดฐานแห่งความรับผิดชอบให้เกิดขึ้นในชาติ สามารถนำเสนอข้อเท็จจริงให้แก่สาธารณะจนเป็นที่ยอมรับและสร้างผลเปลี่ยนแปลงทางสังคมได้” ม.รังสิต ระบุ
ทั้งนี้ ผู้ทรงคุณวุฒิที่ได้รับการประสาทศิลปะศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จำนวน 12 คน ประกอบไปด้วย อดีตคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) จำนวน 10 คนประกอบไปด้วย นายนาม ยิ้มแย้ม ศ.วิโรจน์ เลาหะพันธุ์ นายอุดม เฟื่องฟุ้ง นายอำนวย ธันธรา นายกล้านรงค์ จันทิก นายสัก กอแสงเรือง คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ศ.ดร.เสาวนีย์ อัศวโรจน์ นายแก้วสรร อติโพธิ และ รศ.ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ
ส่วนผู้ทรงคุณวุฒิอีก 2 คน คือ นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกวุฒิสภา และ นายวีระ สมความคิด เลขาธิการเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชัน (คปต.) ผู้มีบทบาทในการตรวจสอบนักการเมืองและผู้ใช้อำนาจรัฐอีก โดยนายเรืองไกร ถือว่าเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการตรวจสอบคุณสมบัติของนายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรี รับเงินค่าจ้างจากภาคเอกชนในการจัดรายการชิมไปบ่นไป จนทำให้ถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสินว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ
ขณะที่นายวีระนั้นถือเป็นผู้ที่มีบทบาทในการตรวจสอบนักการเมืองและการใช้อำนาจรัฐของนักการเมืองมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน โดยกรณีล่าสุดนั้นการตรวจสอบของนายวีระถือว่าเป็นกุญแจสำคัญอย่างยิ่งที่ทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตัดสินจำคุก 2 ปี เมื่อวันที่ 21 ต.ค.2551 จากกรณีทำผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กรณีซื้อที่ดินรัชดาภิเษก
ด้าน นายวีระ กล่าวว่า ตนรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่สภามหาวิทยาลัยรังสิตมอบปริญญาศิลปศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาผู้นำทางสังคมให้แก่ตนในครั้งนี้ และถือเป็นกำลังใจให้แก่ผู้ที่ทำงานเพื่อสังคม
“ปีนี้เหมือนกับเป็นเป็นการเน้นที่จะมอบให้กันคนที่มีความกล้าหาญที่จะต่อสู้เพื่อความถูกต้อง ซึ่งตรงกับสาขาที่เขาให้ด้วย ถ้าจะถามว่ามหาวิทยาลัยอื่น ทำไมไม่กล้าให้ เขาก็คงมองว่าเป็นเรื่องการเมือง อีกอย่างคือถ้าเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐก็คงไม่กล้าพอ และอาจถูกเป็นการมองว่าเป็นการเลือกข้างทางการเมือง” นายวีระกล่าว
พร้อมระบุว่า ที่ผ่านมาตนก็ไม่ได้หวังว่าจะต้องได้ปริญญาหรือได้รับการเชิดชูอะไร เพราะคิดว่าสิ่งที่ตนทำเป็นประโยชน์กับสังคมส่วนรวมมากกว่า อย่างไรก็ตาม มติเอกฉันท์ของสภามหาวิทยาลัยรังสิตในการมอบดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ดังกล่าว ตนเชื่อว่าจะเป็นแรงบันดาลใจ กำลังให้กับ คนที่ทำงานเพื่อบ้านเมือง และคนอื่นๆ
“ผมคิดว่ามหาวิทยาลัยรังสิตเขามองไกลมาก ปริญญาอันนี้เหมือนเป็นเครื่องยืนยันว่าเราไม่ได้คิดเองคนเดียว เพราะกรรมการสภามหาวิทยาลัยก็เป็นผู้ทรงคุณวุฒิทั้งสิ้น นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยรังสิตก็ให้โอกาสคนส่วนน้อยมาตลอด ที่สำคัญดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ของมหาวิทยาลัยรังสิตไม่เคยมอบดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ให้เศรษฐีที่บริจาคเงินให้มหาวิทยาลัย หรือ ผู้มีอุปการคุณแก่มหาวิทยาลัยเลย แต่เขามอบให้คนที่ทำคุณประโยชน์ให้กับสังคมจริง” เลขาฯ คปต.กล่าว
นอกจากนี้ สภามหาวิทยาลัยรังสิตยังมีมติมอบปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาผู้นำทางสังคม ธุรกิจ และการเมือง แก่ นายเฉลา ทิมทอง นางดาวัลย์ จันทรหัสดี อีกด้วย
อนึ่ง ในพิธีประสาทปริญญาบัตร ประจำปี 2550 ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2550 สภามหาวิทยาลัยรังสิตได้เคยมอบปริญญาศิลปศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ให้แก่ หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล (สาขาวิชาการภาพยนตร์และวิดีทัศน์) หม่อมหลวงไกรฤกษ์ เกษมสันต์ รองประธานศาลฎีกา และตุลาการรัฐธรรมนูญ และนายสนธิ ลิ้มทองกุล (สาขาวิชาผู้นำทางสังคม ธุรกิจ การเมือง) มาแล้วเช่นกัน